xs
xsm
sm
md
lg

คลัสเตอร์ “ตลาด” กระจายกว่า 20 จว. เผย 5 จุดเสี่ยงทำติดโควิด ย้ำทำแผนเผชิญเหตุ ลดปิดเกินจำเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัยห่วงพบคลัสเตอร์โควิดใน ตลาด” สูงกว่าคลัสเตอร์อื่น พบแล้วกว่า 20 จังหวัด เผย 5 จัดเสี่ยงทำแพร่เชื้อในตลาด ทั้งเงิน ผัก เนื้อสัตว์ ถุงพลาสติก ไม่เว้นระยะห่าง เน้นย้ำทำแผนเผชิญเหตุ จะได้ไม่ต้องปิดตลาดเกินความจำเป็น เสี่ยงผู้ค้านำเชื้อไปแพร่จุดอื่น พร้อมหนุนจ่ายเงินผ่านแอปฯ

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวถึงการติดเชื้อโควิด-19 ในตลาด ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา เริ่มพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ในตลาดมากขึ้น ซึ่งพบการกระจายมากกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งพื้นที่สีส้ม สีเหลือง และนำร่องท่องเที่ยว โดยพบแนวโน้มติดเชื้อในตลาดสูงกว่าสถานที่อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จึงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อในตลาดลดลง สาเหตุการติดเชื้อ คือ การมองข้ามจุดเสี่ยงเล็กๆ ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ คือ การสัมผัสธนบัตรและเศษเหรียญ ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ ถุงพลาสติกใส่ของ และไม่เว้นระยะห่าง ดังนั้น หากทุกคนล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งต่างๆ จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิดลง ขณะใช้บริการหรือทำงานในตลาดสวมหน้ากากตลอดเวลาด้วย และขอให้ผู้ประกอบการตลาดสด ตลาดนัด และริมบาทวิถี ยึดตามหลัก COVID Free Setting


จากการประเมินผลมาตรการที่ดำเนินการมากที่สุด คือ ทำความสะอาดแผงจำหน่ายอาหารทุกวัน รองลงมา ล้างตลาดหลักสุขาภิบาล 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จัดระบายอากาศเพียงพอ กำกับปฏิบัติตามมาตรการ กำหนดทางเข้าออกและจุดคัดกรอง และมีทะเบียนแผงค้าผู้ขาย ส่วนที่ยังดำเนินการไม่ดี คือ การคัดกรองความเสี่ยงผู้รับบริการ ผู้รับผิดชอบติดตามไทม์ไลน์ผู้ขายทุกราย และจัดพนักงานควบคุม เรื่องการจำกัดจำนวนคนไม่เกิน 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร หรือเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และการเลือดวิธีชำระเงินด้วยแอปพลิเคชันเพื่อลดการสัมผัส ซึ่งขณะนี้มีคนละครึ่งการใช้แอปพลิเคชันจ่ายเงินก็จะช่วยลดการสัมผัสระหว่างการ ผู้ประกอบการที่ยังดำเนินการไม่ผ่านเกณฑืขอให้ดำเนินการพัฒนาให้ผ่านมากขึ้น

ส่วนการสำรวจอนามัยโพลผู้ไปใช้ตลาดตั้งแต่วันที่ 1-7 ก.พ. 2565 มากกว่า 7 พันคน พบว่า เห็นคนไปใช้ตลาดสวมหน้ากากถูกต้อง 81% แต่ที่ต้องสื่อสารคือ ส่วนหนึ่งยังสวมหน้ากากไม่ถูกต้อง 19% ส่วนปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ทำได้ดีกว่า 78% คือ กำหนดจุดเข้าออก วัดอุณหภูมิ รองลงมากำหนดจุดบริการล้างมือเพียงพอ ประชาสัมพันธ์ให้คนทำงานหรือไปใช้บริการใส่หน้ากากตลาด ส่วนที่ต้องปรับปรุงทำได้น้อยกว่า 20% คือ ตลาดประเมินและติดใบประกาศ COVID Free Setting จัดภาชนะรองรับขยะไม่เพียงพอ และยังไม่คุมจำนวนผู้เข้าใช้บริการ

“ขอให้ตลาดจัดทำแผนเผชิญเหตุ เพราะตลาดมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อ รวมถึงมีการซักซ้อมแผนผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เราสามารถปิดในจุดที่ต้องปิด ไม่ปิดเกินจำเป็น เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ขายและกิจการ การปิดเกินจำเป็นทำให้ผู้ที่สัมผัสเสี่ยง อาจกระจายตัวไปยังตลาดหรือพืนที่อื่นได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว


นายเก่งกาจ คุปต์อัครภิญโญ ผู้แทนสมาคมตลาดสดไทย กล่าวว่า 10 ข้อแนะนำตลาดป้องกันโควิด-19 คือ 1. มีจุดคัดกรองและประชาสัมพันธ์ป้องกันโควิด 2. มีจุดบริการล้างมือและแอลกอฮอล์เจล 3. สวมหน้ากากทั้งผู้ซื้อผู้ขาย 4. ผู้ขายสวมผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผม หากเจ็บป่วยให้หยุดและพบแพทย์ทันที 5. เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร 6. ทำความสะอาดแผงจำหน่ายอาหารสดและมีการจัดการขยะ 7. ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม และจุดสัมผัสร่วมสม่ำเสมอ 8. อาหารสดจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมตามประเภทอาหาร 9. อาหารปรุงสำเร็จมีการปกปิด ใช้อุปกรณ์หยิบจับ วางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม. และ 10. ผู้ซื้อวางแผนในการเลือกซื้อ ลดระยะเวลาอยู่ในตลาดนาน รีบซื้อรีบกลับ ซึ่งเราเน้นประชาสัมพันธ์ให้ตลาดต่างๆ ดำเนินการตามนี้ โดยเฉพาะด้านการจัดสิ่งแวดล้อมให้มีการระบายอากาศ จำกัดทางเข้าออก มีจุดคัดกรอง มีเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจอุณหภูมิ ผู้ขายผู้ซื้อดำเนินการตามมาตรการ

“เรามีการเฝ้าระวังเชิงรุก ตรวสอบผู้ค้า ทำความสะอาดสม่ำเสมอ และรุกฉีดวัคซีนเข็มสาม มีการวางแผนเผชิญเหตุเมื่อมีการติดเชื้อในตลาด หากพบเจอจากการตรวจเชิงรุก มีการทำความสะอาดแผงค้า กักตัวผู้ที่พบเชื้อ แจ้งหน่วยงานราชการ ระดับที่เสี่ยงมากอาจจะต้องปิดเพื่อล้างตลาดตามมาตรการ และเน้นย้ำว่า สมาคมตลาดสดไทย พยายามดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting และขอเชิญชวนบางตลาดที่ขาดความรู้ ข้อมูล หรือทำยังไม่ดีพอ ขอให้ร่วมกันป้องกันโควิดตามแนวทางที่ขอความร่วมมือ” นายเก่งกาจ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น