xs
xsm
sm
md
lg

ชี้นำ “เงินชราภาพ” ออกมาใช้คือหายนะของ “ประกันสังคม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.อานนท์” ค้านนำเงินชราภาพออกมาใช้ ชี้ผู้ประกันตนจะลำบากในบั้นปลาย และสร้างความเสียหายต่อประกันสังคม ด้าน “ประธานสภาองค์การลูกจ้าง” เชื่อไม่กระทบเสถียรภาพกองทุน เผยผลศึกษาของ “องค์การแรงงานระหว่างประเทศ” พบ อีก 20 กว่าปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมไทยจะเหลือเงินเท่ากับศูนย์ เหตุส่งสมทบน้อย-เกษียณเร็ว-เข้าสูงสังคมผู้สูงอายุ แนะ 3 แนวทางแก้ปัญหา

จากกรณีที่กระทรวงแรงงานเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ไขกฎหมายให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถนำเงินชราภาพที่เก็บสะสมไว้ออกมาใช้ก่อนครบกำหนดเกษียณอายุ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมี 3 ทางเลือก คือ

1."ขอเลือก" เงินบำเหน็จไปลงทุนในกิจการ หรือรับเป็นบำนาญตามเดิม

2."ขอคืน" โดยขอคืนเงินส่วนหนึ่งไม่เกิน 30% โดยไม่เสียดอกเบี้ย และเก็บส่วนที่เหลือไว้เป็นเงินยามชราภาพ

3."ขอกู้" โดยสามารถนำเงินที่เก็บสะสมไว้มาเป็นหลักประกันในการขอเงินกู้

ซึ่งหลายฝ่ายต่างมีความเห็นที่แตกต่างกัน มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่คัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินของกองทุนประกันสังคม

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า
"ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์" อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า (NIDA) มองว่า การนำเงินชราภาพของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมออกมาใช้ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็คือการนำเงินในอนาคตออกมาใช้ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้แก่กองทุนประกันสังคม ตนไม่เห็นด้วยกับการนำเงินชราภาพของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมออกมาใช้ล่วงหน้า เนื่องจากจะทำให้คนไทยไม่มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งจะส่งผลให้กองทุนอยู่ไม่ได้ ซึ่งสถานะของกองทุนประกันสังคมของไทยก็แย่อยู่แล้ว แม้จะยังไม่แย่ตอนนี้เพราะกองทุนยังมีเงินจ่าย แต่ในอนาคตอีก 10 กว่าปีข้างหน้าซึ่งจะเกิด Super-aged Society ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุถึง 20 ล้านคน หากเอาเงินบำเหน็จบำนาญมาใช้หมด ถึงเวลานั้นกองทุนประกันสังคมจะไม่มีเงินจ่าย

“ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนเสนอ ซึ่งที่ผ่านมากองทุนประกันสังคมถูกชำระโดยประชานิยมมาโดยตลอด เช่น การลดอัตราการจ่ายเงินสมทบ ซึ่งมีประกาศอยู่เรื่อยๆ อัตราการส่งเงินสมทบรวมที่เรียกว่า total contribution rate ซึ่งทุกฝ่ายส่งเงินสมทบลดลง ถามว่าทำไมถึงอยากลด ลูกจ้างคิดว่าตัวเองสบายเพราะจ่ายน้อยลง ทั้งที่จริงๆ มันเป็นการจ่ายเงินให้ตัวเองในอนาคต สมมติจ่ายลดลงเหลือ 3% ลูกจ้าง 3% นายจ้าง 3% รัฐบาลก็ 3% ซึ่งลูกจ้างจ่ายน้อย ในอนาคตตัวเองก็ได้เงินน้อย ในขณะที่รัฐบาลชอบใจเพราะจ่ายน้อยลง นายจ้างก็ชอบเพราะจะได้มีกำไรมากขึ้น นโยบายนำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อนคือนโยบายทำลายอนาคตประชาชน และจะทำให้กองทุนประกันสังคมอยู่ไม่ได้ คนที่รับเคราะห์คือคนที่เริ่มต้นทำงานในวันนี้และส่งประกันสังคมไปจนเกษียณ แต่พอเกษียณกองทุนฯ ไม่เหลือเงินเลย” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว

