ชู "ยางเนิ้ง" พัฒนาแอปฯ LTC ดูแลสูงอายุ-ภาวะพึ่งพิง ช่วยติดตามสะดวก ค่าการใช้ชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น เชื่อมโยงแพทย์ฉุกเฉิน ช่วย Care Giver ทำงานง่าย ด้าน รพ.สต.หนองหลุม จ.ลำพูน ลุยโปรแกรม NCDx ช่วยผู้ป่วยเบาหวานและความดันสูงคุมโรคได้ดีขึ้น
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สปสช.ได้ลงพื้นที่เทศบาลตำบลยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) ของเทศบาลตำบลยางเนิ้ง ผ่านแอปพลิเคชัน LTC Smart Yangnoeng ซึ่งเป็นแอปฯ ติดตามการทำงานของผู้ดูแล (CG) รวมไปถึงถ้าผู้ป่วยหรือญาติมีปัญหาก็สามารถบันทึกลงไปในแอปฯ ได้ พบว่ามีประสิทธิภาพสูง เป็นเครื่องมือสำคัญทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น จึงอยากจะให้เทศบาลถ่ายทอดไปที่อื่นด้วย นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่ รพ.สต.หนองหลุม อ.เมือง จ.ลำพูน ในส่วนของศูนย์การเรียนรู้ NCDX Model สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สามารถควบคุมโรคได้ปานกลาง เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้การปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดบริการปฐมภูมิสู่วิถีชีวิตใหม่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดการจัดการตัวเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง
ด้านนายโชติอนันต์ แก้วกาวิล รองนายกเทศมนตรีตำบลยางเนิ้ง กล่าวว่า แอปฯ LTC Smart Yangnoeng เป็นการผสานกับแอปฯ ไลน์ ตอบสนองความต้องการประชาชนได้รวดเร็วในการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ให้ข้อมูลบริการระบบสุขภาพ ติดตามข้อมูลสุขภาพของตนเองได้เบื้องต้น เชื่อมบริการการแพทย์ฉุกเฉินผ่าน Google Map และติดตามผลการช่วยเหลือต่างๆ ของเทศบาลได้ผ่านการแจ้งเตือนไลน์ มีการจัดเก็บฐานข้อมูลบนคลาวด์ที่ปลอดภัยสูง หลังจากนำแอปฯ มาใช้ ทำให้ผู้มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลครอบคลุมครบถ้วนตาม Care Plan 100% มีคะแนนการวัดความสามารถการดำเนินชีวิตประจำวันดีขึ้นและป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี
ส.อ.สุทัศน์ มูลรังสี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลยางเนิ้ง ในฐานะผู้ดูแลระบบแอปฯ LTC Smart Yangnoeng กล่าวว่า พัฒนาแอปฯ ขึ้นมาเนื่องจากพบปัญหาความลำบากในการปฏิบัติงานของผู้ดูแล (CG) และผู้จัดระบบการดูแล (CM) เพื่อตอบสนองให้ Care Plan (แผนการดูแลสุขภาพรายบุคคล) ที่เขียนโดยผู้จัดระบบการดูแลสามารถไปสู่เป้าหมายตามที่ได้ตั้งเอาไว้ เช่น ผู้ป่วยต้องมีค่า ADL ดีขึ้น ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น โดยพัฒนาขึ้นมา 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ให้ผู้ป่วยและญาตินำไปใช้ ผ่านการเชื่อมต่อไลน์ (Line OA) ทำให้เห็นกิจกรรมที่ผู้ดูแลลงไปดูแลว่าเกิดขึ้นจริง และสร้างความมั่นใจในการสร้างหลักประกันสุขภาพ ส่วนที่ 2 อำนวยความสะดวกการบันทึกงานของผู้ดูแล ทำให้การส่งงานไม่ยุ่งยาก ต่างกับอดีตที่จะต้องส่งเป็นกระดาษ บางครั้งมีข้อมูลผิดพลาด และเชื่อมโยงข้อมูลไม่ต่อเนื่อง
พญ.กรรณิกา วินาพา แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ประจำ รพ.สต.หนองหลุม กล่าวว่า สำหรับโปรแกรม NCDx เป็นหนึ่งในโปรแกรมเพิ่มความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ (Health Literacy) ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยให้สามารถปรับพฤติกรรมได้อย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นภายหลังการดำเนินโครงการการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดบริการปฐมภูมิสู่วิถีชีวิตใหม่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดการจัดการตัวเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ที่ได้รับการสนับสนุนด้านความรู้จากสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.)
โปรแกรม NCDx จะใช้กับผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มสีเหลือง หรือกลุ่มที่ควบคุมโรคปานกลาง ได้เข้ามาร่วมปรับพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเอาไว้ เช่น ลดน้ำหนักตัว เพิ่มการเคลื่อนไหว ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มสีเขียวซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถควบคุมโรคได้ดี ไม่กลายเป็นกลุ่มสีแดงหรือกลุ่มที่ควบคุมโรคไม่ดี