xs
xsm
sm
md
lg

พบ "กัญชา" การแพทย์ ช่วยลดภาวะ PTSD ใช้ระยะสั้นไม่ก่อจิตเวชใหม่ แนะ 9 ข้อเลี่ยงผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสุขภาพจิตเผยผลศึกษา "กัญชา" ทางการแพทย์ ช่วยลดภาวะ PTSD ลดอาการไบโพลาช่วงขาขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนโรคซึมเศร้า ใช้ระยะสั้นไม่ก่อโรคจิตเวชใหม่ เร่งศึกษาเพิ่มลดพฤติกรรมอารมณ์ผู้ป่วยสมองเสื่อม แนะ 9 คำแนะนำลดเสี่ยงกัญชา

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวในการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ สัปดาห์ที่ 4 ประเด็น “งานวิจัยกับการใช้กัญชาในการดูแลสุขภาพ” ว่า ในต่างประเทศมีการวิจัยโรควิตกกังวลทางสังคม ผลค่อนข้างดี และใช้ในกลุ่มโรคเครียดที่เกิดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่พบว่ากัญชามีกลไกเข้าไปลดตัวกระตุ้นในสมอง ทำให้ดีขึ้นร่วมกับการนอนและหลับฝันลดลง ส่วนการใช้กับโรคซึมเศร้ายังไม่ชัดเจน มีบางงานวิจัยระบุว่าสาร THC ไปเพิ่มภาวะการฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตามข้อมูลปัจจุบันค่อนข้างชัดว่าสารสกัดกัญชา ช่วยเรื่องนอนหลับได้ดีขึ้น แต่ระยะยาวยังมีผลข้างเคียงที่ไม่ชัดเจน จึงต้องศึกษาต่อว่าดื้อยาหรือไม่ ฤทธิ์จะยังคงอยู่หรือไม่ ส่วนใช้กลุ่มโรคไบโพลาร์ พบว่าอาการช่วงขาขึ้น mania จะดี แต่ยังมีปัญหาช่วงขาลงที่เป็น depressive

นพ.บุรินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อในกัญชาทางการแพทย์ คือ ระบบเฝ้าระวังให้มากขึ้น ไม่ต้องกลัวขนาดว่าไม่ใช้ ซึ่งกรมสุขภาพจิต มีงานวิจัยหลายตัวทั้งด้านลบและบวก ที่ตีพิมพ์แล้วคือ อาการจิตเวชที่สัมพันธ์กับผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ จากข้อมูลผู้ใช้กัญชาในรายงานระบบให้บริการกัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข 26 แห่ง ในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 6,202 ราย พบผู้ใช้ในระยะสั้นไม่เกิดอาการทางจิตเวช 96.73% ส่วนที่เจออาการจิตเวชอยู่ที่ 3.27% ที่พบมาก คือ ซึมเศร้า 2.05 %

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาความปลอดภัยและความทนต่อน้ำมันกัญชาในการรักษาอาการ BPSD (พฤติกรรมอารมณ์และจิตใจ) ของอาสาสมัครผู้ป่วยสมองเสื่อมระดับน้อย ใน รพ.ศรีธัญญา โดยอาสาสมัครได้รับน้ำมันกัญชาชนิด THC ขนาด 2.5 มิลลิกรัม 5 หยด 2 เวลา จำนวน 28 วัน พบว่า สามารถลดอาการ BPSD อาการดีขึ้น มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่งานวิจัยชิ้นนี้มีอาสาสมัครเพียง 2 ราย จึงควรเพิ่มตัวอย่างให้มากขึ้น เพื่อนำผลมาวิเคราะห์ต่อไป

นพ.บุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับคำแนะนำเพื่อลดเสี่ยงจากกัญชา 9 ข้อ คือ 1.ผู้ป่วยควรรักษาโรค หรืออาการของโรค ตามมาตรฐานทางการแพทย์ปัจจุบัน 2.ไม่ควรเริ่มใช้กัญชาในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย (แนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป) 3.ควรใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีอัตราส่วน CBD:THC สูง เพราะมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนว่า CBD ช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจาก THC 4.ไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้จากการสังเคราะห์ 5.ไม่ควรใช้แบบสูบ เพราะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ 6.ไม่ควรใช้ถี่ หรือมีความเข้มข้นสูง 7. งดการขับขี่ยานพาหนะ หรือการทำงานกับเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หลังใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา 8.ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ในกรณีผู้ป่วยมีประวัติครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช ผู้ติดยาและสารเสพติดอื่นๆ หรือหญิงตั้งครรภ์ 9.หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหลายประการด้วยกัน เช่น ผู้มีอายุน้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น