xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 2 เหตุผลคนมีลูกช้า เสี่ยงมีบุตรยาก ตั้งมาตรฐานพ่อแม่สูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย 2 เหตุผลทำคนไทยมีลูกช้า เสี่ยงภาวะมีบุตรยาก พบอยู่ในระบบการศึกษานานขึ้น ตั้งมาตรฐานความพร้อมการเป็นพ่อแม่สูง ลูกต้องมีคุณภาพ ทำให้เลยช่วงเวลาทองการมีลูก ขณะที่สังคมเน้นวัตถุนิยม เน้นเป็นโสด เห็นคุณค่าครอบครัวลดลง แนะปรับปรุงโครงสร้างสังคม พร้อมรุกงานสุขภาพจิตปรับความคิดจูงใจคนอยากมีลูก

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็กไทยเกิดน้อย ส่วนหนึ่งมาจากคนอยากเป็นโสด ไม่อยากมีลูก หรือพร้อมมีลูกเมื่ออายุมาก ทำให้มีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก ว่า เหตุผลที่ปัจจุบันคนไทยมีลูกน้อยลง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า 1.การเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในประชากรบางกลุ่ม จะเห็นว่ากลุ่มผู้หญิงที่รับการศึกษาและอยู่ในระบบการศึกษาจนอายุมากขึ้น ทำให้ชะลอการมีครอบครัวและชะลอการมีบุตรด้วย ขณะที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวดีขึ้นมาก เพราะฉะนั้นความประสงค์ของผู้หญิงที่จะเข้าสู่ความเป็นแม่ หรือตั้งใจมีบุตรถูกชะลอออกไปและลดจำนวนลง เป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง

2.ความคาดหวังต่อบทบาทของความเป็นพ่อแม่และความคาดหวังต่อคุณภาพของลูก เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงเยอะในระยะหลัง โดยพ่อแม่หลายคนคาดหวังว่า หากจะต้องเป็นพ่อแม่คนก็ต้องมีความพร้อม จึงตั้งมาตรฐานความพร้อมไว้สูง ซึ่งกว่าจะถึงเวลาที่พร้อมจริง ความสามารถในการมีบุตรก็อาจถดถอยลงไป และความเครียดความจริงจังต่อเรื่องนี้ทำให้โอกาสต่อการเจริญพันธุ์ได้รับผลกระทบด้วย ส่วนหนึ่งคาดหวังตัวคุณภาพของเด็ก คาดหวังรูปแบบการเลี้ยงดูที่พ่อแม่จะมีให้กับลูก ซึ่งทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกวิตกกังวลต่อบทบาทความเป็นพ่อแม่ คือกว่าจะพร้อมก็เลยเวลาของวัยเจริญพันธุ์ไปพอสมควรแล้ว

พญ.อัมพรกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มประชาชนอีกส่วนที่มีการตั้งครรภ์ขณะที่ยังไม่พร้อม ซึ่งปัจจุบันผู้ตั้งครรภ์มีทางเลือกมากขึ้น ทำให้โอกาสของการคลอดก็ลดลง ยังเป็นภาพที่เราต้องคลี่คลายและแก้ไข คือ กลุ่มคนที่มีความไม่พร้อมตั้งครรภ์ควรดูแลให้มีการควบคุมวางแผนครอบครัวเป็นไปอย่างดี มิเช่นนั้น บรรดาทารกที่เกิดบนความไม่พร้อม แม้มีปริมาณอาจด้อยคุณภาพลงไป

"กลุ่มที่ลังเลใจจากความคาดหวังต่อมาตรฐานสูงในการเป็นพ่อแม่และการเลี้ยงดูเด็ก ต้องมีกลไกไม่ให้อยู่ในมาตรฐานที่สูงเกินไป มีความคาดหวังที่มากเกินไป มีความผ่อนคลายและเข้าใจธรรมชาติของชีวิตครอบครัว ที่จะมีคุณค่าในการเติมเต็มความสุขที่แท้จริง มีโครงสร้างเชิงสังคมที่จูงใจพ่อแม่มีความพร้อม มีความสุขที่จะมีลูก" พญ.อัมพรกล่าว

