บอร์ด สปสช.เห็นชอบจัดสรรงบบัตรทองปี 66 รวม 1.37 แสนล้านบาท เพื่อลดผลกระทบ รพ. แต่ยังชะลองบส่งเสริมป้องกันโรค 5.1 พันล้านบาท ให้รอตีความปมครอบคลุมสิทธิข้าราชการ-ประกันสังคมก่อน จาก ครม.และกฤษฎีกาก่อน ยันทุก รพ.ยังจัดบริการตามปกติ ไม่ให้มีช่องว่างเกิดขึ้น
ความคืบหน้ากรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ยังไม่มีการลงนามในร่างหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ปีงบประมาณ 2566 เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) ที่ให้ครอบคลุมสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม อาจไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ทำให้ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า วันนี้ที่ประชุมบอร์ด สปสช. มีความเห็นเป็นฉันทามติว่า เรามุ่งหวังให้ประชาชนทุกคน ทุกสิทธิ สามารถได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น โดยไม่มีอุปสรรคทางการเงิน และทุกฝ่ายจะดำเนินการร่วมกันให้บรรลุตามเป้าหมายโดยไม่ขัดกับกฎหมาย และเห็นด้วยที่ให้มีการทำความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ครอบคลุมประชากรในส่วนใดบ้าง ตามมาตรา 5, 9, 10 และ 66
ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบหน่วยบริการ เนื่องจากยังไม่มีการจัดสรรงบบัตรทองปี 2566 บอร์ด สปสช. มีฉันทามติประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนบัตรทองปี 2566 ตามที่เลขาธิการ สปสช. เสนอจากการหารือกับ สธ. โดยในหลักการให้เร่งจัดสรรงบส่วนใหญ่ 1.37 แสนล้านบาท เช่น งบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ให้กับหน่วยบริการต่างๆ ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับการดูแลประชาชน และชะลอการจัดสรรงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคบางส่วน วงเงิน 5,146.05 ล้านบาท โดยให้รอคำตอบที่ชัดเจนจากคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการพิจารณาตามที่ สธ.ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างรอคำตอบหน่วยบริการของ สธ.จะจัดบริการให้ครอบคลุมประชาชนทุกคนที่อยู่ในความรับผิดชอบ และ สปสช.จะดำเนินการให้หน่วยบริการอื่นนอกสังกัด สธ.ดำเนินการเช่นเดียวกัน เพื่อให้ไม่ให้มีช่องว่างในการบริการประชาชน