xs
xsm
sm
md
lg

เร่งดันเพิ่มสิทธิรักษามีบุตรยาก ช่วยเพิ่มเข้าถึง ลดค่าใช้จ่าย ส่วนอุ้มบุญเพศหลากหลายต้องรอ กม.สมรสเท่าเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เร่งดันสิทธิรักษามีบุตรยาก ชี้ WHO กำหนดเป็นโรคแล้ว ช่วย รพ.รัฐจัดบริการ เพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษา ค่าใช้จ่ายลดลง ไม่ค้องไปเอกชน อาจเริ่มจากสิทธิบัตรทองก่อน ย้ำต่างประเทศกำหนดสิทธิช่วยแก้ปัญหาได้จริง อายุเฉลี่ยเข้ารักษาลดลง ป้องกันโรคแทรกซ้อนท้องอายุมาก ส่วน กม.อุ้มบุญช่วยเพศหลากหลายมีลูก ต้องรอ กม.สมรสเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ศ.นพ.กำธร พฤกษนานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการแก้ปัญหาเด็กไทยเกิดน้อยลง และขับเคลื่อนให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาภาวะมีบุตรยากมากขึ้น ว่า อดีตมีแนวคิดเรื่องคุมกำเนิดเป็นหลัก การรักษาผู้มีบุตรยากจึงเป็นความสำคัญลำดับหลัง ซึ่งก็ถูกต้องในช่วงเวลาหนึ่งที่ประชากรไทยมีจำนวนมาก แต่ตอนหลังอัตราเกิดประชากรไทยลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะเกิดปัญหาเรื่องประชากรติดลบ เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว มีการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ เพราะไม่มีคนในประเทศทำงานต้องมีคนเข้ามาทำงานแทน ก็จะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและสังคมตามมา ซึ่งเรื่องนี้เกิดในทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว และไทยก็กำลังเข้าสู่จุดนั้น

เมื่อถามถึงสิทธิประโยชน์การรักษาผู้มีบุตรยากตามสิทธิหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า ขณะนี้ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ยังไม่ครอบคลุม เนื่องจากช่วงหนึ่งเข้าใจผิดว่าภาวะมีบุตรยากไม่ใช่โรค จึงไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้ รพ.รัฐจึงไม่สามารถเปิดแผนกรักษาผู้มีบุตรยาก เพราะต้องตั้งงบประมาณตามรอยโรค แพทย์รักษาผู้มีบุตรยากที่มีราว 300 คน ไม่สามารถอยู่รพ.รัฐได้ ก็ต้องไปอยู่รพ.เอกชน คนไข้ก็ต้องไปเข้ารับการรักษาในรพ.เอกชนแทน ซึ่งคลินิกชั้นสูงที่ดูแลเด็กหลอดแก้วได้มีประมาณ 100 แห่ง ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า ภาวะมีบุตรยากเป็นโรค หาก รพ.รัฐเปิดให้บริการตรงนี้ ก็จะมีแพทย์ด้านนี้เข้าไป ประชาชนมีโอกาสเข้าถึง ค่าใช้จ่ายโดยรวมของคนไข้ก็จะถูกลง

สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะมีบุตรยากขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น การติดตามการตกไข่ธรรมดาก็ไม่กี่ร้อยบาท แก้ไขฮอร์โมนผิดปกติ เนื้องอกหรือซีสต์ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น ถ้าต้องผสมเทียม ไอยูไอ ก็อาจจะอยู่ระดับหลายพัน หากจำเป็นต้องทำเด็กหลอดแก้วอาจอยู่ที่หลักแสนบาท แต่ไม่ใช่ทุกคนจะต้องทำเด็กหลอดแก้ว มีประมาณ 10% ตรงนี้เป็นอัตราในโรงเรียนแพทย์ และไม่ใช่ทุกคนจะต้องรักษาวิธีการเดียวกัน

“เมื่อยังไม่มีการยอมรับว่าภาวะมีบุตรยากเป็นโรค จึงยังก้ำๆกึ่งๆในการเบิกค่ารักษาพยาบาล หากเขียนไว้ในบัตรคนไข้นอก หรือเวชระเบียนว่าเป็นผู้มีบุตรยาก ก็ไม่สามารถเบิกค่ารักษาอะไรต่อได้เลย แต่โอกาสที่จะแก้ไขมีสูง โดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมอนามัยได้ร่างแนวคิดต่างๆ แต่ยังมีผู้เกี่ยวข้องมาก ทั้ง สปสช. สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง จึงต้องใช้เวลาและอาจต้องดำเนินการเป็นช่วงระยะ คงไม่สามารถแก้ปัญหาภายใน 1 ปีให้เสร็จ ต้องวางเป็นระบบ อันดับแรกต้องยอมรับก่อนว่าเป็นปัญหาจะได้ช่วยกันแก้” ศ.นพ.กำธรกล่าว

ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า ระยะแรกอาจจะเริ่มต้นที่ สปสช.สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในสิทธิบัตรทองก่อน โดยเขียนให้ชัดเจนว่า ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ต้องรับการรักษา คนไข้มีสิทธิที่จะเข้ารับการรักษาเหมือนกับการป่วยโรคอื่น เมื่อกำหนดในสิทธิแล้วว่าเป็นโรค รพ.รัฐจะได้เปิดหน่วย แนวทาง กระบวนการรักษา คนไข้จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงไม่ต้องไป รพ.เอกชนก็ได้ ซึ่งจะใช้เวลานานเท่าไรยังระบุยาก แต่ขณะนี้เห็นแนวโน้มที่ดีและหลายฝ่ายเริ่มตระหนักในเรื่องนี้ เมื่อนำร่องสิทธิบัตรทองแล้ว ก็จะขยายต่อไปยังสิทธิประกันสังคมและข้าราชการต่อไป ส่วนไกด์ไลน์ที่จะกำลังจัดทำนี้ครอบคลุมการรักษาผู้มีบุตรยาก รวมถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคน ซึ่งมีเงื่อนไข ไม่ใช่ใครอยากจะทำแล้วจะทำเลย ต้องมีการตรวจ รักษา ดูทางเลือกอะไรทำได้บ้างจากน้อยไปหามาก อยู่ที่เวลา สถานการณ์และบริบทของแต่ละคนด้วย

เมื่อถามว่าการกำหนดสิทธิรักษาผู้มีบุตรยากฟรี จะช่วยแก้ปัญหาเด็กไทยเกิดน้อยอย่างไร ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียแก้ปัญหาได้จริง เพราะ 1.เป็นการสร้างความตระหนักรู้ว่ามีการให้ความสนใจและความสำคัญกับการเติมเต็มชีวิตคู่หรือครอบครัว และ 2.ดำเนินการแล้วอายุเฉลี่ยของคนที่เข้าสู่การรักษาลดลงประมาณ 5 ปี อายุเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 32 ปี แต่ปัจจุบันคนไทยกว่าจะไปพบแพทย์เพื่อรักษามีบุตรยาก อายุเฉลี่ย 38 ปีซึ่งอายุมากไปแล้ว ดูเหมือนจะช้าไปที่จะเริ่มรักษา ซึ่งปัญหาที่ตามมาของการรักษาตอนอายุมาก คือ จะเป็นโรคดาวน์ซินโดรมหรือไม่ มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่ ตกเลือด ความดันสูง เบาหวาน และท้องยาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายมาก

"หากคนไข้รู้ว่ามีสิทธิที่จะรับการรักษาได้ ไม่ต้องรอ ได้รับการส่งเสริม ไม่ต้องปิดบังใคร ไม่มีค่าใช้จ่ายบานเกินตัว ก็ทำให้เข้ารับการรักษาเร็วขึ้น อายุเฉลี่ยที่จะเข้ารับการรักษาก็จะน้อยลง ปัญหาเรื่องเด็กผิดปกติ พิการก็น้อยลง ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ก็น้อยลง และติดหรือท้องง่ายกว่าด้วย กลายเป็นประหยัดค่าใช้จ่าย” ศ.นพ.กำธรกล่าว

เมื่อถามถึงการใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 อุ้มบุญให้กับครอบครัวหลากหลายทางเพศที่มีความพร้อม ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า กฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์ทำให้คนไข้ที่มีความพร้อมตั้งครรภ์ได้อย่างมีคุณภาพ ในสถานพยาบาลที่ผ่านการตรวจสอบรับรอง กรณีที่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สามารถเข้าสู่ระบบเพื่อให้มีการตั้งครรภ์แทนได้ ส่วนกรณีครอบครัวหลากหลายทางเพศนั้น ใน พ.ร.บ.กำหนดว่าจะต้องดำเนินการในคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ระบุเพศ แต่กฎหมายสมรสในไทยยังไม่ครอบคลุมเพศหลากหลาย หากอนาคตปรับปรุงกฎหมายคู่สมรสว่าไม่จำเป็นต้องเป็นหญิงชายแล้ว คู่สมรสหลากหลายทางเพศก็ใช้กฎหมายฉบับนี้ช่วยการมีบุตรได้

ถามว่าควรจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ก่อนที่กฎหมายคู่สมรสจะแก้ไขยอมรับการสมรสของกลุ่มหลากหลายทางเพศหรือไม่ ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า อาจไม่จำเป็นต้องแก้ไขพ.ร.บ.นี้ ถ้าหากยังคงแนวคิดให้ดำเนินการในคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย ยกเว้นจะเป็นแนวคิดอีกแบบ ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างหลายฝ่ายถึงข้อดีและข้อเสีย ซึ่งในทางการแพทย์ที่จะใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ถ้าเกิดกับคนไข้ที่อาจจะไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยกระบวนการอื่น แต่ปัญหาใหญ่ในเรื่องของมิติทางสังคม เป็นประเด็นที่ต้องมองและรับฟังความคิดเห็นหลายๆฝ่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น