ระยอง - นักวิชาการชี้พบสารก่อมะเร็งในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง สูงเกินค่ามาตรฐาน อันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ จ.ระยอง ได้ถูกศาลปกครองวินิจฉัยให้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ วุฒิสภา เสนอขอให้จัดการแก้ไขปัญหาไอระเหยสารอินทรีย์ที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดโดยด่วน ซึ่งในวันที่ 26 มกราคม 2566 คณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติ โดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ และ ผศ.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ ได้จัดสัมมนาที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. ในหัวข้อ “การจัดการสารอินทรีย์ (VOCs) ในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง” เมื่อเร็วๆ นี้
โดยนายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า พื้นที่ในตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ได้ถูกศาลปกครองวินิจฉัยให้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกับแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ให้ยกเลิกเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ภายในปี 2564-2565
ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกในจังหวัดระยอง ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านมาตลอด จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่าในปี 2542 มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ประมาณ 65 แห่ง และในปี 2552 ที่มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษ มีโรงงานเพิ่มเป็น 130 แห่ง แต่ในปี 2565 มีโรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 161 แห่ง ซึ่งโรงงานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นโรงงานประเภทโรงงานปิโตรเคมี โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงผลิตไฟฟ้าถ่านหิน และโรงงานผลิตพลาสติก เป็นต้น และยังพบด้วยว่าโดยรอบพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมในตำบลมาบตาพุด มีค่าสารเบนซิน สาร 1, 2 Dichloroethane และสาร 1, 3 Butadiene เกินค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีมาโดยตลอด ได้แก่ ชุมชนบ้านพลง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาบตาพุด วัดหนองแฟบ ชุมชนมืองใหม่มาบตาพุด ศูนย์บริการสาธารณสุขตากวน เป็นต้น
โดยเฉพาะชุมชนบ้านพลง ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มีจุดตรวจวัดค่า VOCs ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากรถยนต์ และมีทิศทางลมที่พัดจากนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอลเข้าสู่ชุมชน 4 เดือนในช่วงฤดูหนาว และทิศทางลมพัดจากนิคมมาบตาพุดเข้าสู่ชุมชน 8 เดือน ผลตรวจของกรมควบคุมมลพิษมีค่าสารเบนซีนเฉลี่ย 1 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2558 มีค่า 4.5-6.5 มค.ก.ต่อ ลบ.ม.มาตลอด และในปี 2564 มีค่าที่สูงขึ้นถึง 5.8 มค.ก.ต่อ ลบ.ม. ซึ่งเกินค่ามาตรฐานกำหนดไว้ไม่เกิน 1.7 มค.ก.ต่อ ลบ.ม.
ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เนื่องจากองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ หรือ IARC กำหนดให้สารเบนซีนเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 คือเป็นสารที่ทำให้เกิดมะเร็งหากได้รับไปนานๆ นอกจากนี้ พื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาบตาพุดได้รับสารที่มีค่าเกินมาตรฐานถึง 3 ชนิดพร้อมกันคือ ทั้งสารเบนซีน สาร 1, 2 Dichloroethane และสาร 1, 3 Butadiene ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดหลังนี้เป็นสารที่ IARC กำหนดว่าเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์
ขณะที่ข้อมูลงานวิจัยอุบัติการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยในช่วงปี 2557-2560 กล่าวว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดมะเร็งในผู้ชาย 156.7 คนต่อประชากรแสนคน และอัตราการเกิดมะเร็งในผู้หญิง 138.2 คนต่อประชากรแสนคน แต่ในจังหวัดระยองมีอัตราการเกิดมะเร็งสูงกว่ามากคือ อัตราเกิดมะเร็งในผู้ชายถึง 210.1 คนต่อประชากรแสนคน และในผู้หญิงอัตรา 177.2 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่ง อ.สนธิ คชวัฒน์ มีข้อเสนอแนะในการจัดการสารอินทรีย์ระเหยง่ายในพื้นที่มาบตาพุดคือ
1.กระทรวงอุตสาหกรรมควรเป็นเจ้าภาพและแต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมโรงงาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคประชาชนในพื้นที่ส่งผู้เชี่ยวชาญไปกำกับติดตามตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะ โดยต้องเอกซเรย์ทุกแหล่งกำเนิดมลพิษที่อาจก่อให้เกิดสาร VOCs ของโรงงาน รวมทั้งโรงงานต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และต้องเผยแพร่ผลการทำงานให้ประชาชนทราบ ซึ่งภายใน 1 ปี ต้องลดค่า VOCs ในพื้นที่
2.กรมควบคุมโรค และกรมอนามัยตรวจสุขภาพและทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่มีสาร VOCs รายปีเกินค่ามาตรฐาน 3.ภาครัฐควรออกข้อกำหนดให้มีการตรวจวัดสาร VOCs ในบรรยากาศริมรั้วของโรงงานที่มีการปล่อยสารอินทรีย์ หรือ Fence line Monitoring และออกกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือ PRTR เผยแพร่ต่อสาธารณชน
4.ระยะยาวให้โรงงานที่ปล่อยมลพิษสูงและมีหอเผาไหม้ต้องจัดทำ Enclosed Ground Flare ซึ่งเป็นระบบปล่อย Flare ในระบบปิดเพื่อป้องกันสารไฮโดรคาร์บอนที่เผาไหม้ไม่หมด หรือสาร VOCs ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบ 5.ยังไม่ควรยกเลิกเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง เนื่องจากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหารสารก่อมะเร็งในพื้นที่ที่เกินค่ามาตรฐาน แต่ควรควบคุมการปล่อยจากแหล่งกำเนิดและเร่งดำเนินแก้ไขปัญหาดังกล่าวก่อน