กรมอนามัยสำรวจพบ 47% ประชาชนรู้สึกหลังปีใหม่สถานการณ์โควิดจะรุนแรงกว่าเดิม มาตรการทำได้น้อยคือ งดโดยสารสาธารณะ เผย 4 จุดเสี่ยงทำติดเชื้อบนรถสาธารณะได้ เน้นย้ำทำตาม COVID Free Setting เปิดระบายอากาศ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ห่วงร้านอาหารยังติดเชื้อสูง
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวผลสำรวจสถานการณ์โควิดหลังปีใหม่ ว่า จากผลสำรวจอนามัยโพลเรื่องความรู้สึกต่อสถานการณ์การระบาดหลังปีใหม่ ช่วง ม.ค.2565 จากผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 2.7 หมื่นคน พบว่า 47 % คิดว่าสถานการณ์หลังปีใหม่จะรุนแรงกว่าเดิม เหตุผลคือยังพบผู้ป่วยมากขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น เช่น ต้องทำงานที่บ้าน เรียนออนไลน์ รายได้ลดลง ตกงาน กลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรง ส่วน 27% เห็นว่าสถานการณ์รุนแรงน้อยกว่าเดิมหรือดีขึ้น เพราะฉีดวัคซีนแล้ว มีการปฏิบัติป้องกันตนเอง เชื้อสายพันธุ์ใหม่อาการไม่รุนแรง ปรับตัวได้ และ 26% เห็นว่าไม่แตกต่าง
ส่วนมาตรการที่คิดว่าทำได้อย่างดี คือ มากกว่า 70% คือ การงดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท งดร่วมกิจกรรมรวมกลุ่ม ส่วนมาตรการที่ทำได้ยาก หรือทำได้น้อยกว่า 50% คือ งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท และงดไปต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะต้องทำตามมาตรการความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้ใช้บริการป้องกันตนเองสูงสุดเช่นกัน นอกจากนี้ ที่ สธ.ห่วงใยเป็นพิเศษคือกิจกรรมในร้านอาหาร เพราะตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. ที่ ศบค.ขยายเวลาดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารไม่เกิน 23.0 น. ในพื้นที่ควบคุมสูงและจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ในร้านอาหารที่ได้รับ SHA+ โดยต้องทำตามมาตรการ COVID Free Setting เพราะระยะหลังข้อมูลการสอบสวนโรคที่พบเป็นคลัสเตอร์ คือ ร้านอาหารที่ปรับมาจากสถานบันเทิงพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนมากที่สุด รองลงมาคืองานเลี้ยงสรรค์ และงานพิธีกรรมทางศาสนาที่รวมกลุ่มคน
นางนภพรรณ นันทพงษ์ ผอ.สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อจากขนส่งสาธารณะ คือ 1.จุดสัมผัสร่วม เช่น ราวจับ ลูกบิด โต๊ะเก้าอี้ 2.ความแออัดของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนที่ใช้กันมากจึงหนาแน่น 3.ระบบระบายอากาศแบบปิดที่เป็นเครื่องปรับอากาศ และ 4.ระยะเวลาที่ใช้ หากเดินทางสั้นก็เสี่ยงน้อย หากไกลใช้เวลานาน ก็เพิ่มความเสี่ยง กรมอนามัยกำหนดมาตรฐานขนส่งสาธารณะทุกประเภทด้วยมาตรการ COVID Free Setting 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม ผู้ให้บริการ และผู้โดยสาร โดยผู้โดยสารหากมีความเสี่ยง มีอาการไข้ ไอ เหนื่อยหอบ ขอให้งดใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัย พกแอลกอฮอล์ล้างมือ รักษาระยะห่าง งดพูดคุยพื้นที่แออัด คนมีโรคประจำตัวอาจจะต้องพกยาระหว่างเดินทาง
