xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯจับมือฝ่ายเกี่ยวข้องพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ สร้างศักยภาพชุมชนเข้มแข็งรับสังคมสูงวัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ตรวจฯผนึกกำลังกรมกิจการผู้สูงอายุ-สปสช.-สสส.-กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น 55 แห่งทั่วประเทศ หลังพบปี 64 ผู้สูงอายุสูงถึง 13.3 ล. มุ่งเสริมสร้างศักยภาพชุมชนเข้มแข็ง รองรับสังคมสูงวัยครอบคลุมทุกมิติ สู่การแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม

วันนี้ (13 ธ.ค.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) ร่วมกับ กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนผู้สูงอายุตำบลและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น เพื่อบูรณาการการใช้ข้อมูลของพื้นที่สู่การแก้ปัญหาผู้สูงอายุท้องถิ่น โดยมี ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 รองผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมในครั้งนี้

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า จากสถิติ 22% ของผู้สูงอายุเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่า ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์จึงประสานความร่วมมือกับ สสส. และ ศวช. ขับเคลื่อนเตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ โดยสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่น ในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ให้เข้มแข็ง และมีศักยภาพในการจัดระบบการบริการสาธารณะ ซึ่งจากการวิเคราะห์ถอดบทเรียนการทำงานของ สสส. รวมถึงแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ และแผนปฏิบัติราชการประจำปี พบว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย จึงกำหนดแนวทางการศึกษาระบบกลไกระดับพื้นที่ 3 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับตำบล โดย อปท.ในพื้นที่และมีทุนทางสังคม มีศูนย์การเรียนรู้ หน่วยบริการสุขภาพ ศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ธนาคารเวลา และศูนย์ฝึกอบรมระบบต่างๆ 2. ระดับอำเภอ โดยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ส่งเสริม และเชื่อมประสานหน่วยงาน ช่วยสนับสนุน อปท. และเครือข่ายระดับตำบลให้สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น 3. เชื่อมประสานระดับจังหวัด เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ท้องถิ่นจังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัยให้ครอบคลุมทุกมิติ ให้เป็นต้นแบบ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนแผนและนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ เพื่อนำไปสู่การขยายผลไปยังทุกตำบลทั่วประเทศ อย่างเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในปี 2564 ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวนสูงขึ้นถึง 13.3 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรทั้งประเทศ พบปัญหาสำคัญ คือ ผู้สูงอายุ 95% มีโรคเรื้อรัง มีภาวะสมองเสื่อม ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวลำพังในครัวเรือนถึง 10.8% อยู่ลำพังกับคู่สมรส 23.3% และแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในด้านเศรษฐกิจผู้สูงอายุ 34.3% มีฐานะยากจน 34% ยังคงทำงาน 18.5% ต้องการทำงานด้วยความสมัครใจ นอกจากนี้ ในด้านสภาพแวดล้อม ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตก หกล้มปีละ 900-1,000 คน 10% เคยหกล้ม สะท้อนให้เห็นว่าจะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหา และดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจัง

“ความร่วมมือครั้งนี้แสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ กลไก และนวัตกรรม นำนโยบายการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุสู่การสร้างปฏิบัติการในพื้นที่ สอดรับกับสถานการณ์ รองรับสังคมสูงวัยในปัจจุบัน โดย สสส. สนับสนุนองค์ความรู้ ส่งเสริม และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนารูปแบบ และระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ อาทิ การพัฒนาศักยภาพชมรมผู้สูงอายุต้นแบบ ขยายผล และผลิตความรู้โรงเรียนผู้สูงอายุ ชุดข้อมูลกันลืม กันล้ม จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ เกิดพื้นที่ตัวอย่างด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่นจำนวน 55 แห่ง ทั่วประเทศ รวมถึงยกระดับเป็น “ศูนย์เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น” ตลอดจนร่วมกับ สผผ. ผส. สปสช. สถ. สังเคราะห์และถอดบทเรียน สรุปความรู้ที่ได้จากพื้นที่ทดลองตัวอย่าง เพื่อให้ได้ข้อมูลจากพื้นที่จริง พร้อมทั้งข้อเสนอแนะ เชิงนโยบายเชิงปฏิบัติที่ เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน” ดร.ประกาศิต กล่าว

นายยาการียา ซิมะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบาโงย อ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า องค์ความรู้การดูแลผู้สูงอายุ ของ สสส. สามารถต่อยอดงานและกิจกรรมได้หลากหลาย เกิดประโยชน์กับชุมชนโดยตรง สามารถจัดการ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดการสังคมที่มีทุนทางสังคม ได้แก่ 1. พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในรูปแบบ “โรงเรียนผู้สูงอายุบาโงยซือญาตี” รองรับชุมชนผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ มีสวัสดิการให้ครอบคลุมกับจำนวนผู้สูงอายุในชุมชน เกิดความเท่าเทียมและความเสมอภาคทุกระดับ ทุกกลุ่มวัย 2. เกิดภาคีเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนงานกิจกรรมชุมชน อาทิ ผู้นำท้องถิ่น หน่วยงานราชการ ผู้นำศาสนา รพ.สต. อสม. ปราชญ์ชาวบ้าน ครูจิตอาสา และชมรมสุขภาพ 12 ชมรม โดยชุมชนในตำบลบาโงยมีวิถีดั้งเดิม อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการดึงเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม ก่อให้เกิดความรักความผูกพันกับชุมชน สร้างกิจกรรมให้ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น