สปสช.ขยายสิทธิฝากครรภ์จาก 5 ครั้ง เป็นไม่จำกัดจำนวน ตามดุลยพินิจหมอ พร้อมเพิ่มสิทธิตรวจคัดกรองซิฟิลิส-ธาลัสซีเมียสำหรับสามีของหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังปรับแยกการจ่ายตรวจทางห้องแล็บช่วยเพิ่มความสะดวกรับบริการ
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.บรรจุสิทธิประโยชน์ฝากครรภ์เมื่อปี 2559 อย่างน้อย 5 ครั้ง และปี 2562 ปรับจากการเหมาจ่ายเป็นการจ่ายตามรายการบริการที่กำหนดราคา (fee schedule) พร้อมอำนวยความสะดวกให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับบริการได้ทุกที่ แต่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการฝากครรภ์คุณภาพตามแนวทางของกรมอนามัยจำนวน 8 ครั้ง ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2565 บอร์ด สปสช.ได้ขยายสิทธิประโยชน์ฝากครรภ์คุณภาพจากเดิม 5 ครั้ง เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง ขึ้นกับแพทย์ที่ดูแลพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็น ก็สามารถนัดตรวจติดตามเพื่อดูแลเพิ่มเติมได้
"หญิงตั้งครรภ์ที่เข้าฝากครรภ์จะได้รับบริการ อาทิ การซักประวัติ วัดสัญญาณชีพ ตรวจร่างกาย ตรวจครรภ์ ประเมินความเสี่ยง ประเมินสุขภาพจิต วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ยาเสริมธาตุเหล็ก ไอโอดีนและโฟลิก ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น" นพ.จเด็จกล่าว
นอกจากนี้ สปสช.ได้แยกการจ่ายสำหรับบริการฝากครรภ์และการตรวจทางห้องแล็บที่จำเป็นออกจากกัน รวมถึงการจ่ายเฉพาะการตรวจและบริการพิเศษ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับบริการได้อย่างสะดวกและได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด ประกอบด้วย ตรวจซิฟิลิส ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจคัดกรองโลหิตจางธาลัสซีเมีย (MCV และ/หรือ DCIP) และหมู่โลหิต (ABO/Rh) เป็นต้น รวมถึงยังมีบริการตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจสุขภาพช่องปากและบริการขัดทำความสะอาดฟัน การตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรม และการตรวจยืนยันธาลัสซีเมียและภาวะดาวน์ซินโดรม ตั้งแต่การมาฝากครรภ์ครั้งแรกหรือถัดมา และตรวจซิฟิลิส ไวรัสเอชไอวี ซ้ำอีกครั้ง เมื่อใกล้คลอด
“แต่ละปีจะมีหญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิเข้าฝากครรภ์ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ จำนวน 4–5 แสนรายต่อปี เป็นงบประมาณดูแลกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นจำนวนเงินไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิได้ฝากครรภ์ที่มีคุณภาพ ครอบคลุมทั่วถึง ส่งผลดีต่อทารก และเป็นการรับมือกับสภาวะเด็กเกิดใหม่ลดลงและด้อยคุณภาพ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า บอร์ด สปสช.มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สามี หรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย ตรวจคัดกรองพร้อมกับหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ การตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสามีสู่หญิงตั้งครรภ์และส่งผลต่อทารกในครรภ์ และการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อ-แม่-สู่ลูก เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงของทารกในครรภ์ได้เร็วขึ้น ช่วยให้สามารถวางแผนการดูแลครรภ์หรือเตรียมความพร้อมของพ่อ-แม่ด้วย