"หมอธีระวัฒน์" ชี้แพร่เชื้อฝีดาษลิงคนสู่คน ต้องใกล้ชิด-ไวรัสมากพอ หากแข็งแรงอาจไม่แพร่ เริ่มไม่สบายปล่อยเชื้อได้ ไม่ต้องรอออกผื่น ชี้แม้ไวรัสหายไปนานยังกลับมาเจอใหม่ กลุ่มอาการไม่หนักอาจต้องกักตัวนาน ย้ำไม่สบาย มีไข้ ไม่ว่าโรคใด ให้แยกตัว สวมแมสก์ ล้างมือ สังเกตตัวเอง แนะสำรวจคนยังไม่ได้ปลูกฝี เตรียมวัคซีนให้บุคลากรและสัมผัสเสี่ยงสูง
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 9 เรื่อง “ชัวร์ก่อนแชร์: โรคฝีดาษวานร” ว่า โรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง (Monkeypox) การติดต่อคนสู่คนมีตัวแปร 2 อย่าง คือ สัมผัสใกล้ชิดนานพอสมควร และจำนวนไวรัสที่ปล่อยมามีมากพอสมควร โดยติดต่อจากละอองฝอย ไอ จาม หัวเราะ พูดคุย แต่ไม่ใช่ทางอากาศหรือลมหายใจ ข้อมูลจากอังกฤษพบว่าแพร่ได้ง่ายในชุมชน และมีข้อมูลสำคัญในต่างประเทศ แม้พบน้อย 7 ราย คือ เลือด จมูก ลำคอเจอไวรัสได้ ปัสสาวะเจอได้ แต่ไม่ได้บอกว่าติดเชื้อได้หรือไม่ การแพร่เชื้อทางละอองฝอย จมูก ปากนั้น จากการศึกษาพบว่า บางวันตรวจเจอไวรัส บางวันหายไป แม้หายไปนานก็กลับมาพบไวรัสวันที่ 73-75 ดังนั้น เมื่ออยู่ รพ.อาการไม่หนัก อาจต้องเก็บตัวไว้นาน เพื่อแน่ใจว่าไม่แพร่เชื้อต่อ อาจจะนาน 60 วันขึ้น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ถ้าแข็งแรงติดเชื้อไม่มีอาการ เชื้อไม่ปล่อยออกมาจากคนนั้น แต่หากเริ่มไม่สบายเชื้อจะเริ่มปล่อย เช่น ครั่นเนี้อครั่นตัว มีไข้ ไม่ต้องรอให้ผื่นขึ้นหรือต่อมน้ำเหลืองโตก่อน ดังนั้น ขอให้มีวินัยและตระหนักว่า เมื่อมีไข้อาจจะแพร่เชื้อให้คนอื่น อาจเป็นโควิด ฝีดาษลิง ไข้หวัดใหญ่ หวัดทั่วไป หรือไวรัสอีกมาก ฉะนั้น เมื่อไม่สบาย ต้องเฝ้าระวังตัวเอง ต้องแยกตัว ใส่หน้าหน้ากากอนามัย ล้างมือและสังเกตตัวเอง ถ้าอาการไม่หนักไม่เป็นไร แต่ถ้าช่วงไม่เกินวันที่ 4 คลำต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือไหปลาร้าแล้วโตมากพอควร อาจจะเกี่ยวกับฝีดาษลิง
“การมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองหรือมีผื่น เกิดจากไวรัส แบคทีเรียได้อีกมาก แพทย์ต้องวินิจฉัยประมวลหลายอย่าง ตั้งแต่ประวัติไปต่างประเทศที่มีการระบาด พบปะกับคนหรือไม่ ไปเทศกาลหมู่มาก ตรวจสอบชันสูตรทางห้องแล็บ แต่หากมีการติดเชื้อนี้ร่วมกับโรคอื่น เช่น สุกใส จึงเป็นที่จับตาว่าใครเป็นฝีดาษวานร นอกจากโรคประจำตัวแล้ว อาจจะมีตัวอื่นเข้ามาร่วมด้วยหรือไม่ ผสมผสานได้และรุนแรงได้มากขึ้น ส่วนการรักษายังไม่มียาเฉพาะ ใช้การรักษาประคับประคอง ส่วนใหญ่ไม่เสียชีวิต” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนวัคซีนนั้น อเมริกาและอังกฤษประกาศมีวัคซีน 2 ตัว แต่ใช้ 1 ตัว อังกฤษจะให้เฉพาะบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลฝีดาษวานรและคนเสี่ยงสัมผัสสูง ซึ่งไม่สามารถป้องกันติดเชื้อ 100% แต่เมื่อติดแล้วผ่อนหนักเป็นเบา ลดแพร่กระจายได้ ทั้งนี้ มีการศึกษาคำนวณทางคณิตศาสตร์ ถ้าฉีดวัคซีนฝีดาษหมดทุกคน ภูมิคุ้มกันหมู่ 100% จะป้องกันฝีดาษลิงได้ เพราะติดจาก 1 คนไปต่อน้อยกว่า 1 คน จะไม่มีการแพร่ระบาดในชุมชน แต่เมื่อภูมิคุ้มกันหมู่เหลือน้อยกว่า 60% คือ มีคนเกิดมาอายุน้อยลงเรื่อยๆ แล้วไม่ได้รับวัคซีน เมื่อมีคนติด 1 คนจะแพร่ได้มากกว่า 1 คน เกิดการแพร่ระบาดในชุมชนขึ้น อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้แพร่ในชุมชนต่างๆ ตอนนี้ ส่วนการกลายพันธุ์ยังไม่มีที่น่ากังวลต้องจับตาต่อไป