พญ.อัมพรกล่าวอีกว่า มีการวิเคราะห์โจทย์ความกังวลใจของพ่อแม่ที่มีคุณภาพ มีทั้งการเลี้ยงดู การเป็นภาระ ดังนั้น ถ้ามีกลไกทางสังคมที่สนับสนุนการเลี้ยงดูที่ดีให้พ่อแม่ได้ เช่น คนห่วงกังวลเรื่องการทำงาน ก็มีสถานดูแลเด็กที่มีคุณภาพ ไม่ต้องแย่งกันเข้าหรือใช้เงินมาก ทุ่มเทเพื่อซื้อพื้นที่ดีๆ ให้กับลูก หรือเข้าโรงเรียนใช้เงินเยอะมาก การแข่งขันสูง ค่าระบบการศึกษาที่กระจายตัวมากขึ้นเด็กเข้าถึงมากขึ้น ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพ พ่อแม่ทุกคนมั่นใจว่ามีลูกจะมีโรงเรียนดีๆ รออยู่ โดยไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากมาย ก็จะเบาใจสบายใจที่จะมีลูกมากขึ้น ยังมีโครงสร้างทางสังคมหลายเรื่องที่สามารถปรับปรุงให้พ่อแม่มีความพร้อมและมีความสุขที่จะมีลูก จะได้ไม่มีประชากรน้อยเกินไปในอนาคต


เมื่อถามถึงกระแสความคิดคนอยากเป็นโสดมากขึ้นจนทำให้เกิดการแต่งงานช้าหรือมีลูกช้า พญ.อัมพรกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ กระแสสังคมทั่วโลกมีแนวโน้มของการติดอยู่ในความเป็นวัตถุยิยม คำนึงถึงความสุขทางวัตถุมากกว่าทางจิตใจเนื่องมาจากความผูกพัน และบังเอิญว่าความสุขจากวัตถุฉาบฉวยก็เห็นง่ายจับต้องง่ายกว่าความสุขทางใจ ซึ่งต้องอาศัยวุฒิภาวะมากกว่า ก็เป็นสิ่งที่บั่นทอนการมีโอกาสสร้างครอบครัวของคน กระแสสังคมทั่วโลกค่อนข้างเน้นความเป็นปัจเจกบุคคล จากสมัยโบราณที่ต้องพึ่งพิงกันและกัน อยู่เป็นชุมชน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่เป็นครอบครัวต้องผูกพันกัน เพราะต้องทำหน้าที่เสริมให้กันและหัน แต่ปัจจุบันถูกทดแทนด้วยตัวกลางแลกเปลี่ยน คือ "เงิน" ถ้าเราสามารถสร้างรายได้เป็นเงินจึงมีโอกาสตอบโจทย์ความจำเป็นอื่นๆ ทางกายภาพของชีวิตได้ง่าย เช่น ใช้เงินซื้อข้าว ซื้อเสื้อผ้า ทำทุกสิ่งทุกอย่าง จะพาลทำให้เข้าใจผิดว่าเงินเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญ และความเข้าใจผิดนี้ทำให้คนเรามีความเป็นปัจเจกมากขึ้น เราไม่ต้องพึ่งคนมาซักผ้าให้เรา ไม่เห็นน้ำจิตน้ำใจคนมาล้างจายให้เรา เพราะใช้เงินซื้อทั้งหมด สิ่งที่จะมาทำให้เรามามีความรักความผูกพันความรู้สึกขอบคุณความรู้สึกชื่นชมยินดี ในสัมพันธภาพใดๆ จึงหายไปเรื่อยๆ จึงรบกวนทำให้คนเห็นคุณค่าของครอบครัวน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย กลายเป็นอยู่คนเดียวมีความสุขเบ็ดเสร็จในตัว ถ้ามองอย่างลึกซึ้ง เข้าใจความละเอียดอ่อนตรงนี้ จะรู้ว่ามุมคิดนั้นเป็นมุมที่ฉาบฉวยระดับหนึ่งเท่านั้นเอง ความสุขที่แท้จริงของคนเรายังขึ้นอยู่กับความรักความผูกพันกับคนรอบข้าง มีเรื่องของการมีสมาชิกครอบครัวที่เป็นสายเลือดเดียวกัน คนที่ไปไม่ถึงจุดนั้นก็จะไม่รู้ว่านั่นคือความสุข จะติดอยู่กับความสุขฉาบฉวยที่ตัวเองยึดถือ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเกิดครอบครัวและการมีเด็กรุ่นใหม่

เมื่อถามว่าต้องมีระบบให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนให้คนหันกลับมามีลูกหรือไม่ พญ.อัมพรกล่าวว่า ในแง่มุมสุขภาพจิตมีบทบาทในหลายระดับ ทั้งระดับบุคคลและครอบครัว ถ้าเราทำให้ประชาชนเข้าใจคุณค่าของครอบครัวที่สมบูรณ์ คือ การมีลูกปริมาณที่เหมาะสมและคุณภาพที่ดี ถ้างานสุขภาพจิตสามารถให้ข้อมูลให้ข้อแนะนำที่ดีตรงนี้ได้ก็จะช่วยในระดับบุคคลได้ แต่ระดับมหภาคต้องยอมรับความจริงอันหนึ่งว่า การคลายความเครียดของสังคม การช่วยให้ประชาชนอยู่บนพื้นฐานความคาดหวังที่พอเหมาะพอควรจนไม่เลยเถิดกลายเป็นความเครียดต่อการมีชีวิตครอบครัว หรือมีความเครียดต่อการเลี้ยงดูเด็ก ก็จะเป็นอีกส่วนที่กรมสุขภาพจิตจะทำหน้าที่ ช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยและสังคมโลกอาจคุ้นชินเรื่องการวางแผนครอบครัว และคาดหวังในคุณภาพ คือเราอยากให้พ่อแม่ทุกคนมีลูกที่มีคุณภาพ แต่พอรณรงค์การเพิ่มคุณภาพลูกเยอะๆ กระแสตรงนี้กลายเป็นความกดดันได้ อาจต้องมองย้อนกลับในอีกทิศทาง ให้เกิดสมดุลว่า ความคาดหวังที่พอเหมาะพอควร บนความรู้สึกผ่อนคลายมีความสุขนั้นต้องเป็นอย่างไร ต้องช่วยกันทำ