มาตรการลดอัตราส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคม ในปี 2564 เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด
ผศ.ดร.อานนท์ เปิดเผยว่า จากที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ilo ได้ทำการประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัยพบว่ากองทุนประกันสังคมของไทยจะเหลือเงินเท่ากับศูนย์และติดลบภายใน 20 กว่าปี เนื่องจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ

1.ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะประชากรสูงวัยเต็มขั้น ที่เรียกว่า Super-aged Society โดยไทยจะมีคนแก่ จำนวน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 10 กว่าปีข้างหน้า

2.อัตราการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนของไทยอยู่ที่ประมาณ 5% ของเงินเดือน (ฐานเงินเดือนสูงสุดที่นำมาคำนวณอยู่ที่ 15,000 บาท) โดยลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลจ่ายในอัตราเท่าๆ กัน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก ขณะที่ประเทศที่ส่งเงินสมทบมากที่สุดอย่างจีนนั้นสมทบถึง 20%

3.อายุเกษียณในการรับเงินประกันสังคมที่ต่ำเกินไป โดยอายุเกษียณของไทยต่ำอยู่ที่ 55 ปี ซึ่งต่ำที่สุดในโลก ขณะที่อายุในการรับเงินเกษียณของประเทศอื่นสูงกว่านี้ เช่น สหรัฐอเมริกาเกษียณอายุที่ 67 ปี และจะขยายอายุเกษียณออกไปเรื่อยๆ

ดังนั้น การที่คนไทยส่งเงินสมทบประกันสังคมน้อยที่สุดในโลก อายุเกษียณในการรับเงินประกันสังคมน้อยที่สุดในโลก ระยะเวลาการส่งเงินสมทบสั้นที่สุดในโลก ขณะที่ไทยกำลังจะมีจำนวนผู้สูงอายุเต็มขั้น จะส่งผลให้ในอีก 20 กว่าปีข้างหน้ากองทุนประกันสังคมจะไม่มีเงินเหลือเลย

ผศ.ดร.อานนท์ ระบุว่า ระบบประกันสังคมคือการสร้างความมั่นคงในบั้นปลายชีวิต เงินที่ส่งสมทบเข้าประกันสังคมจะงอกเงยขึ้นทุกวัน เป็นการเก็บเงินไวใช้ในยามเกษียณ ขณะเดียวกัน ก็มีสวัสดิการในการรักษาพยาบาล แม้ช่วงจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ส่วนที่เป็นเงินออมควรจะเก็บไว้ใช้ในบั้นปลาย

“จากโครงสร้างปัจจุบันเชื่อว่ากองทุนประกันสังคมจะเจ๊งภายใน 20-30 ปี โดยจะไม่เหลือเงินกองทุนเลยแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งยังเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดของประเทศ เนื่องจากไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่กองทุนประกันสังคมของประเทศไทยจ่ายเงินสมทบต่ำที่สุดในโลก แต่เกษียณอายุแค่ 55 ปี และได้รับบำนาญเลย อีกทั้งยังกำหนดอายุสูงสุดในการสมัครเป็นผู้ประกันตนถึง 45 ปี ถ้าเข้าเป็นผู้ประกันตนตอนอายุ 45 ปี และเกษียณตอนอายุ 55 ปี ก็ส่งสมทบแค่ 10 ปี แต่อายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 76 ปี ดังนั้นแปลว่าทำงานแค่ 10 ปี แต่ได้กินเงินบำนาญนานถึง 21 ปี ยังไงกองทุนฯ ก็เจ๊ง คนไทยอยากจะส่งสมทบน้อยๆ เกษียณและรับเงินชราภาพเร็วๆ ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ประเทศชาติไปไม่รอด สิ่งที่ผมพูดมันไม่ถูกใจคน แต่มันคือความจริง รัฐบาลกำลังตอบสนองความต้องการของประชาชนในปัจจุบัน แต่มันคือการทำร้ายประชาชนในอนาคตเพราะถ้าเอาเงินออกมาใช้ก่อน ตอนแก่จะไม่เหลืออะไรเลย เราจะเอาใจประชาชนจนประเทศฉิบหายก็ตามสบาย” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
ขณะที่ตัวแทนภาคแรงงานอย่าง "นายมนัส โกศล" ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เห็นว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของผู้ใช้แรงงานอย่างมาก ลูกจ้างบางส่วนถูกลดเงินเดือน บางส่วนตกงาน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ต้องไปกู้เงินนอกระบบ ดังนั้นแนวทางในการนำเงินกองทุนบำนาญชราภาพของกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีเงื่อนไขรายละเอียดที่เหมาะสม เช่น บางคนมีเงินออมอยู่ 2 แสนบาท สามารถกู้ได้เท่าไหร่ อีกทั้งต้องมีการแก้ไขระเบียบของกองทุนประกันสังคมเพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินชราภาพออกมาใช้ได้ และสามารถกู้เงินจากกองทุนประกันสังคมได้