“ไทยเลิกปลูกฝีดาษตั้งแต่ปี 2523 แต่บางจังหวัดยังปลูกฝีอยู่ คาดว่าเลิกปลูกจริงในปี 2525 แต่การปลูกฝีดาษไม่ได้ป้องกันฝีดาษลิงได้ทั้งหมด และภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ ลดลงตามอายุ เฉลี่ย 60-70 ปี สิ่งที่ต้องดำเนินการจากนี้ คือ 1.เร่งสำรวจคนที่ยังไม่ได้รับการปลูกฝี ซึ่งเป็นกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ว่ามีสัดส่วนเท่าไร 2.เตรียมฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มีความอ่อนไหวไวต่อโรค เช่น เพิ่งผ่านการสัมผัสกับคนติดเชื้อใน 4 วัน แต่ไม่เกิน 21 วัน เนื่องจากระยะฝักเชื้อประมาณ 21 วัน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ด้าน ผศ.น.สพ.สว่าง เกษแดงสกลวุฒิ ภาควิชาพยาธิวิทยาและหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สัตว์ที่พบโรคนี้เป็นตระกูลลิง สัตว์ฟันแทะ กระรอก หนู สัตว์เคี้ยวเอื้องบางชนิด เช่น กวางแอฟริกา แต่ในสัตว์อาการไม่ชัดเจนเท่าคน อาจมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ มีผื่นบ้าง แต่ลิงชิมแพนซี อุรังอุตัง ลิงแสม ลิงวอกมีอาการใกล้เคียงกับคนได้ การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนมาจากการสัมผัสใกล้ชิด โดนกัด ข่วนจากสัตว์ที่มีเชื้อ ยังไม่มีรายงานติดทางละอองฝอยมาคน ทั้งนี้ คนเลี้ยงสัตว์มีวิธีป้องกันเบื้องต้นคือ มาตรการสุขอนามัยที่ใช้กับโควิดป้องกันโรคนี้ได้ เมื่อสัมผัสแล้วล้างมือ ฟอกสบู่ เฝ้าระวังสังเกตอาการ ประมาณ 10 วัน หากมีไข้ มีผื่น รีบพบแพทย์ ส่วนการเลี้ยงสัตว์ต้องเว้นระยะ รู้แหล่งที่มาของสัตว์ สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เท่าที่ทราบข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ยังไม่มีรายงานพบในสัตว์ไทย แต่อนาคตยังไม่มีใครตอบได้ ซึ่งในสัตว์อาการไม่จำเพาะเหมือนคน มีอาการไข้ มีน้ำมูกหรือทางเดินหายใจ เพราะถ้าติดในสัตว์จะเข้าไปที่ปอด แต่บางตัวไม่แสดงอาการ หากพบผิดปกติไปพบสัตวแพทย์จะดีที่สุด
“โรคนี้เป็นไวรัส ถ้ามีสัตว์สงสัยติดเชื้อ จะต้องแยกจากสัตว์อื่นและคน การรักษาที่เป็นยาเฉพาะในสัตว์ยังไม่มี ใช้สังเกตอาการและตรวจยืนยัน ถ้าไม่เจอก็กลับไปเลี้ยงปกติ ถ้าใช่อาจต้องพิจารณามาตรการอย่างอื่นต่อ ถ้าจะเลี้ยงต่อคนเลี้ยงสามารถป้องกันโรคได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ต้องใช้มาตรการอื่นมาคุมโรค เพราะโรคนี้ติดคนได้ ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้แพร่สัตว์สู่คน ส่วนสุนัข แมวยังไม่มีข้อมูลการติด” ผศ.น.สพ.สว่างกล่าวและว่า ขอให้ระวังการนำสัตว์ต่างๆ เข้ามา เพราะไม่รู้สัตว์มีเชื้อโรคอะไร ควรนำมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ผ่านกระบวนการตรวจสอบ มีการกักโรค เพื่อดูโรคต้องระวังแต่ละกลุ่มชนิดสัตว์ มีระบบตรวจสอบได้ว่าไปอยู่ที่ไหนสิ้นสุดที่ไหน เป็นระบบที่ทำให้อเมริกาสามารถควบคุมโรคตอนระบาดได้ ส่วนคนเลี้ยงสัตวต่างๆ ทั่วไปหรือสัตว์แปลกใหม่ ต้องมีสุขอนามัยที่ดี เฝ้าระวังสังเกตอาการสัตว์ป่วย ควรพบสัตวแพทย์ดีกว่ารักษาเองหรือหมอโซเชียล