xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ปชช.ยื่น "อนุทิน" ปรับเกณฑ์รักษาตับอักเสบซี ให้เข้าถึงยาสูตรรวม ลดลุกลามมะเร็งตับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวแทนประชาชนยื่น "อนุทิน" ขอปรับเกณฑ์รักษาไวรัสตับอักเสบซี หลังทำเข้าไม่ถึงยากสูตรรวมเม็ด จนยาทยอยหมดอายุ จี้ถอดจากบัญชียา จ.2 ให้แพทย์ รพ.ชุมชนสั่งจ่ายได้ เจอไวรัสอักเสบซีสั่งจ่ายได้เลย ไม่ต้องกำหนดเกณฑ์ 5 พัน IU/ml ลดเสี่ยงลุกลามมะเร็งตับ ด้านผู้แทน สธ.รับเรื่อง เตรียมผลักดันต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และนายนิมิตร์ เทียนอุดม ที่ปรึกษา ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เดินทางมายังยื่นหนังสือต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเข้าถึงการรักษา โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับเรื่อง

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า การรักษาไวรัสตับอักเสบซีเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ มียาสูตรรวมเม็ด (โซฟอสบูเวียร์+เวลปาทาสเวียร์) รับประทาน 12 สัปดาห์ รักษาให้หายขาดได้ แต่ยังมีปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษา ทำให้ยาทยอยหมดอายุ ต้องเสียงบประมาณเปลี่ยนยา เพราะมีการกำหนดคุณสมบัติแพทย์ผู้รักษา ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย เกณฑ์การรักษา ที่เป็นอุปสรรคการเข้าถึงยา ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการส่งต่อหรือส่งต่อไปหน่วยบริการที่ห่างไกลจากบ้าน ผู้ป่วยไม่สะดวกในการเข้ารับบริการต่อเนื่อง จึงเสนอให้ปรับแนวทางกำกับการใช้ยาโซฟอสบูเวียร์+เวลปาทาสเวียร์ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ดังนี้

นำออกจากบัญชียาประเภท จ.(2) ไปอยู่ในบัญชียาประเภทอื่นที่ทำให้แพทย์สั่งจ่ายยาได้สะดวกขึ้น ให้แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการอบรมรักษาผู้ป่วยได้ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา ปรับเกณฑ์การรักษาที่กำหนดให้ต้องตรวจพบ HCV RNA ในเลือดตั้งแต่ 5,000 IU/mL เป็นเมื่อตรวจพบ HCV RNA ในเลือดก็เข้าเกณฑ์รักษาได้ และตัดเกณฑ์ภาวะพังผืดในตับออก แต่ยังคงการตรวจภาวะพังผืดในตับเพื่อวางแผนการรักษา โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยตับแข็ง และขอให้ขยายอายุผู้ที่มีสิทธิได้รับการรักษา จากเดิม 18-70 ปี ปรับเป็น 18 ปีขึ้นไป ไม่มีกำหนดอายุสูงสุด

นอกจากนี้ ขอให้พัฒนาระบบบริการให้ รพ.ชุมชนรักษาไวรัสตับอักเสบซีได้ เพื่อให้ได้รับการรักษาใกล้บ้าน ใกล้ใจ ไม่ต้องเดินทางไกล พัฒนาบุคลากร แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจและให้การดูแลรักษาไวรัสตับอักเสบซีตามสิทธิประโยชน์ได้ จัดทำแนวทางการส่งต่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ชัดเจน ระหว่าง รพ.ชุมชน รพ.แม่ข่าย และ รพ.ศูนย์ รวมทั้งจัดหายารักษาที่มีประสิทธิภาพเท่าทันกับมาตรฐานการรักษาที่ก้าวหน้ามากขึ้น ส่งเสริมให้บริษัทยาชื่อสามัญให้มาขึ้นทะเบียนยาในประเทศมากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและลดการผูกขาด ซึ่งขณะนี้มียาชื่อสามัญต่างชาติเพียงบริษัทเดียว และต่อรองให้ได้ราคายาที่สมเหตุผลที่สุด กำหนดมาตรฐานการรักษา และการเบิกชดเชยของหน่วยบริการ ทุกกองทุน ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ และอื่นๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดปัญหาหน่วยบริการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้รับบริการ