ก่อนหน้านี้ หลังจากที่รัฐบาลกู้เงินมา 1.1 ล้านล้านบาท นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขอจัดสรรเงินมาจ่ายชดเชยให้ผู้ใช้แรงงานทั้งที่อยู่ในระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิดถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งหากผู้ประกันตนสามารถนำเงินของตนเองที่อยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนหรือสามารถกู้เงินจากประกันสังคมได้ก็จะเกิดประโยชน์มากกว่า เชื่อว่าเงินจำนวนนี้น่าจะมากกว่าเงินที่กระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือ ซึ่งอยู่ที่ 5,000 บาท ซึ่งผู้ประกันตนสามารถนำเงินก้อนไปประกอบอาชีพได้ ขณะเดียวกัน กองทุนประกันสังคมไม่มีความเสี่ยงเพราะผู้ประกันตนใช้เงินสะสมที่อยู่ในกองทุนประกันสังคมค้ำประกัน ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมอยู่ 2.2 ล้านล้านบาท ปี 2564 ผลประกอบการอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท กองทุนยังมีสภาพคล่อง ดังนั้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้กองทุนประกันสังคมน่าจะสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้

“ถ้าข้อเสนอของท่านรัฐมนตรีสุชาติได้รับการอนุมัติจาก ครม. ผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันตนก็สามารถยืมได้กู้ได้ ซึ่งสภาพเศรษฐกิจแบบนี้เชื่อว่ามีผู้ประกันตนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการนำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อน เพราะเศรษฐกิจแย่ ค่าจ้างไม่ได้ขึ้น สวัสดิการต่างๆ ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายเยอะขึ้น บางคนส่งเงินประกันสังคมมา 180 เดือน โดนออกจากงาน เขาก็คิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถนำเงินบำนาญชราภาพมาใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ” นายมนัส กล่าว

ลูกจ้างจำนวนไม่น้อยถูกเลิกจ้างเนื่องจากโรงงานเลิกกิจการเพราะผลกระทบจากโควิด
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าการนำเงินกองทุนชราภาพออกมาใช้ก่อนจะกระทบเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในอนาคตนั้น "นายมนัส" ชี้แจงว่า ในฐานะที่ตนเป็นอนุกรรมาธิการติดตามการใช้เงินประกันสังคม ได้สอบถามถึงสถานการณ์เงินกองกองทุนประกันสังคมโดยตลอด จึงมั่นใจว่าการอนุมัติให้ผู้ประกันตนนำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อนได้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม จะเห็นได้ว่าจากที่เริ่มก่อตั้งกองทุนชราภาพเมื่อปี 2557 ในปีนั้นลูกจ้างที่ทำงานครบ 15 ปี และเกษียณอายุตอนอายุ 55 ปี กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินชราภาพประมาณ 3,000 กว่าล้าน ก็ไม่มีปัญหาอะไร

