xs
xsm
sm
md
lg

สธ.หวั่นเด็กเกิดน้อย ทำ “วัยแรงงาน” หลังแอ่น แบกสารพัดภาระ “หมอเด็ก” แนะมีคนละครึ่งช่วยเลี้ยงเด็กระยะยาว ดีกว่าแจกเงินระยะสั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สาธิต” ห่วงเด็กไทยเกิดน้อย ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลต้องแก้เรื่องนี้ต่อ หวั่นโครงสร้างประชากรเปลี่ยน “วัยแรงงาน” หลังแอ่นเลี้ยงทั้งลูก ดูแลคนแก่ สธ.ชี้ ทำวัยแรงงานหดหาย คนจ่ายภาษีน้อย งบดูคนไม่พอ ต้องแก้ค่านิยมคนเป็นโสด ไม่อยากมีลูก ต้องแก้ทั้งระบบการศึกษายาวนาน กว่าจะสร้างฐานะพร้อมมีลูก จนเลยช่วงตั้งครรภ์ พม.เสนอ ขรก.ลาเลี้ยงลูก 6 เดือน รุกทำมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กให้พ่อแม่มีที่รับฝาก “หมอเด็ก” แนะรัฐควรช่วยจ่ายคนละครึ่งเลี้ยงดูเด็กระยะยาว ทำมาตรฐานโรงเรียนคุณภาพ ลดค่านิยมต้องเข้าเอกชน อินเตอร์ราคาแพง

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางต้องใจ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน นายบุญเลิศ ค่อนสอาด ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐานพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าวทางออกประเทศไทย ในยุคเด็กเกิดน้อย


นายสาธิต กล่าวว่า เราต้องแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย เพื่อสร้างอนาคตชาติ ถ้าไม่ทำวันนี้ปัญหาจะยิ่งแก้ยากมากขึ้น เพราะเด็กเกิดน้อยลง ส่วนทางอัตราเสียชีวิตซึ่งยิ่งปัจจุบันคนอายุยืนขึ้น วัยแรงงานที่ต้องดูแลผู้สูงอายุก็ต้องยืดออกไปอีก จึงต้องขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐบาล อธิบดีกี่คน ก็ต้องทำเรื่องนี้ต่อไป เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างประชากรและค่านิยม ซึ่งต้องใช้เวลาและความเข้าใจให้คนทุกรุ่นรับทราบปัญหา โดยวันนี้เครือข่ายต่างๆ มาร่วมกันแก้ปัญหา บางนโยบายทำไปแล้ว เช่น ค่าอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาทต่อเดือน ประกันสังคมให้ค่าสงเคราะห์เด็กแรกเกิดเดือนละ 800 บาท ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกัน ได้ทั้ง 2 ทาง ผู้ประกอบการมีสถานที่มุมนมแม่ ส่วนที่กำลังขับเคลื่อน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอผ่าน ครม.แล้ว หญิงตั้งครรภ์ลาคลอดจาก 4 เดือนเต็มจะเพิ่มเป็น 6 เดือน และจ่ายเงินเดือนด้วย ส่วนสามีก็สามารถลาเลี้ยงดูบุตรได้ด้วย กระทรวงมหาดไทยกำลังพัฒนามาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งหมดทุกสังกัดให้มีคุณภาพ

ขณะที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการพูดว่าการเรียนจนจบปริญญาตรี มีระยะสั้นหรือยาวเกินไป เพราะเด็กรุ่นใหม่อาจต้องไปคำนวณว่าจบทำงานเก็บเงินมาวางแผนครอบครัวมีลูกคนหนึ่งใช้เวลานาน กว่าวางแผนมีเงินเสร็จกว่าจะมีลูกก็อายุมากแล้ว ทำให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จลดลง ถือเป็นโรดแมปทั้งโรดแมปการดูแลคนจะตั้งครรภ์และมีลูก เพื่อเป็นข้อมูลสร้างค่านิยมใหม่ให้เด็กในการสร้างครอบครัวในอนาคต

