xs
xsm
sm
md
lg

พบ “โอมิครอน BA.5” เพิ่มขึ้น คาดเป็นพันธุ์หลักทั่วโลก ยังไม่ชัดรุนแรงขึ้น เร่งพิสูจน์ตรวจเชื้อกลุ่มอาการหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์ เผย ฐานข้อมูลโลกพบโอมิครอน BA.5” เพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% คาดเป็นสายพันธุ์หลักต่อไป ส่วน BA.4 แนวโน้มลดลง ในไทยพบเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ตัว เจอสัดส่วนในคนเดินทางจากต่างประเทศมากกว่า ชี้ ความรุนแรงยังไม่ชัดเจน อาจทำให้ปอดอักเสบมากขึ้น เป็นการสันนิษฐานจากตำแหน่งกลายพันธุ์เหมือนเดลตา วอน รพ.ส่งตรวจเชื้อกลุ่มอาการหนัก พิสูจน์ทำรุนแรงขึ้นหรือไม่

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่โรงแรมริชมอนด์ แกรนด์ จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และการกลายพันธุ์ ว่า หลังโควิด-19 ระบาดมา 2 ปีกว่า เรามีสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) เหลือสายพันธุ์เดียว คือ โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกเกือบ 100% สายพันธุ์อื่นหายไปเกือบหมดแล้ว โดยโอมิครอนยังไม่มีการแตกลูกที่เปลี่ยนแปลงเป็นตัวใหม่ แต่มีการกลายพันธุ์ของลูกหลานเป็น BA. ต่างๆ ซึ่งองค์การอนามัยโลกมีข้อมูลมากขึ้นก็เห็นว่าบางตัวน่าจะจัดชั้นว่าต้องจับตาดู (LUM) ซึ่งขณะนี้มี 6 ตัว ที่เป็น VOC-LUM ได้แก่ BA.4, BA.5, BA.2.12.1, BA.2.9.1, BA.2.11 และ BA.2.13

ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ที่เหมือนกันของ BA.4 และ BA.5 คือ ตำแหน่ง L452R คล้ายกับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีการวิจัยว่า การกลายพันธุ์ตรงนี้ทำให้เซลล์ปอดเชื่อมกัน ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น ทำให้เป็นที่วิตกกังวลว่า โอมิครอนนั้นแพร่เร็ว และหากรุนแรงพอๆ กับเดลตาจะเกิดปัญหาขึ้น แต่ข้อมุลนี้ยังเป็นการทดลองในห้องแล็บและการสันนิษฐานจากตำแหน่งทางพันธุกรรม (Genetic) จึงต้องรอเวลาติดตามดูต่อไป ส่วนตำแหน่งที่ต่างกันของ BA.4 และ BA.5 ไม่ได้ส่งผลกระทบเรื่องความรุนแรง

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ข้อมูลที่ทุกประเทศช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมแล้วส่งเข้ามาในฐานข้อมูลโลก GISAID ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายพบว่า BA.5 มีทั้งหมด 31,577 ตัวอย่าง ใน 62 ประเทศ น่าจับตาใกล้ชิดมากกว่า เพราะมีการเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% ส่วน BA.4 พบ 14,655 ตัวอย่าง แนวโน้มลดลงจาก 16% ลดเหลือ 9% ขณะที่ BA.2.12.1 ก็ลดลงเช่นกันจาก 31% เหลือ 17% เป็นธรรมชาติของสายพันธุ์ที่แพร่เร็วกว่าจะเบียดตัวที่แพร่ช้ากว่า ซึ่งอีกไม่นาน BA.5 น่าจะเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดทั่วโลกรวมถึงไทย


