กรมวิทย์เผยวัคซีนฝีดาษอายุ 40 ปี มี 1 หมื่นไวอัล แบ่งฉีดได้ 5 แสนโดส ทดสอบประสิทธิภาพ 1 ไวอัลยังออกฤทธิ์แรง แต่ยังต้องทดสอบ 1 โดสยังประสิทธิภาพดีหรือไม่ พร้อมตรวจการปนเปื้อน ย้ำเป็นเทคโนโลยีเก่ามีรายงานผลข้างเคียง กล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่น้อยมาก
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบวัคซีนฝีดาษที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เก็บแช่แข็งรักษาไว้ หลังยุติการปลูกฝี เพราะกวาดล้างโรคจนหมดไปในปี 2523 ว่า ขณะนั้นไทยผลิตได้เองเหลือเก็บไว้จนถึงตอนนี้กว่า 40 ปี เป็นวัคซีนลักษณะผง (Dry freeze) มี 10,000 ขวด (ไวอัล) ในจำนวน 13 ล็อต ใน 1 ไวอัลฉีดได้ 50 โดส เมื่อคำนวณจะเท่ากับมีประมาณ 5 แสนโดส เบื้องต้นกรมวิทย์ฯ นำมาทดสอบประสิทธิภาพผลปรากฎสามารถฟื้นตัวได้ดี และออกฤทธิ์ได้แรงดี
"วัคซีนฝีดาษชนิดผงนี้ทำมาจากฝีดาษวัว ซึ่งเป็นเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนแรง เป็นวัคซีนรุ่นแรก รูปแบบการนำมาใช้จะสะกิดให้ผิวหนังเป็นแผลและนำผงวัคซีนแตะแปะไว้ ก็จะเกิดเป็นฝีแล้วกลายเป็นสะเก็ดแห้ง จากนั้นก็จะไปสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ในขณะที่วัคซีนฝีดาษปัจจุบันเป็นรุ่นที่สามที่ใช้ฉีดเข้าผิวหนัง" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีตนเป็นประธาน มี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงผู้แทนจาก อภ. มาช่วยกันตรวจทดสอบวัคซีนดังกล่าวเพิ่มเติมว่า ใน 1 ไวอัลที่มี 50 โดสนั้นทั้ง 50 โดสยังมีประสิทธิภาพความแรงอยู่หรือไม่ ดูแนวโน้มว่าน่าจะให้ผลได้ดี ส่วนที่สองจะต้องตรวจเรื่องสารปนเปื้อน มีเชื้อหรือราต่างๆ หรือไม่ เนื่องจากเก็บไว้นานกว่า 40 ปี แต่คาดว่าจะไม่มีปัญหา เนื่องจากเป็นผงแห้งที่บรรจุในขวดแก้วปิดสนิท รวมถึงคงต้องตรวจทั้ง 13 ล็อตที่จัดเก็บไว้ทั้งหมด คาดว่าจะใช้เวลาตรวจอีก 2 สัปดาห์จะทราบผล
ส่วนวัคซีนรุ่นหนึ่งนี้จะสามารถพัฒนารูปแบบการใช้เป็นรุ่นสามได้หรือไม่ ก็กำลังศึกษาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โรคฝีดาษลิงขณะนี้ดูแนวโน้มว่าจะไม่มีปัญหาร้ายแรง เพราะการติดเชื้อค่อนข้างยาก ต้องผ่านการสัมผัสอย่างใกล้ชิดถึงลูกถึงคน แต่เราก็ไม่ประมาทอย่างน้อยเราก็มีอยู่ในมือ 5 แสนโดสหากมีความเสี่ยงคงไม่ได้ฉีดทั่วไป คงพิจารณาเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อ ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีนตัวนี้ เนื่องจากเป็นการใช้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งเทคโนโลยียังไม่ได้ก้าวหน้าเช่นปัจจุบัน เท่าที่มีรายงานก็มีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบแต่น้อยมาก