กรรมการ สปสช.ตอก "หมอเอกภพ" ส.ส.พรรคก้าวไกล ไม่ทำการบ้าน หลังตั้งข้อสงสัยปมงบส่งเสริมสุขภาพบัตรทอง ชี้ไม่ได้เพิ่มจาก 400 ล้านเป็น 2 หมื่นล้าน แถมสภาผ่านงบมาเอง เอกสารเขียนชัดสำหรับคน 66 ล้านคน จี้ "อนุทิน" ลงนาม หวั่น รพ.กระทบหนัก บริการแล้วแต่เบิกไม่ได้
จากกรณี นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตเรื่องการเสนอของบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) ในระบบบัตรทอง เพิ่มขึ้นจาก 400 กว่าล้านบาทในปี 2564 เป็น 2 หมื่นกว่าล้านในปี 2566 และยังครอบคลุมสิทธิอื่น ขัดต่อมาตรา 9 , 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชน เปิดเผยว่า ตนได้เข้าร่วมชี้แจงข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งการจัดทำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ผ่านการพิจารณาจากสภาแล้ว ยิ่ง นพ.เอกภพ เป็น ส.ส. และเป็น กมธ.ด้วย ก็ควรต้องทำการบ้าน เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ผ่านงบนี้มาเอง อย่างประเด็นเรื่องงบ PP ตัวเลข 400 กว่าบาท เป็นตัวเลขต่อประชากร เมื่อคูณด้วยประชากร 66 ล้านคน เฉลี่ยอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท ไม่ใช่หลักหมื่นล้านตามที่เข้าใจ ส่วนตัวเลข 20,000 ล้านบาทเป็นวงเงินรวม รวมงบกองทุน Long Term Care งบจัดบริการเกี่ยวกับ HIV และงบอื่นๆ ไว้แล้ว
ส่วนที่ให้งบ PP ครอบคลุมถึงสิทธิอื่น เพราะถือหลักตามมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ระบุว่าคนทุกคนมีสิทธิได้รับการดูแลสุขภาพจากระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะฉะนั้นเมื่อประกันสังคมกับข้าราชการได้สิทธิรักษาพยาบาลแล้ว ก็มาใช้บัตรทองไม่ได้ แต่ถ้ารายการไหนไม่มีเหมือนที่ระบบหลักประกันสุขภาพจ่ายให้ ก็มาใช้ตรงนี้ ซึ่งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคข้าราชการไม่เคยตั้งงบให้เบิกจ่าย ขณะที่ประกันสังคมเพิ่งมาเพิ่มเรื่องนี้ระยะหลัง แต่ยังไม่ครอบคลุมเท่าบัตรทอง การดำเนินการมีการแยกว่ารายการไหนประกันสังคมจัดบริการแล้ว บัตรทองก็ไม่ต้องจัด จะได้ไม่ซ้ำซ้อน
"ตอนที่จัดทำงบ PP ก็ระบุชัดเจนว่าเป็นงบสำหรับ 66 ล้านคน และตอนที่เสนอของบก็ระบุในเอกสารชัดเจน แต่เมื่อคณะที่ปรึกษาของนายอนุทินเข้าใจว่าทำไม่ได้ นายอนุทินในฐานะประธานบอร์ด สปสช.จึงไม่ลงนามและต้องการทำหนังสือสอบถาม ครม.ให้มอบหมาย สปสช. ดำเนินการก่อน ดังนั้น ขณะนี้ก็คงต้องรอ ครม.มอบหมายมา ก็จะดำเนินการได้ตามมาตรา 18 (14) แต่ไม่มีใครทราบว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด" นายนิมิตร์กล่าว
นายนิมิตร์กล่าวว่า ผลกระทบที่จะตามมาจากการที่ไม่ยอมลงนามประกาศฉบับนี้ คือ เงินจากกองทุนหลักประกันฯ ที่จัดทำแผนงบประมาณไว้ จะไม่สามารถโอนไปให้หน่วยบริการได้ ดังนั้นหน่วยบริการในระบบหลักผระกันฯ ทุกประเภททุกสังกัดจะได้รับผลกระทบก่อน เพราะต้องเปิดบริการทุกวัน เมื่อมีผู้ป่วยมารับบริการก็ต้องให้บริการรักษาไปก่อน แต่ก็ไม่สามารถเบิกเงินได้ หากหน่วยไหนพอมีเงินเหลือก็อาจกระทบไม่มาก เรื่องยาอาจมียาเหลือในสต๊อก หรือมีเงินบำรุงเหลือพอจัดซื้อยาได้ แต่หน่วยบริการในสังกัดอื่นที่ไม่ได้มีเงินเยอะจะเริ่มมีปัญหา การรอคำตอบจาก ครม.ใช้เวลานานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้ สธ.คงต้องดูว่าตัวเองจะเอาอย่างไร เพราะถ้ายังไม่ลงนาม ความเดือนร้อนก็ไปตกอยู่กับหน่วยบริการ
นายนิมิตร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่มีการเสนอขึ้นมา คือ ปรับปรุงประกาศให้สิทธิ PP แยกเฉพาะ 48 ล้านคนในบัตรทอง ส่วนประกันสังคมและข้าราชการยังไม่ต้องใช้สิทธินี้ ซึ่งแนวทางนี้บอร์ด สปสช. ไม่เห็นด้วย เพราะจะเกิดความเหลื่อมล้ำ คน 2 กลุ่มนี้รวมกันกว่า 10 ล้านคนก็จะไม่สามารถรับบริการได้ อาจต้องรอความชัดเจนหรือจ่ายเงินเอง เช่น ลูกของข้าราชการที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนก็ต้องจ่ายเงินเอง รวมทั้งการส่งเสริมป้องกันโรคอื่นๆ เช่น การป้องกัน HIV วัคซีนตับอักเสบซี การคัดกรองมะเร็ง คัดกรองเบาหวาน-ความดัน ก็ต้องรอไปก่อนหรือไม่ก็จ่ายเงินเอง ยังไม่รวมเรื่องเงินส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ เช่น Long Term Care งบกองทุน กปท. ถ้าไม่ลงนาม เงินก็โอนเข้ากองทุนไม่ได้ แต่ถ้าแก้ไขให้ได้เฉพาะสิทธิบัตรทอง โครงการแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่เป็นนโยบายของนายอนุทินก็จะแจกได้แค่สิทธิบัตรทอง
“ถ้าเลือกแนวทางนี้จะเกิดความเหลื่อมล้ำ ถ้าประสงค์จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำวุ่นวายแบบนั้นก็เอา ซึ่งนายอนุทินก็ต้องพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน ส่วนบอร์ด สปสช. ทั้งหมดมีความเห็นร่วมกันแล้วว่า ควรลงนามให้ประกาศมีผลบังคับใช้โดยเร็ว” นายนิมิตร์ กล่าว