xs
xsm
sm
md
lg

โอมิครอน BA.4 - BA.5 ลงปอดมากขึ้นจริง ยังไม่มีข้อมูลทำเข้า รพ.มากขึ้น เผยเปิด "ผับบาร์" กทม.เจอป่วยโควิดเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์เผยหลังผ่อนคลาย "ผับบาร์" 1 มิ.ย. พบ กทม.มีแนวโน้มติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น อาการรุนแรงไม่มากพบ 10% ส่วนสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 BA.5 ยังไม่ชัดเจนทำให้เข้า รพ.มากขึ้นหรือไม่ แต่มีรายงานต่างประเทศลงปอดได้มากกว่าเดิม แต่ยังไม่มีข้อมูลเทียบกับ "เดลตา" ย้ำหลัง 1 ก.ค. แม้ผ่อนคลายหน้ากากที่โล่งแจ้ง แต่หากอยู่ที่ปิด คนจำนวนมาก ขอให้ใส่ไว้

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หลังผ่อนคลายมาตรการและกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา เช่น เปิดผับบาร์ คาราโอเกะ แนวโน้มการติดเชื้อโควิด 19 ภาพรวมของประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดเจนคือ พื้นที่ กทม. โดยพบว่า ในส่วนของ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง คือ รพ.ราชวีถี รพ.เลิดสิน และรพ.นพรัตนราชธานี มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นไปตามคาดการณ์ว่า เมื่อมีการผ่อนคลายก็จะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงเริ่มพบการติดเชื้อในโรงเรียนมากขึ้นด้วย ฉะนั้น วัคซีนโควิดมีความจำเป็นมาก ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค คือ ฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนเข็มกระตุ้นในเด็กนักเรียนขอให้ติดตามประกาศจากกรมควบคุมโรคอีกครั้ง

"หากตรวจ ATK ด้วยตนเองที่บ้านแล้วพบว่าติดเชื้อ ขอให้ช่วยรายงานเข้าระบบด้วย ทั้งระบบการรักษาที่บ้าน (HI) หรือเจอแจกจบ (OPD) ที่จะมีแพทย์ติดตามใน 48 ชั่วโมงแรก เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลประเมินสถานการณ์" นพ.สมศักดิ์กล่าวและว่า ส่วนสถานการณ์เตียงโควิด เฉพาะ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ใน กทม. ก่อนผ่อนคลายมาตรการ อัตราครองเตียงรวมกันไม่ถึงพันเตียง แต่ช่วงนี้เพิ่มขึ้นเป็นพันกว่าเตียงอัตราครองเตียงคิดเป็น 10% ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงเมื่อเทียบเฉพาะกับผู้ป่วยครองเตียง เช่น รพ.ราชวีถี ครองเตียง 30 ราย อาการรุนแรง 3 ราย คิดเป็น 10% ขณะที่เตียงโควิดยังว่างเยอะอยู่ เตียงไอซียูตอนนี้มีการครองเตียง 10-20%

เมื่อถามถึงอาการของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังและรายงานว่า เริ่มเจอผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้น ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวคาดว่าจะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่หลบภูมิคุ้มกัน แต่ความรุนแรงยังไม่ชัดเจนว่าทำให้ต้องเข้า รพ.มากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ รายงานจากต่างประเทศที่นำเชื้อดังกล่าวไปทดลองในเซลล์ปอด พบว่าเชื้อลงปอดมากกว่า BA.1 และ BA.2 แต่ไม่ได้นำมาเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าที่เคยมีความรุนแรงที่สุด ขณะเดียวกันทวีปยุโรปพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นและมีการเข้ารักษาใน รพ.มากขึ้นพอสมควร ทั้งนี้ การติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นได้แน่นอน แต่ระยะจะสั้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลจากกรมวิทย์อีกครั้ง แต่ในข้อมูลรายงานต่างประเทศที่ทดสอบกับเซลล์ปอดยืนยันได้ว่า BA.4 BA.5 ลงปอดมากกว่า BA.1 BA.2 ดังนั้นแนวโน้มว่าน่าจะรุนแรงกว่า

เมื่อถามว่าวันที่ 1 ก.ค. ศบค.ผ่อนคลายให้ถอดหน้ากากอนามัยในที่โล่งแจ้ง จะมีคำแนะนำอย่างไร นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า โควิดจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบของบุคคลมากขึ้น เป็นการประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง แต่คำแนะนำทางการแพทย์ยังอยากให้สวมหน้ากากอยู่ แต่ทางปฏิบัติหากเป็นการอยู่คนเดียว ในที่โล่งแจ้งก็ถอดได้ แต่หากอยู่ในสถานที่ปิด ใช้รถร่วมกับผู้อื่น อยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีคนมากๆ ก็ต้องสวมไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น