"อนุทิน" ยังไม่เซ็นหลักเกณฑ์งบบัตรทองปี 66 ปมงบส่งเสริมป้องกันโรคดูแลทุกสิทธิ แม้มติบอร์ดออกมาแล้ว แต่ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ยันไม่ล่าช้า จะเอาถูกใจแต่ไม่ถูกต้องไม่ได้ เผยให้ สปสช.กลับไปทำรายละเอียดใหม่ อาจต้องเข้า ครม.มอบหมายปฏิบัติให้ถูกต้อง ลั่น "ชมรมแพทย์ชนบท" ไม่ต้องกังวลแทน ด้านปลัด สธ.แจงยังไม่กระทบ รพ. เหตุมีเงินบำรุง
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทแสดงความห่วงใยที่ยังไม่มีการลงนามในหลักเกณฑ์งบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปีงบ 2566 ว่า เรื่องนี้ชมรมแพทย์ชนบทไม่ต้องเป็นกังวล ให้ความกังวลเป็นหน้าที่ของเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และปลัด สธ. ถึงอย่างไร สธ.ก็ไม่ให้มีช่องว่างและยังต้องดูแลประชาชน การที่ยังไม่ได้ลงนามไม่ถือว่าล่าช้าเกินไป ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย แม้ว่าเรื่องนั้นจะฟังดูดี แต่หากไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายระบุไว้ก็ยังทำอะไรไมได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ชมรมแพทย์ชนบทที่จะมาเสนออะไรทั้งสิ้น ชมรมแพทย์ชนบทเป็นข้าราชการในสังกัด สธ. อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของปลัด สธ. ก็ต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยการเป็นข้าราชการ
เมื่อถามว่าข้อติดขัดที่ยังทำให้ไม่สามารถลงนามได้ นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนที่มีปัญหาก็เกี่ยวกับเรื่องของ PP หรือ งบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ตรงนี้เป็นส่วนที่ สปสช. เสนอมา ซึ่งฝ่ายกฎหมายตรวจสอบดูว่ายังมีความขัดแย้งกับข้อกฎหมายอยู่ จึงส่งกลับไปให้ สปสช. ทำรายละเอียดเสนอกลับเข้ามาใหม่ เพราะต้องมีการแก้ไขจากต้นเรื่อง เราต้องทำทุกอย่างตามข้อกฎหมาย ไม่ถูกกฎหมายไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาในภายหลัง แต่ส่วนไหนที่ไม่มีปัญหาเราก็ให้ดำเนินการไปก่อน ส่วนไหนที่มีปัญหาก็ต้องตรวจสอบกับฝ่ายกฎหมาย ซึ่งยอาจจะต้องถึงขั้นนำเสนอต่อ ครม.มอบหมายให้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมาย
“ส่วนงบบัตรทองส่วนการรักษาไม่มีปัญหา แต่ไม่ว่าจะเป็นงยส่วนใดแม้ว่าจะยังไม่เซ็น รพ.ในสังกัด สธ.ยังให้การดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐาน เรื่องนี้จะเอาถูกใจไม่ได้ ต้องเอาถูกต้อง สิ่งที่เขาเสนอมานั้นถือว่าถูกใจหมด ผมก็เห็นด้วย แต่ขั้นตอนทางกฎหมายังไม่เปิดขนาดนั้น ก็ต้องไปแก้ไข เราไม่ได้บอกว่าจะไม่ทำ เคยเสนอในที่ประชุมว่าขอให้แยก ส่วนที่ทำได้ก็ทำไปเลย สปสช. ก็บอกว่าไม่ควรแยก ถ้าไม่ควรแยกก็ต้องมาเช็กกฎหมาย ปรากฎว่าหากไม่แยกก็ไปไม่ได้ ไม่ใช่ผมไม่เซ็น แต่มันไม่ถูกต้อง” นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามว่าที่ผ่านมางบ PP ให้ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิทุกปี และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็มีการตรวจสอบ เคยมีการทักท้วงเรื่องนี้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ต้องสอบถาม สปสช. แต่เรื่องนี้มีการพูดคุย สปสช.ให้ทำรายละเอียดเสนอกลับมาใหม่ จริงๆ มีหลายช่องทาง ส่วนที่ทำได้ ทำไปก่อน แต่ถ้าไม่ได้ สปสช. ก็ต้องตั้งเรื่องเสนอเข้า ครม.อีกครั้ง ต้องดูตามขั้นตอน ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีใครมากดดันตนได้ถ้าไม่ถูกต้อง ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเตะถ่วง จะเตะถ่วงทำไม เพราะตนก็รักประชาชน มีหน้าที่ดูแลประชาชน แต่จะเอาถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง ในระบบราชการปฏิบัติไม่ได้
"หาก สปสช.ปรับปรุงเสร็จเมื่อไร พร้อมเมื่อไรก็ลงนามเมื่อนั้น รัฐมนตรีลงนามในฐานะประธานบอร์ดสปสช. แต่ต้องลงนามในข้อเสนอที่ถูกต้อง ถ้าบอกว่าบอร์ดมีมติเช่นนี้แล้วรัฐมนตรีต้องลงนามตาม แต่หากยังมีข้อขัดข้องทางกฎหมายก็ต้องแก้ไขก่อน บอกเลขาธิการ สปสช.หลายครั้งแล้ว คนที่ทำหน้าที่งานธุรการ เอกสาร หากประธานทักแล้วว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องเสนอสิ่งที่ปฏิบัติได้ขึ้นมา ไม่ใช่มาบอกว่าให้ประธานเซ็นไปเถอะ ไม่เป็นอะไร แบบนั้นไม่ได้ ประธานต้องรับผิดชอบต่อกรรมการอีก 33 คนด้วย เซ็นไปแล้วผิดกันหมด เราทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ได้" นายอนุทินกล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า ในเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณขณะนี้ไม่มีปัญหา หากได้รับมาก็เข้าเงินบำรุง ซึ่งปัจจุบัน รพ.มีเงินบำรุงเพียงพอ ไม่มีปัญหาในการดูแลประชาชน