xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์จีโนมฯ เผยไวรัสฝีดาษลิง มีการกลายพันธุ์บนจีโนมถึง 40 ตำแหน่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความเกี่ยวกับโรค ฝีดาษลิง ระบุว่า ไวรัสฝีดาษลิงในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา (2561-2565) มีการติดต่อระหว่างคนสู่คน ส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์บนจีโนมไปถึง 40 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม มีการกลายพันธุ์เร็วขึ้นเป็น “1 ตำแหน่งต่อจีโนมต่อเดือน” จากเดิมเป็นเพียง “1 ตำแหน่งต่อจีโนมต่อปี” ส่งผลให้มีอัตราการเปลี่ยนแปลงบนจีโนมของไวรัสเพิ่มขึ้น 10-20 เท่า

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการกลายพันธุ์ในรูปแบบนี้จะส่งผลอย่างไรต่อการแพร่ระบาดและอาการของผู้ติดเชื้อ แต่ที่ชัดเจนคือการกลายพันธุ์บนจีโนมของไวรัสฝีดาษลิงในคนในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา ไม่มีความสำคัญ หรือเป็นอันตรายต่อไวรัสเอง และไม่มีหลักฐานว่าเป็นการปรับตัวของไวรัส เพียงแต่จะช่วยในการแยกแยะการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาว่า ไวรัสฝีดาษลิงกลุ่มต่างๆ มีการแพร่กระจายอย่างไรจากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คน