xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยัน "ฝีดาษลิง" ระบาดช้า ไม่รุนแรง ยังไม่ต้องรีบหาวัคซีน แต่เตรียมการแล้ว WHO ชี้เสี่ยงปานกลาง ไม่ห้ามเดินทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคเผยทั่วโลกพบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" 900 กว่ารายใน 43 ประเทศ แม้กระจายหลายประเทศในช่วง 1 เดือน แต่การระบาดไม่เร็วเมื่อเทียบกับโควิดที่ขึ้นไปเป็น 10 ล้านคน ซ้ำโรครุนแรงน้อย ไม่พบผู้เสียชีวิต WHO จัดความเสี่ยงปานกลาง ไม่ประกาศภาวะฉุกเฉิน ไม่เป็นโรคอันตราย แค่ให้เฝ้าระวัง ไทยยังเฝ้าระวังเข้ม ไม่พบผู้ป่วย วัคซีนยังไม่จำเป็นต้องรีบหา แต่มีการเตรียมการไว้

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงสถานการณ์โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า โรคฝีดาษเกิดจากเชื้อไวรัส Poxvirus ติดต่อจากสัตว์สู่คน ตัวแรกที่รู้จักกันดี คือ ฝีดาษวัว (Cowpox) เกิดจากคนรีดนมวัวและติดเชื้อมีตุ่มที่มือ สองฝีดาษคน (Smallpox) หรือไข้ทรพิษ โรคมีความรุนแรงสูง เป็นแล้วเสียชีวิต จึงพัฒนาวัคซีนฝีดาษเพื่อปลูกฝี จนเชื้อหมดไปจากโลกนี้ จึงประกาศหยุดฉีดวัคซีนเมื่อปี 2523 เด็กที่เกิดหลังจากนั้นไม่ได้รับวัคซีนฝีดาษคน และมีการเก็บวัคซีนไว้ในคลังวัคซีน และปัจจุบันฝีดาษลิง (Monkeypox) เดิมเจอในลิง หนู กระรอง สัตว์ฟันแทะ นานๆ จะติดมาสู่คน คือคนมีประวัติสัมผัสสัตว์หรือถูกสัตว์กัด มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งไม่รุนแรง อัตราเสียชีวิต 1% และสายพันธุ์แอฟริกากลาง มีความรุนแรง อัตราตาย 10% โโยที่ตะวันตกตาย 1% อัตราเสียชีวิต ตัวที่ระบาดคือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก

"เดิมเป็นการติดต่อจากสัตว์สู่คน การกระจายโรคค่อนข้างช้า แต่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาพบการติดจากคนสู่คนมีการสัมผัสใกล้ชิดกัน โดยติดต่อจากสารคัดหลั่งหายใจ และสัมผัสสิ่งปนเปื้อน ส่วนสมมติฐานติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นข้อสังเกต แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ การวินิจฉัยเหมือนโควิดคือตรวจ RT-PCR" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ข้อมูลทางคลินิกของฝีดาษลิง คือ ระยะฟักตัวยาว อย่างโควิดโอมิครอนค่อนข้างสั้น 2-7 วัน ส่วนฝีดาษลิงอยู่ที่ 5-21 วัน อาการสำคัญคือ มีไข้ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัว เหมือนไข้หวัดทั่วไป แต่ไม่ค่อยมีน้ำมูก หลังเป็นไข้ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้น กระจายที่แขนขา ลำตัว และใบหน้า ลักษณะตุ่มมีหลายแบบตามระยะ ตั้งแต่ตุ่มแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง เป็นรอยบุ๋ม แห้งเป็นสะเก็ดและหลุดออก ส่วนใหญ่หายเองได้ ซึ่งจะเกิดแผลเป็นเมื่อมีแบคทีเรียแทรกซ้อน การดูตุ่มอย่างเดียวบอกไม่ได้ว่าเป็นฝีดาษลิง เพราะคล้ายหลายโรค การวินิจฉัยต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ทำลายเชื้อโดยตรง วัคซีนที่มีคือวัคซีนฝีดาษคน ส่วนวัคซีนฝีดาษลิงกำลังพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพ อาจมีใช้ในเร็วๆ นี้ ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่หากแข็งแรงจะไม่ค่อยมีอาการผิดปกติอะไร แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ รวมถึงเสียชีวิตได้ แต่ไม่บ่อย

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. เจอผู้ป่วยยืนยัน 900 กว่าคน ใน 43 ประเทศ แม้กระจายหลายประเทศ แต่ลักษณะการระบาดไม่เร็วเมื่อเทียบโควิดหลังมีรายงานมาเป็นเดือน หากเป็นโควิดอาจขึ้นหลัก 10 ล้านคนแล้ว แต่ฝีดาษลิงยังไม่ถึงหลักพัน ถือว่ากระจายไม่เร็ว อาการไม่รุนแรง และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จึงไม่ต้องกังวลว่าจะติดเร็ว แต่เราไม่ประมาท สธ.ได้จัดระบบเฝ้าระวัง โดยมีระบบคัดกรองคนเดินทางจากต่างประเทศ และกำหนดนิยามวินิจฉัยผู้ป่วย เตรียมห้องปฏิบัติการในการวินิจฉัยและสอบสวนควบคุมโรค และเตรียมจัดหาวัคซีนหากจำเป็นต้องใช้ ขณะนี้ที่มีรายงานจะเป็นทางยุโรป เช่น สเปน อังกฤษ โปรตุเกส เยอรมนี รวมถึงแคนาดา ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการสงสัยก็ไปพบแพทย์ได้ เพื่อให้การวินิจฉัยต่อไป