ถามต่อถึงเกณฑ์รูปธรรมของความพร้อมที่จะมีลูก พญ.อัมพรกล่าวว่า มีการพูดถึงเรื่องนี้อยู่และมีข้อมูลทางวิชาการด้วย โดยพ่อแม่ที่เหมาะสมในเชิงอายุ คือ วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เชิงการศึกษา ก็ควรจะเป็นจบการศึกษาปริญญาตรี หรืออย่างน้อย ม.6 เป็นช่วงอายุและการศึกษาที่มีคุณภาพต่อการเป็นพ่อแม่ ทารกที่เกิดจากครอบครัวลักษณะนี้จะเป็นทารกที่มีคุณภาพ ส่วนสถานะครอบครัวอยากให้ปูพื้นฐานว่าพ่อแม่มีความรักใคร่ อยู่ด้วยกันในช่วงการเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยรุ่น เด็กที่มาจากความรัก ความพร้อม พ่อแม่อยู่กันครบถ้วนจะมีคุณภาพสูงกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือมีการแยกทางกัน โดยเฉพาะแยกทางตั้งแต่อายุน้อย เด็กจะยิ่งเจอปัญหาในเชิงคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีเชิงของเศรษฐกิจ ครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีหนี้สินเลี้ยงดูลูกได้ ทำให้ได้คุณภาพของเด็กที่ดีกว่า ถ้าถามถึงเกณฑ์ที่เหมาะสมในการมีครอบครัวและมีลูกก็มีเชิงรูปธรรม แต่สังคมไทยยังไม่ตกผลึกออกมาเป็นแบบบัญญัติชัดๆ ขนาดนั้น อาจะต้องมีแนวทางคร่าวๆ ให้พ่อแม่ส่วนหนึ่งประเมินตนเองได้ มิเช่นนั้น จะเอาชีวิตไปผูกกับความหวังที่สูง มาตรฐานที่สูงจนกลายเป็นความกดดัน

เมื่อถามว่าการตั้งครรภ์เมื่ออายุมากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กอย่างไร พญ.อัมพรกล่าวว่า โดยทั่วไป ถ้าผู้ชายอายุมากขึ้น เข้าสู่วัยที่คุณภาพและจำนวนสเปิร์มที่ลดลง แต่ก็ยังมีลูกได้ ลูกก็มีความเสี่ยงบางอย่าง เช่น ภาวะกระดูกอ่อนมีปัญหามีความสัมพันธ์กับอายุพ่อ หรือแม่ที่อายุเยอะๆ ลูกจะมีความเสี่ยงสารพัดโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม หรือโรคอื่นๆ อีกเยอะ แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นก็ยังเจริญพันธุ์ได้ในอายุสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต และมีวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่รองรับการตั้งครรภ์และดูแลครรภ์ได้อย่างราบรื่น วิทยาศาสตร์การช่วยเหลือผู้มีบุตรยากก็ก้าวหน้าไปเยอะ เอาชนะปัญหาหลายอย่างได้ แต่ถ้ากว่าจะมีลูกเล็กก็อายุเยอะแล้ว บางครั้งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายลูก จากอายุเยอะของพ่อแม่ ยังมีผลต่อเรื่องคุณภาพการเลี้ยงดูด้วย เพราะพ่อแม่อาจไม่รู้สึกสนุกหรือตื่นเต้นกับการเติบโตของเด็ก เพราะวัยที่สูงขึ้นเกินไปของตนเอง เกิดความล้า ไม่คุ้นชิน รู้สึกแปลกแยก จึงอยากให้พ่อแม่ที่อยู่วัยเจริญพันธุ์ที่เหมาะสมและผู้ใหญ่ตอนต้น พิจารณาการสร้างครบครัวและมีลูก จะราบรื่นกว่าและลงตัวกว่าไปใช้บริการคลินิกผู้มีบุตรยากเยอะมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น