ขณะที่ในปัจจุบันประกันสังคมมีตัวเลขอยู่แล้วว่ามีผู้ที่รับเงินบำนาญชราภาพกี่คน เป็นเงินเท่าไหร่ ซึ่งผู้ที่จะนำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อนตามเงื่อนไข 3 ข้อนั้น ล้วนแต่เป็นผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมและเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพอยู่แล้ว เป็นเพียงการนำเงินของเขาเองออกมาใช้ก่อน ซึ่งประกันสังคมจะมีตัวเลขว่าผู้ประกันตนเอาเงินออกมาใช้ไปแล้วเท่าไหร่ เมื่อเกษียณอายุจะเหลือเงินบำนาญชราภาพเท่าไหร่ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของกองทุนประกันสังคมแต่อย่างใด


ทั้งนี้ "ผศ.ดร.อานนท์" ได้แนะนำแนวทางในการแก้ปัญหากองทุนประกันสังคมล่มสลาย ว่า ควรดำเนินการพร้อมกัน 3 ประการ คือ

1.ต้องเพิ่มอัตราการส่งเงินสมทบเพื่อให้คนมีวินัยการเงินมากขึ้น โดยทยอยปรับขึ้นเป็นขั้นบันได เช่น เพิ่มที่ละ 0.25% ทุกๆ 3 ปี สมมติเดิมจ่ายอยู่ 2% ก็เพิ่มเป็น 2.25% ใน 3 ปี จากนั้น 3 ปีต่อมาเพิ่มเป็น 2.75% อีก 3 ปี ก็เพิ่มเป็น 3%

2.ขยายอายุเกษียณแบบขั้นบันได แบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาทำ เช่น ปัจจุบันเกษียณอายุและรับบำเหน็จบำนาญจากประกันสังคมตอนอายุ 55 ปี อีก 3 ปีข้างหน้าก็เลื่อนการเกษียณอายุเป็น 57 ปี อีก 3 ปีเลื่อนเกษียณอายุเป็น 59 ปี ค่อยๆ ขยับขึ้นไปเพื่อให้ทุกคนเตรียมตัว ซึ่งสหรัฐฯ ทำแบบนี้กระทั่งปัจจุบันคนอเมริกันเกษียณอายุและรับบำเหน็จบำนาญจากประกันสังคมตอนอายุ 67 ปี

3.กองทุนประกันสังคมควรปรับรูปแบบการลงทุน จากปัจจุบันกองทุนประกันสังคมเลือกลงทุนในรูปแบบที่มีความเสี่ยงต่ำมากทำให้ได้ดอกผลน้อย โดยกระจายความเสี่ยงไปในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย

ซึ่งสอดคล้องกับ "นายมนัส" ที่เห็นว่า ควรขยายฐานเงินเดือนในการส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคม เพื่อเพิ่มฐานในการคำนวณเบี้ยชราภาพ ให้เงินบำนาญที่ได้รับหลังผู้ประกันตนเกษียณอายุเพียงพอต่อการดำรงชีพ จากปัจจุบันที่ได้รับ 20% ของฐานเงินเดือน ถ้าคิดฐานเงินเดือนที่ 15,000 บาท ได้รับเดือนละ 3,000 กว่าบาท ซึ่งน้อยเกินไป หากได้เดือนละ 5,000 บาทจึงจะพออยู่ได้ ทั้งนี้ตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานประกันสังคมมา 30 ปี ฐานเงินเดือนต่ำสุดในการส่งเงินสมทบยังอยู่ที่ 1,650 บาท จนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ขณะที่ฐานเงินเดือนสูงสุดที่นำมาคำนวณในการส่งเงินสมทบอยู่ที่ 15,000 บาท แต่ลูกจ้างจำนวนไม่น้อยมีฐานเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท ยังต้องส่งสมทบในอัตราเดียวกับคนเงินเดือน 15,000 บาท ทำให้เงินที่สงสมทบและบำเหน็จบำนาญชราภาพที่ควรได้ต่ำกว่าความเป็นจริง

“ปัจจุบันลูกจ้างที่ได้เงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 8,000 บาท มีประมาณ 4 ล้านคน ส่วนคนที่เงินเดือน 12,000-13,000 บาท มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน และคนที่เงินเดือน 15,000 บาท มีอยู่ประมาณ 1 ล้านกว่าคน ส่วนคนที่ฐานเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท ก็มีไม่น้อย ดังนั้นควรจะควรขยายฐานเงินเดือนในการส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกันตนและกองทุนประกันสังคม” นายมนัส กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น