"องค์การอนามัยโลกประเมินโรคฝีดาษลิงว่าเป็นความเสี่ยงปานกลาง ยังไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน แม้จะเจอหลายประเทศ แต่การกระจายไม่เร็ว อาการไม่รุนแรงมากนัก ยังไม่ต้องจำกัดการเดินทาง และไม่ได้ประกาศเป้นโรคอันตราย เพียงแต่ให้เตือนระมัดระวังและจัดระบบเฝ้าระวัง ซึ่งประเทศไทยก็ดำเนินการแล้ว ซึ่งจากการเฝ้าระวัง ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในไทย แต่เคยมีผู้ต้องสงสัย 6 ราย แต่ตรวจแล้วเป็นเชื้อเริมไม่ใช่ฝีดาษลิง ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ความเสี่ยงอาจเกิดได้ แต่เชื่อว่าระบบเฝ้าระวังและความร่วมมือในการคัดกรอง ถ้าเจอใครมีตุ่มสงสัย ก็ส่งให้แพทย์วินิจฉัยและดูแลต่อไป" นพ.โอภาสกล่าวและว่า ไม่ต้องกังวลเกินไป ประเทศไทยพร้อมดำเนินการ แม้มีโอกาสพบผู้ป่วยเดินทางเข้าไทยได้ เพราะไทยเป็นประเทศเปิด รับคนเดินทางจากทั่วโลกเพื่อกิจกรรมการใช้ชีวิตกลับสู่ปกติ แต่ความร่วมมือที่ดีจะตรวจจับผู้ป่วยและควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาดต่อไปได้

เมื่อถามถึงการตรวจวัคซีนฝีดาษที่เก็บไว้ในคลัง นพ.โอภาสกล่าวว่า จากการตรวจพบว่า เชื้อยังไม่ตาย แต่จะมาใช้ได้อย่างไร ประสิทธิภาพอย่างไรต้องใช้เวลาศึกษาอีกระยะ เรียนว่าวัคซีนไม่ใช่สิ่งจำเป็นมากในตอนนี้ แต่เราก็ต้องเตรียมการเผื่อสถานการณ์ต่างๆ ให้มีวัคซีนไว้ใช้ เรากำลังสอบถามไปที่องค์การอนามัยโลกที่มีคลังวัคซีนสำรองอยู่ แต่เป็นวัคซีนฝีดาษคน ส่วนวัคซีนฝีดาษลิงเนื่องจากเป็นเชื้อใหม่ การศึกษาวิจัยหรือการพัฒนาผลิตยังไม่มากนัก ต้องสอบถามบริษัทต่างๆ ที่สุ่มวิจัยอยู่ วึ่งบางครั้งก็ไม่ค่อยบอกใคร เพื่อผลประโยชน์ทางการแข่งขัน แต่เราก็ติดต่อไว้หลายเจ้า ว่าหากมีข้อมูลที่มีประสิทธิภาพก็ให้แจ้งเราด้วยเพื่อที่เราจะได้สอบทานเรื่องการจัดหาวัคซีนต่อไป

"โรคนี้ไม่รุนแรง ไม่ติดต่อง่าย วัคซีนเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ถามว่าจำเป็นตอนนี้ไหม คงยังไม่ การใช้วัคซีนต้องดู 1.ประสิทธิภาพป้องกัน 2.ความปลอดภัย 3.ดูสถานการณ์ และ 4.ดูความจำเป็นในการจัดหา ต้อง 4 เรื่องครบถ้วน เพาะบางทีโรคไม่รุนอรงแต่วัคซีนมีผลข้างเคียงก้ต้องพิจารณาเป้นรายๆ ไป และฝีดาษลิงตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องรีบหาวัคซีนมากนัก แต่ต้องเตรียมการในการหาวิธีจัดหาหากมีความจำเป็น มาตรการตอนนี้คือการตรวจจับเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้แพร่กระจายออกไป และแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเมื่อแจ้งเตือนไป บางคนมีตุ่มขึ้นมาก็มารายงานมาบอก เป็นสิ่งที่ดีทำให้เราสามารถตรวจจับได้เร็ว มาตรการยังเป็นการวินิจฉัย การแยกกักผู้ป่วย และสอบสวนโรคเป็นหลัก คล้ายกับโควิดช่วงแรก ถ้าเจอจริงๆ ก็แยกกักเพื่อไมให้เขาไปแพร่ระบาดและติดตามผู้สัมผัส ก็คงต้องดูไทม์ไลน์ให้ละเอียด

ถามว่ามีผู้เดินทางจากประเทศที่เสี่ยงหรือมีการระบาดมากน้อยแค่ไหน นพ.โอภาสกล่าวว่า เราเริ่มเปิดประเทศ คนเดินทางก็เยอะขึ้น วันหนึ่งก็เข้ามาหลายหมื่นคนทั้งจากประเทศต่างๆ หรือแถบยุโรปที่มีผู้ติดเชื้ออยู่ แต่ย้ำว่าตอนนี้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 900 กว่าคน เทียบกับโควิดป่านนี้คงขึ้นไป 10 ล้านคนแล้ว ไม่ได้ระบาดเร็ว ไม่ต้องกังวล ให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร ส่วนข้อสังเกตว่าติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไหมยังไม่มีข้อมูลชัดเจน การติดต่อส่วนใหญ่คือสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง


กำลังโหลดความคิดเห็น