xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เล็งจัดระบบรักษามีลูกยาก ให้คำปรึกษาได้ตั้งแต่ รพ.สต. ฉีดน้ำเชื้อ รพ.จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เล็งจัดระบบรักษามีลูกยาก ให้คำปรึกษาได้ตั้งแต่ รพ.สต. ส่วน รพ.ชุมชนเน้นตรวจคัดกรอง รพ.จังหวัดทำหัตถการฉีดน้ำเชื้อ หากต้องใช้เทคโนโลยีส่งต่อไประดับเขต หวังลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึง ชี้สิทธิบัตรทองครอบคลุมอยู่แล้ว แค่ยังไม่มีระบบเชื่อมโยง หวังช่วยลดปัญหาเด็กเกิดน้อย

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีปัญหาอัตราการเกิดของประเทศไทยลดลง ว่า ขณะนี้เด็กเกิดน้อยลงเรื่อย ๆ อยู่ระหว่าง 5.6-5.8 แสนราย อัตราการเจริญพันธุ์รวมเพียง 1.24 ทั้งที่ควรอยู่ที่ 1.6 ขณะที่ปัจจุบันเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดย 1 ใน 5 ของประชากรเป็นผู้สูงอายุหรือ 12 ล้านคน อีกไม่กี่ปีจะเป็น 1 ใน 4 ของประชากร นอกจากนี้ แม้คนมีอายุยืนขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตถือว่าสูง ซึ่งกราฟเด็กเกิดน้อยและการเสียชีวิตที่มากขึ้นกำลังจะมาตัดกัน ถือว่าน่ากังวล 10 – 20 ปีข้างหน้าหากไม่ทำอะไรเลย วัยทำงานที่จะอุ้มชูสังคม เด็ก และผู้สูงอายุจะน้อยลงมาก ประชากรของประเทศอาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง ดังนั้นรัฐต้องถือเป็นวาระสำคัญของชาติ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องการปรับโครงสร้างประชากรของประเทศที่ต้องดำเนินโครงการต่อเนื่องเป็น 10-20 ปี ไปพร้อมกันทั้งมาตรการสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง ซึ่งระยะแรกต้องชะลออัตราการเกิดน้อยให้ได้ก่อน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า คนอยากมีลูก แต่อยากให้มีการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมด้วย มีสถานรับเลี้ยงเด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ เข้าถึงบริการให้คำปรึกษา รักษาภาวะมีบุตรยาก

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์เมื่อวันที่ 24 ม.ค. มีมติมากมายในการแก้ไขปัญหา ล่าสุดได้เสนอในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เรื่องการตรวจความพร้อมการจัดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากและส่งเสริมให้ถูกกลุ่มถูกคน โดยจัดระบบให้ รพ.สต.ให้คำปรึกษาได้ รพ.ชุมชนตรวจสุขภาพคัดกรองเบื้องต้นได้ และ รพ.จังหวัดที่มีสูตินรีแพทย์ ทำหัตถการฉีดน้ำเชื้อต่างๆ ส่วนการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำกิฟต์ IVF เป็นต้น ให้ดำเนินการในระดับเขตสุขภาพ โดยใช้การส่งต่อ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่แค่คนรวยถึงจะเข้าถึง ซึ่งเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นตามมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 1 พ.ย. 2564 ระบุว่าบริการให้คำปรึกษาการรักษาเบื้องต้น การตรวจโรคที่เป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก และรักษา รวมถึงการฉีดน้ำเชื้ออยู่ในชุดสิทธิประโยชน์แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบ

"ส่วนเรื่องการใช้เทคโนโลยีช่วยมีบุตรมีการพูดคุยกันระหว่างราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สปสช. พิจารณาและเห็นพ้องต้องกันในการให้สิทธิ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาต้นทุนหลายมิติ และประเมินความคุ้มค่า เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงต้นอาจจะจัดเป็นระบบส่งต่อ" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า จากข้อมูลพบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะมีลูก แต่มีความยากลำบากที่จะมีได้ โดยกว่า 80% สามารถแก้ไขได้ในระดับของการให้คำปรึกษา วางแผน การนับช่วงเวลาตกไข่ การให้ยากระตุ้นการตกไข่ และการฉีดน้ำเชื้อ ส่วนอีก 20% ยังต้องมีการประเมินเป็นรายๆ เพื่อเข้ารับการใช้เทคโนโลยี แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ใช้เทคโนโลยีเพียง 104 แห่งทั่วประเทศ อยู่ในกทม. 71 แห่ง ภูมิภาค 33 แห่ง โดยเป็นสถานพยาบาลของรัฐเพียง 15 แห่ง หรือ 14.5% ที่เหลือเป็นสถานพยาบาลเอกชน ขณะที่คนพร้อมมีลูกและเข้าไม่ถึงบริการ จึงเสนอที่ประชุมเห็นชอบเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก เตรียมกรอบอัตรากำลังคนเพิ่มเติม

“การมีบุตรยากเป็นภาระโรค สิทธิด้านการอนามัยเจริญพันธุ์เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ICPD การรักษา จึงเป็นการคืนสิทธิการเข้าถึงบริการการตั้งครรภ์คุณภาพ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกบัญญัติว่าเป็นโรคและความพิการชนิดหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต ถึงจะสามารถลงรหัสโรคได้ ไม่อย่างนั้นก็จะมีผลทำให้ไม่สามารถเบิกค่ารักษาส่วนนี้ได้ ตอนนี้จึงต้องลงว่าเป็นโรคก่อน แล้วไปตกลงกับ 3 กองทุน เรื่องการเบิกจ่าย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น