ส่วนการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรามีการตรวจแบบเร็ว ซึ่งจะยังแยก BA.4 และ BA.5 ไม่ได้ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 18-22 มิ.ย. ตรวจ 400 กว่าราย พบ BA.4/BA.5 181 ราย โดยกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศพบสัดส่วนเป็น BA.4/BA.5 มากกว่า 72% ส่วนการตรวจในประเทศสัดส่วน BA.4/BA.5 พบประมาณ 40% สำหรับการตรวจโดยถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวและส่งข้อมูลไป GISAID แล้ว พบว่า BA.4 และ BA.5 รวม 81 ตัวอย่าง แบ่งเป็น BA.4 จำนวน 32 ตัวอย่าง และ BA.5 จำนวน 49 ตัวอย่าง ถามว่าไทยเรามีเท่าไร น่าจะมีประมาณ 200 กว่าตัวอย่าง เพราะการถอดรหัสพันธุกรรมส่วนหนึ่งดึงมาจากการตรวจแบบเร็ว จึงมีความทับซ้อนกันอยู่จำนวนหนึ่ง

“ในประเทศไทยถือว่า BA.4 และ BA.5 มีสัดส่วนมากขึ้น แต่ที่สัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นไปเกือบ 50% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่พบไม่มกา เนื่องจากตัวอย่างเพิ่งส่งมาให้ตรวจ ยังต้องดูอีก 2-3 สัปดาห์ต่อเนื่อง ว่า แนวโน้มที่จะเกิดในบ้านเราเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะเฝ้าระวังในคนอาการหนักเป็นพิเศษ เพราะโจทย์เราคือรุนแรงขึ้นหรือไม่ โดยจะร่วมมือกรมการแพทย์ รพ.ใหญ่ๆ ในภูมิภาคว่า คนที่ใส่ท่อช่วยหายใจมี BA.4 BA.5 เพิ่มมากขึ้นมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีคนไข้หนักขอให้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ด้วย” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ทุกครั้งที่กลายพันธุ์จะมีคำถามว่าแพร่เร็วขึ้นหรือไม่ หลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ และรุนแรงทำให้อาการหนัก เสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ ย้ำว่า อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ข้อมูลในปัจจุบันพบชัดเจนว่ามีการแพร่เร็ว แต่เป็นการรายงานของแล็บ ซึ่งเมื่อเทียบกับ BA.2 พบว่า BA.4 และ BA.5 มีความเร็วกว่า แอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อยลง คือ สู้แอนติบอดีได้ดีกว่า และยารักษาสำหรับบางรายที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอก็ตอบสนองน้อยลง แต่สรุปว่ารุนแรงหรือไม่ ต้องรอข้อมูลทางคลินิกเพิ่มเติม เพราะยังเป็นข้อสันนิษฐาน ยังไม่มีสำนักไหนฟันธงว่ารุนแรงขึ้นจริง

“ข้อมูลจากประเทศอังกฤษ พบว่า BA.4 และ BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.2 ก่อนหน้านี้ บางประเทศพบว่าแพร่เร็วกว่าจริง คือ อังกฤษเร็วมากกว่า 1.4-1.5 เท่า สหรัฐอเมริกา เร็วกว่าเกือบ 1.5 เท่า แอฟริกาใต้เร็วกว่า 1 เท่าเศษ ส่วนฝรั่งเศสและเยอรมนีแพร่เร็วไม่ต่างจาก BA.2 ส่วนเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส แพร่เร็วต่ำกว่า BA.2 ซึ่งยังไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร จึงยังต้องจับตาดูต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า คนที่เคยติดเชื้อโอมิครอน BA.1 BA.2 มาก่อนสามารถติดเชื้อ BA.4 BA.5 ซ้ำได้ โดยคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะพบว่า เมื่อมาติด BA.5 ภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับเชื้อลดลงไปมาก 6-7 เท่า ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับเชื้อลด 1-2 เท่า ดังนั้น ถ้าฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันในร่างกายสูงมากพอจะสู้ได้มากกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น เพราะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันมากพอ ช่วยลดความรุนแรงและอาการต่างๆ