“อนาคตอาจต้องคิดนโยบายแรงๆ ซึ่งเงินอาจไม่ใช้ปัจจัยเดียว แต่ต้องเป็นเรื่องคุณภาพของเด็กที่จะเกิดมา อย่างมีลูกก็ไม่ใช่ต้องเรียนโรงเรียนนานาชาติอย่างเดียว ที่ต้องใช้เงินมหาศาล ถ้าคิดอย่างนั้นปริมาณการเกิดไม่ขึ้นแน่นอน การให้สิทธิเรียนฟรี 15 ปี ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ถ้าพ่อแม่ให้ความสำคัญและให้เวลากับครอบครัว ต้องทำทั้งระบบและเป็นแนวคิดค่านิยมที่ดี” นายสาธิต กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เกิดในประเทศไทยลดลงต่อเนื่อง และมีแนวโน้มลดลงอีก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการประกาศใช้นโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติตั้งแต่ปี 2513 ทำให้ปี 2527 จำนวนการเกิดลดต่ำกว่า 1 ล้านคน และปี 2562 ต่ำกว่า 6 แสนคนเป็นครั้งแรก จนปี 2564 เหลือ 5.4 แสนคน ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่การประกาศนโยบายวางแผนครอบครัว ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์รวมลดต่ำลงเหลือเพียง 1.3 ในปี 2564 จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลง จะส่งผลกระทบโครงสร้างประชากรไทยในอนาคต ทำให้ฐานแคบไม่มั่นคง ไม่มีมาตรการแก้ปัญหา โดยสภาพัฒน์คาดว่า ในปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือ 12.8% วัยทำงาน 56% และวัยสูงอายุสูง 31.2% ซึ่งสัดส่วนผู้สูงอายุสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาระพึ่งพิงวัยแรงงานมากขึ้น โดยวัยแรงงาน 1.7 คนดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งเป็นภาระที่หนักของวัยแรงงาน ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง ครอบครัว หรือบุตร นอกจากนี้ จำนวนวัยแรงงานที่ลดลง ส่งผลให้คนเสียภาษีน้อยลง งบประมาณการดูแลประชาชนไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ เกิดสังคมไร้ลูกหลาน ความอบอุ่นในครอบครัวหายไป จำนวนการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อประเทศในอนาคต ทั้งด้านโครงสร้างประชากร โครงสร้างครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรง


นางต้องใจ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น คนนิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น บางคนแต่งงานไม่นิยมมีบุตร สาเหตุอาจจะเรื่องเศรษฐกิจ สังคม โรคติดต่อที่มี หรือมีบุตรไม่มีคนเลี้ยงดู ซึ่งการที่เด็กเกิดน้อยจะกระทบกำลังแรงงานในอนาคต เราหามาตรการต่างๆ จูงใจให้ผู้ประกันตนเตรียมพร้อมมีบุตร โดยจัดสวัสดิการที่นอกเหนือกฎหมายกำหนด ทั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการ มีเข้าร่วมแล้ว 2 พันกว่าแห่ง ผู้ประกันตนรับประโยชน์ 2 หมื่นกว่าคน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กเพื่อผู้ใช้แรงงาน ทำให้แม่หายห่วง การทำงานก็ดีขึ้น มีสถานประกอบการเข้าร่วม 100 แห่ง และเด็กเกี่ยวข้อง 2 พันกว่าคน โดยจะมีการขยายโครงการเหล่านี้ต่อไป

น.ส.ลัดดา กล่าวว่า อัตราการเกิด 6 แสนคน มาจากการเกิดของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 2.5 แสนกว่าคน ทั้งนี้ สปส.มีสิทธิประโยชน์ดูแล โดยเพิ่มเงินค่าคลอด 15,000 บาทต่อครั้ง เพิ่มจำนวนฝากครรภ์ เพื่อตั้งครรภ์คุณภาพ หญิงตั้งครรภ์หยุดงาน 90 วัน รับค่าจ้าง 50% ให้ค่าสงเคราะห์บุตร 800 บาทต่อเดือนต่อคน ไม่เกินคราวละ 3 คน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งยังได้รับสิทธิค่าอุดหนุนเด็กแรกเกิดจาก พม. 600 บาทด้วย ไม่ซ้ำซ้อนกันหรือถูกตัดสิทธิ เพราะผู้ประกันตนจ่ายสมทบไว้

นางจตุพร กล่าวว่า ปัจจุบันค่านิยมการสร้างครอบครัวนั้น วัยทำงานหนุ่มสาวมีค่านิยมสร้างครอบครัวขนาดเล็กลง การสมรสมีบุตรน้อยหรือไม่มีเลย พม.สนับสนุนการมีบุตรโดยจ่ายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ ในครอบครัวรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าแสนบาทต่อคนต่อปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง ส่งเสริมผู้ปกครองนำบุตรเข้ามาสู่บริการด้านสาธารณสุขมากขึ้น ซึ่งเด็กที่รับเงินอุดหนุนเข้าสู่การคัดกรองพัฒนาการถึง 78% โดยพบพัฒนาการสมวัย 95% และกำลังพัฒนามาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเป็น มาตรฐานกลางประเทศไทย เพื่อกำกับดูแลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ 5.4 หมื่นแห่ง ไม่ว่าสังกัดใดก็ตาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการฝากเด็ก


ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา กล่าวว่า ราชวิทยาลัยฯ สนับสนุนส่งเสริมการแก้ไขปัญหาการมีบุตรยาก แต่ผู้เชี่ยวชาญยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งการรักษามีบุตรยากไม่ใช่เรื่องง่าย โดยรักษา 100 คน ประสบความสำเร็จประมาณ 30 คน บางรายค่าใช้จ่ายสูงมากเป็นแสนอาจเป็นล้านบาท บางคนจ่าย 1.5 ล้านบาท ยังไม่ตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยฯ จะทำมาตรฐานด้านวิชาการให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งสำคัญคือการตั้งครรภ์ที่ดีต้องมีการวางแผน เช่น ถ้าน้ำหนักเยอะต้องลดน้ำหนักก่อน มีโรคต้องรักษาให้หายหรือคุมโรคได้ ยังไม่ฉีดวัคซีนบางอย่างต้องฉีด เพื่อไม่ให้ลูกมีโอกาสพิการ ซึ่งการตั้งครรภ์คุณภาพจะเกิดไม่ได้ ถ้าการดูแลไม่มีคุณภาพ สำหรับการเตรียมวางสิทธิประโยชน์รักษามีบุตรยาก โดยมีการวางปรึกษาแนะนำตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากประกาศสิทธิประโยชน์ก็สามารถจัดอบรมบุคลากรได้ ให้มีความรู้ในการแนะนำเพื่อการวางแผนการมีบุตรที่ดี มีการเตรียมพร้อม ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เด็กเกิดน้อยเพราะคนมีลูกช้าลง กว่าจะจบการศึกษา ตั้งฐานะที่พร้อมมีครอบครัวก็ใช้เวลา หรือหากมีบุตรก็ไม่มีเวลาเลี้ยง ต้องมาทำงาน แต่ไม่มีคนช่วยเลี้ยง เพราะเข้ามาเป็นครอบครัวเดี่ยวใน กทม.มากขึ้น นอกจากนี้ยังเจอปัญหาเด็กสมัยใหม่ไม่ต้องการภาระเลี้ยงดู สมัยก่อนคนไม่อยากมีลูก แต่ต้องมีเพราะคุมกำเนิดไม่เป็น ตอนนี้รู้วิธีคุมกำเนิด เข้าถึงยาคุมกำเนิดง่าย ขณะที่มีการพูดกันว่าค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กแพงมาก โดยเฉพาะการศึกษาเอกชนหรืออินเตอรื ซึ่งตรงนี้เราต้องทำให้มาตรฐานการศึกษาใกล้เคียงกัน เพื่อลดค่านิยมว่าจะต้องส่งลูกเข้าเอกชน สำหรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กต่างๆ เป็นแค่ระยะสั้น จึงไม่ดึงดูดพอ เพราะคนคิดถึงระยะยาว อย่างตอนนี้มีคนละครึ่ง จะมีแนวทางหรือไม่ที่เกิดการจ่ายคนละครึ่งในระยะยาว เพื่อให้คนอยากมีลูกมากขึ้น อย่างแม่ก็ต้องหยุดงานเกือบปีเพื่อเลี้ยงลูก ก็ต้องได้เงิน เมืองนอกก็ให้พ่อหยุดงานด้วย เพื่อช่วยเลี้ยงลูก ตรงนี้ต้องัฒนาไปด้วยกัน

ถามว่า จะมีการขยายจำนวนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดหรือขยายหลักเกณฑ์ครอบครัวที่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปีหรือไม่ เพื่อให้ครอบครัวฐานะปานกลางได้รับสิทธิเพื่อชักจูงให้มีบุตรด้วย นายสาธิต กล่าวว่า เป็นแนวคิดอยู่แล้ว ในอนาคตคิดว่าทุกพรรคการเมืองถ้าเห็นว่าเป็นปัญหาก็ไปเสนอนโยบายก็ช่วยกระตุ้นได้ มีความเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มตรงนี้

ด้าน นางจตุพร กล่าวว่า การเสนอเข้า ครม.เป็นกรณีข้าราชการที่จะให้หยุดเลี้ยงลูกได้ 6 เดือน โดยได้รับเงินทำงาน 50% ส่วนฝ่ายชายเสนออยู่ที่ 15 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น