xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.แถลงงานวิจัย โควิดจาก “แมว” สู่ “คน” เคสแรกของโลก หลังจามใส่หมอตอนตรวจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แจงผลงานวิจัยโควิด-19 พบแมวแพร่เชื้อสู่คน เคสแรกของโลก หลังจามใส่สัตวแพทย์ที่ตรวจหาเชื้อแมวอีกคน ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันความเสี่ยงต่ำแพร่เชื้อสู่คน

จากกรณีที่ The New York Times เผยแพร่ผลงานวิจัยของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผ่านวารสาร Emerging Infectious Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) โดยระบุว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่า เป็นการติดจาก “แมว” สู่ “คน” เป็นครั้งแรกของโลกนั้น

ล่าสุด วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ห้องประชุม 201 ชั้น 2 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลและเป็นหนึ่งในทีมวิจัยดังกล่าว แถลงชี้แจงว่า เคสนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ขณะนั้นมีผู้ป่วยโควิด-19 เป็นพ่อลูกชาวกรุงเทพฯ อายุ 64 ปี และ 32 ปี แต่เตียงไม่พอรักษา จึงประสานเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องจากมีญาติอยู่ที่หาดใหญ่ และเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมา 2 คน พร้อมกับแมวที่เลี้ยงไว้ด้วย 1 ตัว เป็นแมวพันธุ์ไทย สีส้ม อายุ 10 ปี

รศ.ดร.นพ.ศรัญญูกล่าวว่า วันที่ 8 ส.ค. 64 มีการนำตัวผู้ป่วยโควิด-19 ทั้ง 2 คน เข้าสู่กระบวนการรักษาในหอผู้ป่วยโควิด-19 ของ ม.อ. ส่วนแมวได้ส่งไปให้สัตวแพทย์ของโรงพยาบาลสัตว์ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน วันที่ 10 ส.ค. 64 มีการตรวจโดยการแยงจมูกและตรวจทวารหนัก โดยสัตวแพทย์และทีมงาน รวม 3 คน ปรากฏว่า ระหว่างทำการตรวจนั้น แมวได้จามออกมา และโดนสัตวแพทย์หญิงท่านหนึ่ง อายุ 32 ปี ซึ่งในขณะนั้นสวมเครื่องป้องกันแค่ถุงมือและหน้ากากอนามัย ไม่มีเฟซชิลด์ หรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตาแต่อย่างใด หลังจากนั้น ผลตรวจของแมวพบว่าเป็นบวก มีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ส่วนสัตวแพทย์ท่านนี้ หลังจากตรวจแมวได้ 3 วัน ในวันที่ 13 ส.ค. 64 ก็เริ่มมีอาการไข้ ไอ และน้ำมูก และในวันที่ 15 ส.ค. 64 ก็ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเข้าสู่กระบวนการรักษา

รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวอีกว่า ทั้งคู่พ่อลูก แมว และสัตวแพทย์ อาการไม่หนักมาก หลังรักษาตัวอยู่เกือบ 10 วัน ก็ออกจากโรงพยาบาลได้ ทั้งนี้ จากการติดตามทั้งคนและแมวปลอดภัย แข็งแรงดี ไม่มีอาการข้างเคียง หรือโรคแทรกซ้อนแต่อย่างใด จากกรณีที่เกิดขึ้นได้มีการตั้งสมมติฐานว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร เนื่องจากมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยพบความเชื่อมโยงอยู่ 2 อย่าง คือ ระยะการฟักตัวของโรค โดยในคนเชื้อจะอยู่ได้ราว 1 สัปดาห์ ในสัตว์ประมาณ 5 วัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กันตามช่วงเวลา และอีกส่วนคือ การตรวจลำดับเบส และรหัสพันธุกรรม จากทั้งคู่พ่อลูกเจ้าของแมว แมว และสัตวแพทย์ พบว่าตรงกัน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเทียบเคียงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์ใหญ่ๆ หลายจุดใน จ.สงขลา เนื่องจากอาจเป็นไปได้ว่าแมวอาจรับเชื้อมาจากชุมชน หรือแหล่งอื่นหรือไม่ แต่พบว่าไม่ตรงกัน

“จึงได้ข้อสรุปว่า แมวติดเชื้อโควิด-19 มาจากเจ้าของที่คลุกคลีกันมาตลอด และเจ้าของเองก็ไม่ทราบว่าแมวติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว ก่อนจะแพร่เชื้อไปยังสัตวแพทย์ที่ทำการตรวจ เนื่องจากแมวได้จามออกมาใส่โดยตรง ซึ่งสัตวแพทย์ไม่ได้สวมเครื่องป้องกัน ทั้งเฟซชิลด์และเครื่องป้องกันดวงตา จึงรับเชื้อเข้าไปเต็มๆ ส่วนทีมงานอีก 2 คน ปลอดภัยเนื่องจากไม่ได้อยู่ใกล้” รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าว

รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีงานวิจัยการแพร่เชื้อโควิด-19 จากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงในต่างประเทศมาบ้างแล้ว แต่การแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงคือแมวไปสู่คนนั้น เคสนี้น่าจะเป็นเคสแรกที่มีการนำเสนอออกมาเป็นงานวิจัย และมีข้อเสนอแนะสำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว หากสงสัยว่าตนเองอาจตกเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือคาดว่า ได้รับเชื้อโควิด-19 ให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงไปก่อนประมาณ 7-8 วัน เพื่อความปลอดภัย เพราะสัตว์เลี้ยงเมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 แล้วนั้นส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆ และเชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่น้อยกว่าคนราว 5 วัน และหายไปเองได้

“การที่สัตว์เลี้ยงจะแพร่เชื้อไปสู่คนนั้นก็ยากมาก หรือน้อยมากเช่นเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่จะมาจากการไอ จาม น้ำมูก และอุจจาระ ซึ่งสิ่งเหล่านี้น้อยมากๆ ที่คนจะได้สัมผัส และเมื่อสัมผัสส่วนใหญ่ก็ล้างทำความสะอาดกันในทันทีอยู่แล้วด้วย” รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าว

รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง แต่ยังถือว่าพบได้น้อยมาก แค่ขอให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และอย่าใช้เรื่องเหล่านี้เป็นข้ออ้างในการไม่ดูแลสัตว์เลี้ยง หรือเอาสัตว์เลี้ยงไปปล่อย เพราะความเข้าใจผิดๆ ส่วนการจะมี หรือผลิตวัคซีนเพื่อใช้สำหรับป้องกันโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยงหรือไม่นั้น ทางทีมวิจัยไม่ได้มีข้อมูลในส่วนนี้ แต่หากพบการระบาดในสัตว์เลี้ยงเป็นวงกว้าง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาจจะเป็นผู้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น