xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งด่านคัดกรอง "ฝีดาษลิง" ที่สนามบินแล้ว เร่งหารือกำหนดนิยาม-โรคติดต่ออันตราย-วันกักตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคหารือผู้เชี่ยวชาญ เคาะนิยาม "ฝีดาษลิง" ให้เป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ กักตัวผู้ป่วยและสัมผัสเสี่ยงสูงกี่วันถึงเหมาะสม เผยระยะฟักตัวอยู่ที่ 5-21 วัน เผยตั้งด่านคัดกรองที่สนามบินแล้ว หากมีอาการ มาจากประเทศเสี่ยง และมีประวัติเสี่ยง จะส่งตรวจหาเชื้อ ระบุประเทศเสี่ยงสูงมีการระบาด คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส และแถบแอฟริกากลาง ส่วน 17 ประเทศแค่พบผู้ติดเชื้อ ชี้ติดจากสัมผัสใกล้ชิด ปาร์ตี้ เพศสัมพันธ์ กำชับ รพ.ช่วยเฝ้าระวังกลุ่มอาการสงสัย ย้ำแพร่เมื่อมีอาการแล้ว

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า แม้จะยังไม่พบโรคนี้ในประเทศไทย แต่ต้องหารือเพื่อตั้งระดับในการรับมือเฝ้าระวัง ซึ่งช่วงบ่ายวันที่ 24 พ.ค.นี้ มีการประชุมกรรมการวิชาการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ในการกำหนดนิยามโรคฝีดาษลิงและพิจารณาว่าจะเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ เบื้องต้นจะใช้เกณฑ์ 3 ด้าน คือ 1.ทางคลินิก มีอาการอะไรที่เข้าข่ายสงสัย 2.ทางห้องปฏิบัติการ จะต้องใช้แล็บแบบไหน ระดับใด และ 3.ทางระบาดวิทยา จะต้องมีประวัติสัมผัส ประวัติเสี่ยง ว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ประกาศใช้ได้นาน ซึ่งการจะบอกว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายต้องมีการกำหนดเกณฑ์ก่อน และให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าเข้าได้ตามเกณฑ์หรือยัง กรรมการผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำ เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับทราบ

เมื่อถามถึงความจำเป็นในการปลูกฝี นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ขณะนี้ยัง ทั้งนี้ ยังต้องประเมินสถานการณ์ภาพรวมก่อน ซึ่งผู้ติดเชื้อนอกแอฟริกายังมีหลักร้อยราย ต้องคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ และการปลูกฝีไม่ใช่ทำวันนี้ได้เลย ต้องเตรียมหลายเรื่อง ทั้งวัคซีน จะซื้อที่ไหน มีใครขาย จะปลูกกลุ่มไหนก่อน และไม่ใช่ฉีดได้ทุกคน เพราะมีผลข้างเคียงค่อนข้างเยอะ จึงต้องมาประเมินว่าวัคซีนชนิดไหนใช้ได้หรือไม่ได้ และใช้กับใครกลุ่มไหน โดยหลักการคนที่เคยปลูกฝีมาแล้วจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า หากจำเป็นต้องปลูกฝีก็จะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่อาจต้องฉีดก่อน คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลคนไข้กลุ่มนี้ แต่บุคลากรที่อายุ 45 ปีขึ้นไปอาจจะไม่เสี่ยงมาก เพราะเคยปลูกฝีมาก่อนแล้ว