ส่วนพนักงานหากเจ็บป่วยไม่ควรมาปฏิบัติงาน ปรึกษาแพทย์ ทุกครั้งที่ทำงานประเมินไทยเซฟไทย จัดอุปกรณ์วัดไข้ สเปรย์แอลกอฮอล์บริการ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุกครั้งก่อนและหลังบริการ เช่น เบาะที่นั่ง ประตู ราวจับ พิจารณาจำนวนบุคคลตามสภาพการรองรับยานพาหนะ และต้องรับวัคซีนครบถ้วน ทั้งผู้เดินทางผู้ให้บริการ สำหรับสถานีขนส่งและยานพาหนะต้องเปิดระบายอากาศ ทั้งประเภทรางอย่างรถไฟฟ้า ซึ่งแต่ละช่วงเปิดประตูเข้าออกอยู่แล้ว แต่ปลายทางต้องเปิดระบายอากาศและทำความสะอาด รถโดยสารสาธารณะ เมื่อจอดพักหรือปรับเปลี่ยนผู้โดยสารทำความสะอาดระบายอากาศ หรือประเภทเดินทางไกลแวะพักทุก 2-3 ชั่วโมงเพื่อระบายอากาศ เลี่ยงงดให้บริการอาหาร ให้รับประทานอาหารระหว่างจุดพักแทน หากมีเครื่องนอนต้องเปลี่ยนทุกรอบ ไม่ใช้ซ้ำ รวบรวมขยะเก็บใส่ถุง นำไปกำจัดให้เหมาะสม
ด้านนายสมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ ผอ.สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กล่าวว่า ตลาดสดและร้านอาหารเป็นพื้นที่ที่ยังพบการติดเชื้อ โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ ตรุษจีนที่ผ่านมาที่มีการเฉลิมฉลอง จุดเสี่ยงของร้านอาหารคือระบบระบายอากาศโดยเฉพาะร้านที่เป็นระบบปิด จึงเน้นย้ำเรื่อง COVID Free setting ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องป้องกันตนเองสูงสุด ฉีดวัคซีนให้ครบ เฝ้าระวังด้วยการตรวจ ATK และตรวจคัดกรองความเสี่ยงผ่านระบบต่างๆ และการป้องกันตนเองเป็นสิ่งสำคัญ
ส่วนผลสำรวจอนามัยโพลเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของร้านอาหาร พบมาตรการที่ทำได้ดีคือ ทำความสะอาดโต๊ะที่นั่งทันทีก่อน-หลังใช้บริการ 70.4% มีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการประจำโต๊ะ 64.5% เว้นระยะห่าง 1-2 เมตรและไม่นั่งตรงข้ามกันหรือมีฉากกั้น 54.1% ส่วนมาตรการที่ควรปรับปรุงเนื่องจากทำได้น้อยคือ ติดใบประกาศ COVID Free setting หรือ Thai Stop COVID 2 Pius 22.9% พนักงานแยกกันกินอาหารไม่รวมกลุ่ม 19.8% จำกัดเวลากินไม่เกิน 2 ชม.18.39% นอกจากนี้ กิจกรรมในร้านอาหารที่ประชาชนยังพบเห็นได้แก่ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน 23.3% ไม่ได้ตรวจการฉีดวัคซีน/คัดกรองลูกค้าก่อนเข้า 18.7% มีลูกค้านั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน 18.5% ปรับจากสถานบันเทิงผับบาร์มาเปิดเป็นร้านอาหาร 12.1% มีพนักงานบริการนั่งดื่มกับลูกค้า/ให้บริการสัมผัสลูกค้าใกล้ชิด 6.9% มีการแสดงดนตรีสดร้องเต้นตะโกน 6.5% จับกลุ่มเต้นหน้าเวทีหรือที่โต๊ะอาหาร 4.9% และ ความเสี่ยงอื่นๆ เช่นรวมกลุ่มกัน คนเมา พนักงานไม่ปฏิบัติตามมาตรการ
สำหรับการประเมินตนเองตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับร้านอาหาร COVID Free setting ข้อมูลวันที่ 2 พ.ย.64-31 ม.ค.65 มีสถานประกอบการลงทะเบียน 21,477 แห่ง ผ่านประเมิน 20.833 แห่ง ยังไม่ผ่าน 644 แห่ง มาตรการที่ยังไม่ได้ดำเนินการมากที่สุดคือ จำกัดระยะเวลาการนั่งกินไม่เกิน 2 ชม. ร้านที่มีเครื่องปรับอากาศต้องตรวจเอกสารการฉีดวัคซีน และไม่มีกิจกรรมส่งเสริมการขายเช่นการชิม/การเชียร์ลูกค้า ฝากเน้นย้ำทั้งผู้ประกอบการ พนักงาน ประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆอย่างเคร่งครัดให้มากที่สุด