“ที่สำคัญคือ มาตรการป้องกันตนเองที่เหมาะสม ขณะนี้เราไม่ได้บังคับสวมหน้ากาก แต่การสวมหน้ากากและล้างมือเป็นความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งช่วง 2 ปีกว่าที่ใส่หน้ากาก ล้างมือ เลี่ยงเข้าที่แออัด ทำให้ป่วยเป็นหวัดน้อยลงหรือไม่ ก็พิสูจน์ด้วยตัวเองว่าช่วยป้องกันได้ ดังนั้น ถ้าอยู่คนเดียว ไม่ได้มีกิจกรรมร่วมกับใครก็ถอดได้ แต่ตอนไหนคิดว่ามีความจำเป็น พูดคุยผู้คน เข้าไปในกลุ่มชุมชน ก็ควรใส่ ซึ่งป้องกันได้หลายโรคไม่เฉพาะโควิด-19 ทั้งวัณโรค ปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ช่วยป้องกันลดการแพร่เชื้อได้ โดยเฉพาะคนภูมิคุ้มกันไม่ดี ร่างกายอ่อนแอ ต้องมีมาตรการป้องกันเหล่านี้” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า ขณะนี้อย่าเพิ่งกังวลอะไรมาก เรากำลังเปิดประเทศ ผ่อนคลายมาตรการให้ชีวิตดำเนินไปได้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการ แต่ถ้าผิดปกติจริง เตียงกลับมาล้นก็อาจต้องกลับมาพิจารณา


ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลการกลายพันธุ์ของ BA.4 และ BA.5 ในตำแหน่ง L452R ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบง่ายขึ้น เป็นผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการ ข้อมูลทางคลินิกยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอ และปัจจุบัน WHO ก็สรุปว่า BA.4 และ BA.5 ความรุนแรงไม่ได้มากกว่า BA.1 หรือ BA.2 ซึ่งทราบกันดีว่า BA.1 และ BA.2 อ่อนกว่าเดลตาเยอะ

เมื่อถามว่า มีการคาดหรือไม่ว่า BA.4 BA.5 จะทำให้เกิดการระบาดอีกระลอกของประเทศไทย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังบอกไม่ได้ เพราะวันนี้หลายประเทศในโลกทำคล้ายกันหมด คือ ตรวจลดลง ตัวเลขจริงโอมิครอนวันนี้ทำให้ติดเชื้อป่วยเท่าไร ตัวเลขรายงานทุกวันนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก ก็เหมือนโรคทั่วไปที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีอาการรุนแรงผิดปกติเห็นได้ชัด จะมาหรือน้อยอาจไม่ได้กังวลมากนักในปัจจุบัน แต่ถ้ามาเร็วพร้อมความรุนแรง เช่น ผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ก็ต้องมีมาตรการบางอย่าง ซึ่งเรามีการเฝ้าระวังติดตาม

ถามถึงกลุ่มอาการที่พบของคนติดสายพันธุ์ BA.4 BA.5 นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรายังไม่ได้รับรายงานว่ามีใครอาการหนักหรือเสียชีวิต เนื่องจากกรมวิทย์เป็นแล็บต้นทาง เราก็จะส่งข้อมูลให้กรมควบคุมโรคไปสอบสวนโรคว่ามาจากไหนอย่างไร จะได้ข้อมูลมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ที่เจอ 2 สายพันธุ์อยู่ใน กทม. เพราะอยู่ใกล้ศูนย์การตรวจ การส่งตัวอย่างง่าย

ถามว่า อัตราครองเตียงใน กทม.ที่เพิ่มขึ้นและมีอาการหนักมากขึ้น 10% สอดคล้องกับสายพันธุ์นี้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังต้องพิสูจน์ต่อไป จะเชื่อมโยงกัน ซึ่งเราจะขอตัวอย่างคนอาการหนักใส่ท่อมาหาสายพันธุ์เพิ่มเติม


กำลังโหลดความคิดเห็น