ศูนย์จีโนมฯ พบโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ระบาดมากขึ้นในยุโรป-แอฟริกาใต้ เจอผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาใน รพ.เพิ่มขึ้น พบ 2 สายพันธุ์นี้ กลายพันธุ์จากดั้งเดิมมาก 80-90 ตำแหน่ง เพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอดสัตว์ทดลอง หวั่นทำให้ปอดอักเสบในมนุษย์ จากเดิมที่เพิ่มจำนวนได้ดีในทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนอาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ ต้องประเมินจากผู้ป่วยใน รพ. ส่วนในไทยยังพบ 2 สายพันธุ์นี้น้อยเพียง 1% จากผู้เดินทาง
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า ฐานข้อมูลโควิดโลก (GISAID) มีรายงานว่า ประเทศแถบยุโรปและแอฟริกาใต้ พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.4 เพิ่มมากขึ้น โดย BA.5 มีการกลายพันธุ์ต่างไปสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นมากที่สุดเกือบ 90 ตำแหน่ง ส่วน BA.4 กลายพันธุ์จากสายพันธุ์ดั้งเดิม 80 ตำแหน่ง ทั้งนี้ การกลายพันธุ์มากขึ้นก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและอาจจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ในอนาคต ส่วนอาการจะรุนแรงมากหรือไม่ยังต้องติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อเข้ารักษาใน รพ.ว่า มีอาการรุนแรงแค่ไหน แต่ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในโปรตุเกสที่เข้ารักษาใน รพ.เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า 80% รองลงมาคือแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นประมาณ 50% ตามด้วยอังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม สเปน อิตาลี เดนมาร์ก ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบยุโรปเกือบทั้งหมดที่เริ่มเห็นสัญญาณผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้า รพ.เพิ่มขึ้น
“ที่น่ากังวลคือ ผลการทดลองในสัตว์ทดลองเบื้องต้นบ่งชี้ว่า BA.4 และ BA.5 เพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด อาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อปอดอักเสบขึ้นได้ในมนุษย์ ซึ่งต่างไปจากโอมิครอนดั้งเดิม BA.1 และ BA.2 ซึ่งเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงมาแพร่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างที่ปอด แต่ยังเป็นการทดลองในสัตว์ ยังต้องติดตามข้อมูล แต่ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ได้ว่าเริ่มกลับระบาดแล้วในยุโรปและแอฟริกาใต้ แต่จะรุนแรงหรือไม่ยังต้องรอประเมินหน้างานจากผู้ป่วยที่เข้า รพ. ขณะนี้บางประเทศยุโรปยกระดับเตือนภัยแล้ว โดยเฉพาะโปรตุเกส หน่วยควบคุมโรคของยุโรปได้ยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ยกระดับ BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์น่ากังวลใจ” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย จากฐานข้อมูล GISAID ที่สถาบันการแพทย์ต่างๆ ร่วมถอดรหัสพันธุกรรมและบันทึกข้อมูลเข้าไป พบมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.5 จำนวน 26 คน BA.4 จำนวน 23 คน และ BA.2.12.1 จำนวน 18 คน พบตั้งแต่ เม.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจ แต่ข้อเท็จจริงมีจำนวนมากกว่าแน่นอน แต่จะมีอาการรุนแรงมากน้อยหรือไม่อย่างไร จากรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ามารักษาตัวใน รพ. ยังไม่เพิ่มจำนวนมาก คงต้องเฝ้าติดตามใกล้ชิดกันต่อไป แต่ในรายที่พบคาดว่าน่าจะเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากที่ศูนย์จีโนมฯ ถอดรหัสในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ยังไม่พบสายพันธุ์ BA.5 และ BA.4 ข้อมูลที่รายงานใน GISAID น่าจะเป็นการสุ่มตรวจโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
ทั้งนี้ ฐานข้อมูล GISAID มีรายงานสายพันธุ์ที่พบในไทยช่วง 60 วันที่ผ่านมา ดังนี้ BA.2 จำนวน 44% BA.2.9 จำนวน 26% BA.2.10 จำนวน 7% BA.2.3 จำนวน 5% BA.2.10.1 จำนวน 4% BA.2.27 จำนวน 3% BA.5 BA.4 และ BA.2.12.1 จำนวน 1% แต่หากเป็นข้อมูลสายพันธุ์ทั่วโลกที่พบโดยเฉลี่ย มีดังนี้ BA.2.12.1 จำนวน 27% BA.5 จำนวน 17% BA.4 จำนวน 8% และ BA.2.3 จำนวน 6%
เมื่อถามว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงจะเกิดคลื่นระบาดระลอกใหม่หรือไม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ตอบลำบาก เพียงบอกได้จากข้อมูลที่ WHO เคยบอกไว้ว่า โอมิครอนไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้ายที่จะระบาด เป็นข้อเท็จจริงที่จะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น จึงยังต้องระมัดระวัง ทำนายไม่ได้แน่ชัดว่า ตัวใหม่จะมีอาการรุนแรงหรือลดน้อยลง เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่สามารถฟันธงได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้ เรียนรู้ ตระหนักแต่ไม่ตระหนก ในช่วงที่ประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ไม่ได้มีข้อห้ามมากมายเช่นที่ผ่านมา ประชาชนก็ต้องพิจารณาตนเองว่า จะต้องป้องกันดูแลตนเองอย่างไร โดยเฉพาะการเข้าไปอยู่ในที่มีคนแออัด ชุมชน มีความใกล้ชิดกัน ก็ยังควรจะสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงมาตรการวัคซีนยังเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะรับตามเกณฑ์กำหนด