xs
xsm
sm
md
lg

“สาธิต” จ่อชงแก้ “เด็กเกิดน้อย” เป็นนโยบายพรรค ปชป.ย้ำต้องปรับค่านิยม แจกเงินอาจไม่ใช่คำตอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สาธิต” เตรียมชงแก้เด็กไทยเกิดน้อย” เป็นนโยบายพรรค ปชป. ดันเป็นวาระชาติ ให้ทุกฝ่ายเดินหน้าร่วมกัน ย้ำ “เงิน” อุดหนุนอย่างเดียวไม่พอ มีบทเรียน “สิงคโปร” ให้ 1 แสนบาท เมื่อมีลูกยังแก้ไม่ได้ ต้องปรับค่านิยม จ่อดึงคนดังบอกเล่าความสุขการมีลูก

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเด็กไทยเกิดน้อย ล่าสุด เหลือเพียง 5.4 แสนราย ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่มีนโยบายวางแผนครอบครัว ว่า ขณะนี้หลายฝ่ายเห็นปัญหาเหมือนกันว่าจะต้องเร่งแก้ไขกันตั้งแต่วันนี้ โดยมีคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ.เป็นประธาน ซึ่งได้มอบหมายให้ตนมาดูแลเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือรัฐบาลเปลี่ยนแปลง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนี้ดูแลทั้ง สธ. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะดันเป็นนโยบายของพรรคเพื่อทำเรื่องนี้ในระยะยาวหรือไม่นั้น ต้องหารือกันก่อน แต่เป็นหนึ่งเรื่องที่ตนจะชงเข้าเป็นนโยบายของพรรค

“เบื้องต้นมีการหารือกับทาง พม.อยู่ และรอเวลาที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน แต่ตอนนี้ก็มีการรณรงค์กันไปก่อน บางนโยบายที่ดีหากคนตอบรับดีก็จะผลักดันต่อ ส่วนบางเรื่องหากคนยังไม่ตอบรับก็อาจจะต้องมีการทบทวน อย่างเรื่องที่อยากให้เป็นนโยบายของพรรค อาทิ เรื่องการดูแลผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อย กลุ่มเปราะบาง ที่ต้องดูแลร่วมกัน ช่วยเหลือ สร้างคุณภาพชีวิตให้คนเหล่านี้” นายสาธิต กล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลมีการพูดคุยเรื่องนี้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร นายสาธิต กล่าวว่า ตนเคยพูดครั้งหนึ่ง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเข้าใจและตระหนักดี และตนพยายามให้ท่านผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ในส่วนของคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ที่ สธ.เป็นประธานหลักในการดูแลแก้ไขก็เดินหน้าอย่างเต็มที่ ซึ่งทำแล้วระดับหนึ่ง แต่หากจะปรับเปลี่ยนค่านิยม ต้องทำให้ว้าวขึ้นมา เบื้องต้นตนได้มอบให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เชิญอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความสุขในการเลี้ยงลูก ที่มีความสนุกในการเลี้ยงลูก มาเป็นตัวอย่างการวางแผนครอบครัว ซึ่งจะมีต้นแบบในแต่ละพื้นฐานรายได้ครอบครัว หากรัฐบาลช่วยกันทั้งหมดทุกกระทรวง ก็จะค่อยๆ ทำให้ฐานความคิดคนเริ่มเปลี่ยน อาจจะอย่างน้อย 5 ปี

เมื่อถามถึงภาระค่าใช้จ่ายการมีบุตรที่ตามมา รัฐจะช่วยเหลือเพิ่มเงินอุดหนุน และมีข้อเสนอให้รัฐช่วยจ่ายคนละครึ่งค่าข้าวของเครื่องใช้เด็กอ่อน นายสาธิต กล่าวว่า การแก้ปัญหาผู้มีบุตรยากสิ่งสำคัญคือการปรับค่านิยม อาจไม่ใช่เรื่องของการให้เงินทั้งหมด เพราะมีตัวอย่าง เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ที่จ่ายเงิน 1 แสนบาทกรณีมีเด็กเกิด 1 คน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย ดังนั้น ประเทศไทยก็ต้องคิดให้ครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งเรื่องของสวัสดิการและในระยะยาว ตั้งแต่เกิดถึงจบปริญญาจะมีการส่งเสริมให้มีครอบครัวและมีลูกที่มีคุณภาพได้ มีการวางแผนครอบครัว

นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าภาพคือคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ สธ.เราก็เรื่องนี้อยู่ร่วมกับทุกกระทรวง เราเหลือการให้ความสำคัญอย่างจริงจัง และการคำนวณงบประมาณ เพื่อประเมินว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนค่านิยมได้จริงหรือไม่ หากเป็นวาระแห่งชาติ ต้องใช้งบประมาณเทเข้าไป ฉะนั้น เราก็ต้องช่วยกัน ในวันนี้เรามีเพียงชุดสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมให้คนไทยมีลูก แต่ในอนาคตที่มีเรื่องค่าใช้จ่าย เราก็ยังไม่กล้าพูดต้องใช้งบประมาณมากแค่ไหน แต่กล้าพูดว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งต้องใช้เงินในการแก้ไขปัญหาด้วย

“วาระแห่งชาติ เช่น คนละครึ่ง ที่น่าจะใช้ได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว การให้ความสำคัญในเรื่องนี้ต้องลดลง เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเรื่องประชานิยม ดังนั้น เรื่องนี้ต้องปรับเป็นนโยบายที่จำเป็น เรื่องสำคัญของประเทศชาติ อย่างเรื่องโครงสร้างประชากรที่เรากังวลกัน หากเป็นวาระแห่งชาติแล้วก็อาจจะปรับโหมดการใช้เงินในส่วนที่รัฐให้ความสำคัญ” นายสาธิต กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น