xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.รับลูกดันสิทธิรักษา "มีบุตรยาก" รอรายละเอียดหัตถการ แต่ยังยกเว้นอุ้มบุญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช.รับลูกเตรียมดันชุดสิทธิประโยชน์ "รักษามีบุตรยาก" รอราชวิทยาลัยสูติฯ และกรมอนามัย ทำรายละเอียดการรักษามีอะไรบ้าง ค่าใช้จ่าย พร้อมผลศึกษาความคุ้มค่า เพื่อจัดทำชุดสิทธิประโยชน์และหางบประมาณรองรับ คาดใช้เวลาไม่นานสรุปได้ แต่ยังยกเว้นอุ้มบุญ

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการจัดชุดสิทธิประโยชน์รักษาภาวะมีบุตรยาก เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเด็กไทยเกิดน้อย ว่า ขณะนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันเรื่องการวางมาตรการส่งเสริมการเกิด อย่างการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งบอร์ด สปสช. มีมติเมื่อ พ.ย.2564 ออกประกาศขอบเขตบริการใหม่หรือสิทธิประโยชน์ใหม่ โดยเพิ่มบริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากสามารถเบิกจ่ายได้ แต่ยังยกเว้นกรณีตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและกรมอนามัย ส่งรายละเอียดว่าจะให้การรักษาครอบคลุมอะไรบ้าง สเต็ปแรกต้องเอาตรงนี้ให้ชัดเจนก่อน เพื่อที่ สปสช.จะได้พิจารณาว่าจะบรรจุในสิทธิประโยชน์อย่างไร มีค่าใช้จ่ายเท่าไร เตรียมงบจากที่ไหนมารองรับ รวมถึงประมาณการณ์ผู้เข้ารับการรักษา เป็นต้น และจัดหางบประมาณมาสนับสนุนต่อไป

ถามว่าหากจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยตั้งครรภ์ ต้องมีการนำร่องก่อนหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ยังไม่ทราบว่ามีอะไรบ้าง อาจจะเป็นเรื่องการปรึกษาก่อน หากแพทย์ระบุว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งเราไม่รู้ว่ามีกี่แบบ เบื้องต้นเห็นในเอกสารประกอบการประชุมมีการยกตัวอย่าง IVF เด็กหลอดแก้ว แต่ก็ต้องมาดู จึงต้องมีคณะกรรมการขึ้นมากำหนดรายการให้ชัด ซึ่งคาดว่าการพิจารณาคัดเลือกของ สปสช.จะใช้เวลาไม่นาน หากส่งรายการเข้ามาถึงเราแล้ว โดยหากเป็นเทคโนโลยีที่เคยกันอยู่ มีการศึกษาความคุ้มค่าไว้แล้วก็ไม่นาน แต่หากเป็นเทคโนโลยีใหม่อาจจะต้องใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะหากเสนอเข้ามาช่วงงบกลางปีก็ต้องไปดูว่าจะหาเงินจากที่ไหนได้บ้าง

“ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าปัญหาเด็กเกิดน้อยเป็นวิกฤตที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันมีมาตรการกระตุ้นการเกิด แต่คนก็ยังเข้าใจผิดว่า ที่ สปสช.แจกยาคุมกำเนิด แจกถุงยางอนามัยเป็นการควบคุมการเกิดนั้นไม่ใช่เลย นั่นคือกรณีผู้ที่ไม่พร้อม ปัจจุบันเราทำ 2 ขา คือคนที่ไม่พร้อมมีบุตรต้องเข้าถึงการคุมกำเนิด ส่วนคนที่พร้อมมีบุตร แต่มีบุตรยากก็ต้องได้รับสิทธิในการรักษา เริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษา ทำหัตถการต่างๆ ซึ่งเราก็รับลูกมาเพื่อดูว่าจะขยายสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าจะประกาศได้คงใช้เวลาไม่นานหากเร่งส่งเรื่องเข้ามาที่ สปสช.” นพ.จเด็จ กล่าวและว่า ตั้งแต่ปี 2545 มีข้อมูลประชาชนเข้ารับการปรึกษา รักษาภาวะมีบุตรยากน้อยมาก เพราะการรับรู้ ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีประชาชนสนใจและเริ่มสอบถามเข้ามามากขึ้น วันนี้ยังไม่รู้ว่ามีความต้องการจำนวนเท่าไร

ถามถึงการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ครอบครัวผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถมีบุตรได้ หากสำเร็จ สปสช.พร้อมบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ด้วยหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ต้องรอดูก่อนว่าหากเพศเดียวกันแต่งงานกันจะทำให้มีบุตรนั้นจะต้องมาอยู่ในสิทธิประโยชน์ได้อย่างไร ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะตอบ เพราะกฎหมายก็ยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น