xs
xsm
sm
md
lg

ชงวาระชาติขยายเกณฑ์สูงวัย 70 ปี "อนุทิน" ประกาศปี 66 มอบของขวัญปีใหม่แว่นตา 5 แสนชิ้น ผ้าอ้อม 5 ล้านชิ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุทิน" ประกาศปี 2566 เป็นปี "สุขภาพสูงวัยไทย" มอบของขวัญปีใหม่ ทั้งคัดกรองสุขภาพ แว่นสายตา 5 แสนชิ้น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 5 ล้านชิ้น ฟันเทียมและรากฟันเทียม 39,500 ราย ส่ง อสม.และเจ้าหน้าใช้ Blue Book คัดกรองความถดถอย 9 ด้าน เล็งชงเป็นวาระชาติพิจารณาขยาย "ผู้สูงอายุ" เป็น 70 ปี เหตุช่วงอายุ 60 ปียังแข็งแรง ดำรงชีวิตพึ่งพาตนเองได้

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวประกาศนโยบายของขวัญปีใหม่ สธ. 2566 ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย

นายอนุทินกล่าวว่า ปี 2566 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ สธ.จึงประกาศให้เป็นปีแห่ง “สุขภาพสูงวัยไทย” เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง มอบแพคเกจบริการและวัสดุอุปกรณ์เพื่อการดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ เป็นของขวัญปีใหม่ตลอดปี 2566 ประกอบด้วย คัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ จัดบริการคลินิกผู้สูงอายุใน รพ.ทุกระดับ มอบวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ได้แก่ แว่นสายตา 5 แสนชิ้น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 5 ล้านชิ้นดูแลผู้ป่วยติดเตียง ฟันเทียมและรากฟันเทียม 36,000 ราย ซึ่งผ่านการเห็นชอบของบอร์ด สปสช.แล้ว มีหน่วยบริการและเจ้าหน้าที่สังกัด สธ.ดำเนินการส่งมอบของขวัญแก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมอบกรมสุขภาพจิตดำเนินการสร้างขวัญกำลังใจผู้สุงอายุ ซึ่งปัจจุบันสภาพสังคมและครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งพาตนเองได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีคนมาดูแลแทนลูกหลานถ้ามีความจำเป็น และให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขด้วยความสะดวกรวดเร็ว

"เราจะทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวด้วยคุณภาพ ไม่ใช่อยู่ได้เพราะยาดี หมอดี แต่ต้องให้อยู่ได้เพราะมีคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่ดี" นายอนุทินกล่าว


นายอนุทินกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 12.5 ล้านคน คิดเป็น 19% ของประชากรไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ามีการปรับช่วงอายุของผู้สูงอายุใหม่ ส่วนตัวมองว่าถ้ายืดออกไป 10 ปี เช่น จากช่วงอายุ 50-60 ปี เป็น 60-70 ปี เพราะสมัยเมื่อ 30-40 ปีก่อน ช่วงอายุ 50 ปีก็มองว่าแก่มากแล้ว แต่ปัจจุบันคนอายุ 60-70 ปียังเป็นช่วงอายุที่มีความสามารถมีความแข็งแรง มีความพร้อมที่จะดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดผลผลิตต่างๆ ได้ ตรงนี้จะเป็นย่างก้าวต่อไป ซึ่งการจะขยับขยายอายุผู้สูงอายุคงต้องเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เรื่องของ สธ.อย่างเดียว ต้องขอความร่วมมือและหารือหน่วยงานอื่นๆ ต้องได้รับความเห็นชอบต่างๆ อย่างเรื่องการเกษียณอายุทำงาน 60 ปี ก็ต้องมองในส่วนของภาคราชการและภาคเอกชนที่มีการจ้างงานด้วย แต่สิ่งที่ สธ.ทำได้ คือ วางแผนให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปยังเป็นสูงวัยแต่ใจวัยรุ่น เรามัวแต่ไปรอไม่ได้ เพราะเราห้ามคนไม่สูงวัยไม่ได้ แต่ก็ต้องทำให้คนสูงวัยยังมีความฟิตอยู่ อยู่ได้โดยไม่เป็นภาระ

"เราต้องเอาผลงานไปโชว์ให้เห็นก่อนว่า ในทางการแพทย์ ในการสาธารณสุขแล้วคนอายุ 60 ปีขึ้นไปอาจจะถึงช่วง 70 ปี เขาสามารถที่จะดำรงตนอยู่ได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่เป็นปัญหากับประเทศ ถ้าถามผมถ้าขยายช่วงออกไป 10 ปี เช่น เป็น 70 ปี ที่ก็ยังมีความแข็งแรงอยู่ ก็จะช่วยลดจำนวนผู้สูงอายุลงได้มากการบริหารจัดการต่างๆ ก็จะดีขึ้น" นายอนุทินกล่าว


นพ.โอภาส กล่าวว่า มอบ อสม.และเจ้าหน้าที่ สธ. ดำเนินการคัดกรองความถดถอย 9 ด้าน ได้แก่ การเคลื่อนไหวร่างกาย การขาดสารอาหาร การมองเห็น การได้ยิน ภาวะซึมเศร้า การกลั้นปัสสาวะ ความคิดความจำ การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และสุขภาพช่องปาก ด้วย Blue Book Application ครอบคลุมผู้สูงอายุอย่างน้อย 10 ล้านคน และส่งต่อผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเข้ารับบริการใน รพ.ทุกระดับที่มีคลินิกผู้สูงอายุรองรับให้บริการ ประเมินความจำเป็นในการใช้วัสดุอุปกรณ์และจัดหาเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ


นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.เตรียมพร้อมสิทธิประโยชน์ให้ผู้สูงอายุในปี 2566 คือ แว่นสายตา ใช้งบกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ แผ่นเสริมซึมซับขับถ่าย จะใช้กองทุนสุขภาพตำบล ส่วนฟันเทียมและรากฟันเทียม จะเพิ่มเติมบริการอีก 3,500 ราย จากเป้าหมาย 36,000 ราย นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่ต้องการดูแลสุขภาพยังมีสิทธิรักษาพยาบาลใน รพ.ทั้งแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ใน รพ.คู่สัญญากับ สปสช.ทุกแห่ง เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยักทุก 10 ปี ประเมินความสามารถทํากิจวัตรประจําวัน ตรวจเลือดคัดกรองโรคเบาหวาน คัดกรองโรคซึมเศร้า เป็นต้น รวมถึงผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ยังมีสิทธิได้รับการดูแลในชุมชนจากกองทุนการดูแลระยะยาวมีคุณภาพชีวิตที่ดี






กำลังโหลดความคิดเห็น