"ข้อดีคือ ยาที่มีในระบบจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคนที่ติดไวรัสตับอักเสบที่อยู่ใน รพ.ชุมชน จะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว และไม่นำไปสู่มะเร็งตับ เป็นการป้องกันไม่ให้คนเป็นมะเร็ง และคุณภาพของผู้ป่วยจะมีคุณภาพที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้ เพราะโรคนี้กินยา 3 เดือนหายขาด ที่สำคัญเราคิดว่า ยาดีขึ้น ใช้ง่ายขึ้น การพัฒนาระบบบุคลากร หมอ แล็บ หากเบ็ดเสร็จที่รพ.ชุมชน จะไม่เป็นภาระคนไข้ เพราะปัจจุบันระบบภายใน สธ. และบุคลากรใน สธ.ยังเข้าใจเรื่องนี้น้อยไป โดยปัจจุบันมีคนไข้ที่รอรักษาในรพ.ชุมชน 10-20 คน" นายอภิวัฒน์กล่าว

ด้าน นายนิมิตร์ กล่าวว่า คนที่ได้รับรักษามีหลักร้อยคนจากจำนวนยาที่ซื้อมา 300 กว่าล้าน ซึ่งตอนแรกหวังว่าจะมีคนมารักษามาก ดังนั้น ต้องรีบรักษาพวกเขา ยิ่งคนติดไวรัสตับอักเสบซีร่วมเอชไอวีจะมีโอกาสตับถูกทำลายเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไป 9 เท่า ซึ่งกรณีไม่มีเอชไอวีร่วมมีเกณฑ์กำหนดการรักษาว่า หากเจอเอชไอวีต้องได้ตรวจค่าไวรัส และต้องนับจำนวนไวรัสซี หากน้อยกว่า 5 พันIU/ml ยังไม่ต้องรักษา พอ รพ.ส่งไปตรวจก็เบิกค่าตรวจไม่ได้ ทำให้รพ.ไม่กล้าไปเบิกเงิน เพราะค่าตรวจ 2.5 พันบาท หากคนไข้อยากตรวจอยากรักษาก็จ่ายเองไปก่อน ซึ่งหากถึงเกณฑ์รักษาได้ก็จะคืนเงินให้ ตรงนี้เป็นปัญหาประชาชนไม่มีเงินจ่าย รพ.ก็ไม่อยากเสี่ยง ดังนั้น ต้องปรับเกณฑ์ใหม่ ขอให้กรมการแพทย์พิจารณาปรับเกณฑ์เรื่องนี้ และขอให้คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติที่จะมีการประชุมเร็วๆ นี้ พิจารณาเรื่องนี้ด้วย หากมีการปรับเกณฑ์จะทำให้คนทั่วไปที่ป่วยไวรัสตับอักเสบซีมีโอกาสเข้าถึงการรักษา ไม่ใช่เฉพาะคนไข้ที่มีโรคเอชไอวีร่วมถึงจะได้รับการรักษาก่อนเท่านั้น

พญ.ปฐมพร กล่าวว่า ขณะนี้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง อย่างกรมการแพทย์ ถึงการปรับเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนของยาการรักษานั้น เดิมองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ผลิตยาตัวเดี่ยว แต่เมื่อมีการปรับปรุงมาตรฐานการรักษาให้ใช้เป็นยาคู่ จึงได้มีการปรับสูตรเป็นยาคู่ ซึ่งสามารถผลิตเองได้ อยู่ระหว่าวการขอขึ้นทะเบียน โดยราคาอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อคอร์สรักษา 3 เดือน แต่ก็จะมีการพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ถูกลง เนื่องจาก สธ.มีแผนการดำเนินการจัดการให้โรคนี้หายไป ซึ่งเป็นไปตามสากลที่กำหนดว่า ในปี 2573 ไวรัสตับอักเสบซีต้องหมดไป เพื่อให้การเกิดโรคมะเร็งตับจากไวรัสตับอักเสบซีหมดไปด้วย ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยตับอักเสบซีมีประมาณ 4 แสนราย


กำลังโหลดความคิดเห็น