"กรมกำลังหาว่ามีบริษัทไหนขายวัคซีนฝีดาษคน (Smallpox) เนื่องจากทั่วโลกถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว ไม่มีการฉีดวัคซีนนี้มา 40 กว่าปีแล้ว ก็ต้องมาติดตามดูว่า บริษัทที่ไหนมีขาย มีสต๊อกเท่าไร และเรามีความจำเป็นต้องฉีดเท่าไร ฉีดกลุ่มไหนก่อน จำนวนเท่าไร ต้องประเมินสถานการณ์ที่จะมาสอดรับกันด้วย" นพ.จักรรัฐกล่าวและว่า การติดเชื้อสามารถติดได้ในทุกกลุ่ม แต่ต้องมาดูข้อมูลทางระบาดวิทยาและสถานการณ์ว่า กลุ่มไหนที่จะเสี่ยงมากขึ้น เช่น คนเดินทางไปต่างประเทศแล้วไปเจอกลุ่มเสี่ยง แต่ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้จนกว่าจะได้ข้อมูลมากกว่านี้ ว่าการแพร่ระบาดฝั่งยุโรปและอเมริกาไปถึงตรงไหนบ้าง ตอนนี้ยังมีประมาณหลักร้อยราย แต่ไม่นิ่งนอนใจจะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดต่อไป


ถามถึงกรณีประเทศที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเกิดจากอะไร นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ย้ำว่าคนสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยสามารถติดได้ทั้งหมด จึงไม่อาจแบ่งว่ากลุ่มไหนเสี่ยงมากกว่ากัน เช่น กลุ่มรักเพศเดียวกัน เป็นต้น เพราะการไปรวมตัวทำกิจกรรมอย่างงานคาร์นิวาล งานเทศกาลต่างๆ มีการจัดปาร์ตี การมีเพศสัมพันธ์ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถ้าอยู่สัมผัสใกล้ชิดคนติดเชื้อ ดังนั้น หากใครเสี่ยงหลักการป้องกันคือหลีกเลี่ยงการใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ทางฝั่งยุโรปและอเมริกาวางมาตรการได้ค่อนข้างดี เช่น เบลเยียมให้กักตัว 21 วัน การมีมาตรการอย่างนี้อาจทำให้การแพร่ระบาดไม่ข้ามทวีป ถ้าไม่สัมผัสใกล้ชิดคนกลุ่มนี้

"ส่วนผู้ป่วยที่รายงานในต่างประเทศ เท่าที่ดูอายุไม่เกิน 60 ปี ส่วนใหญ่อายุน้อยทั้งนั้นประมาณวัยทำงาน ซึ่งน่าจะยังไม่ปลูกฝี โดยต่างประเทศยกเลิกการยกเลิกปลูกฝีก่อนประเทศไทยในปี 2523 จะเห็นว่าการติดเชื้อคนอายุ 50 กว่าปีมีไม่เยอะ" นพ.จักรรัฐกล่าว

เมื่อถามถึงมาตรการกักตัวผู้เข้าข่ายสงสัยของประเทศไทย นพ.จักรรัฐกล่าวว่า จะมีการหารือในคณะกรรมการวิชาการว่าจะกำหนดอย่างไร หลักการคือระยะฟักตัวยาวที่สุด ซึ่งไวรัสฝีดาษลิงระยะฟักตัวอยู่ที่ 5-21 วัน แต่ส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ต้องหารือผู้เชี่ยวชาญว่าจะกักตัวอย่างไรให้เหมาะสมและรักษาให้ครอบคลุม ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีผลตรวจแล้วและสัมผัสเสี่ยงสูง ส่วนการเฝ้าระวังยังเป็น 3 ประเทศที่มีการแพร่ระบาดในประเทศ คือ อังกฤษ สเปน และโปรตุเกส และบางประเทศในแถบแอฟริกากลาง ส่วน 17 ประเทศ เป็นประเทศที่รายงานพบผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ยังเป็นเคสนำเข้า ไม่ได้เกิดการระบาดในพื้นที่

"การเฝ้าระวังของไทย คือ มาจากประเทศเสี่ยง มีอาการ และต้องมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด จึงเข้านิยาม ซึ่งจะเคาะนิยามอีกครั้งวันนี้ โดยหากพบผู้มีความเสี่ยงจะมีการเช็กอาการและประวัติเสี่ยงว่าจริงหรือไม่ ถ้าเข้าตามนิยามข้อกำหนด จะส่งตัวมาสถาบันบำราศนราดูร และเก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งจะใช้เวลาตรวจ 24-48 ชั่วโมงจึงทราบผล ถ้าเป็นลบก็ปล่อย ถ้าบวกก็เข้าระบบกักตัวรักษา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการส่งตรวจ" นพ.จักรรัฐกล่าว


