กรมอนามัย ห่วงสาวอีสานภาวะโลหิตจางสูง ทำอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เวียนหัว เสี่ยงติดเชื้อง่าย หากตั้งครรภ์เสี่ยงเสียชีวิตทั้งแม่และลูก กระทบหลอดประสาททารก รุกเสริมวิตามินโฟลิกเสริมธาตุเหล็ก แนะกิน 1 เม็ดต่อสัปดาห์ 3 เดือน เขตสุขภาพที่ 7 ลุยเพิ่มเข้าถึงผ่านร้านยา สถานประกอบการ
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ยังพบอัตราที่สูง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากภาวะโลหิตจางส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายมากขึ้นเวลาออกแรง เวียนศีรษะ ติดเชื้อง่ายขึ้น และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ถ้ามีภาวะโลหิตจางรุนแรง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของมารดาและทารก เนื่องจากหญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และมีประจำเดือน จะสูญเสียธาตุเหล็กทางประจำเดือนทุกเดือน เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางและโฟเลท ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์
"ถ้าร่างกายได้รับโฟเลทไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และมีความเสี่ยงต่อภาวะหลอดประสาทไม่ปิดของทารกในครรภ์ โดยภาวะโลหิตจางป้องกันได้ด้วยการบริโภคผักผลไม้ และอาหารที่ธาตุเหล็กครบตามหลักโภชนาการ และเสริมด้วยวิตามินโฟลิกเสริมธาตุเหล็ก เพียง 1 เม็ดต่อสัปดาห์ กินติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งยานี้เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ด้าน นพ.ชาตรี เมธาธราธิป ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการรณรงค์โครงการผิวสวย แก้มใส สาวไทยขอนแก่น แก้มแดง เพื่อสร้างการรับรู้การป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กของหญิงวัยเจริญพันธุ์ ส่งเสริมให้หญิงวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงบริการตามสิทธิประโยชน์ตามระบบหลักประกันสุขภาพ พร้อมทั้งให้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีการเตรียมความพร้อมตั้งครรภ์ ส่งเสริมสุขภาพของมารดาให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง พร้อมที่จะให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรง พัฒนาการสมวัย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป โดยได้รับร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการจัดกิจกรรม และส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพิ่มช่องทางเข้าถึงยาเฟอโรโฟลิกของประชาชนผ่านร้านยาในเซเว่น อีเลฟเว่น และร้านขายยาทั่วไปในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 อีกทั้งสถานประกอบการในเขตสุขภาพที่ 7 ได้จัดซื้อยาเพื่อเป็นสวัสดิการและแก้ปัญหาโลหิตจางในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ถือเป็นแนวทางการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคแบบบูรณาการ และเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่น
นายบุญฤทธิ์ พาณิชย์รุ่งเรือง รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า นโยบายการป้องกันโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในเขตเทศบาลนครขอนแก่น มีการดำเนินการครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร ทำหน้าที่สนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ สถานที่ บุคลากรและอื่นๆ รวมทั้งร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสุขภาพทุกระดับ ดำเนินการใน 3 มาตรการหลักคือ มาตรการที่ 1 สงเสริมการบริโภคอาหารที่อุดมดวยธาตุเหล็กและโฟเลท มาตรการที่ 2 การตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง และ มาตรการที่ 3 การเสริมยาธาตุเหล็กเชิงปองกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กสำหรับประชากร ส่วนการส่งเสริมการเข้าถึงยาในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ เทศบาลจะได้กำหนดนโยบายให้ครอบคลุมหญิงวัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่อายุ 13 – 45 ปี ต่อไป