นพ.จักรรัฐกล่าวว่า เราเฝ้าระวังติดตามที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศในสนามบินต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงสูง มีการระบาดในประเทศแล้ว นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะได้รับบัตรสุขภาพที่มีคิวอาร์โคดเพื่อตรวจสอบอาการป่วยตัวเอง หากป่วยไป รพ.ก็ให้แจ้งเข้ามาระบบด้วย รพ.สงสัยจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจวินิจฉัยต่อไป นอกจากนี้ ให้ยกระดับการเฝ้าระวังใน รพ. โดยให้ทุก รพ.ให้แพทย์รู้จักโรคนี้ คลินิกเฉพาะต่างๆ ให้แพทย์ทราบอาการโรคและรายงานโรค เพื่อนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยและการรักษาต่อไป โดยจะแจ้งให้ทุกจังหวัดเพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้น ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็มีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อ

สำหรับองค์การอนามัยโลกยังไม่มีการประกาศยกระดับ มีแค่ประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการระบาดผิดปกติในยุโรปและอเมริกา ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป คาดว่าจะมีการประชุมอีกเร็วๆ นี้และพิจารณาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่จากการติดตามช่วง 2-3 วันนี้ก็ยังไม่ได้เยอะขึ้นเป็นหลักพัน ต้องติดตามสถานการณ์ต่อ ส่วนผลสอบสวนในยุโรปที่แพร่เยอะ มีออกมาบ้างแต่ยังไม่ได้สรุปทั้งหมดในแต่ละราย แต่มีทั้งกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ ปาร์ตี้กันระยะประชิดมาก สัมผัสใกล้ชิดสุดๆ เลยติดเชื้อ

เมื่อถามว่ากรณีติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้หรือไม่ นพ.จักรรัฐ คนติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ ส่วนใหญ่ระยะแพร่เชื้อคือระยะที่มีตุ่มเกิดขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่จะมีไข้ มีตุ่ม จึงจะเริ่มแพร่เชื้อ ซึ่งช่วงที่มีไข้ ยังไม่มีตุ่มอาจแพร่ได้แต่ไม่มากเท่าตอนนี้มีตุ่มแล้ว ส่วนก่อนหน้านี้ยังไม่ใช่ระยะแพร่เชื้อ แต่ต้องติดตามต่อ ทั้งนี้ การคัดกรองอุณหภูมิที่ด่านจะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียสที่ด่าน ถ้ามีไข้ต้องมีการตรวจดูอาการอื่นร่วมด้วย แต่เน้นว่าต้องมีประวัติเสี่ยงด้วย ไม่ใช่ว่าขึ้นตุ่มน้ำขึ้นแล้วจะเป็นฝีดาษลิงทั้งหมด สำหรับคนที่จะเดินทางไปประเทศเสี่ยงในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทสเสี่ยงสูง คือระวังตนเองในการใกล้ชิดผู้อื่น การติดยังเป็นการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ การรวมกลุ่มกิจกรรมคนจำนวนมากๆ ขอให้ระวังตัวเอง สวมหน้ากากต่อเนื่อง ล้างมือบ่อยๆ มาตรการป้องกันตนเองสูงสุดยังใช้ได้ เพราะโควิดในต่างประเทศก็ยังมีเยอะ การเข้าร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงสูงอาจพบผู้ติดเชื้อ ถ้ากลับประเทศไทยยังไม่มีอาการ เมื่อมีอาการต้องแจ้งว่ามีประวัติเดินทางมาจากประเทศเสี่ยง จะช่วยกันไม่ให้ระบาดในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 17 ประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ได้แก่ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย สวีเดน นอร์เวย์ กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และออสเตรเลีย






กำลังโหลดความคิดเห็น