สถานการณ์ขยะมูลฝอยในรอบปี 2564 พบมีปริมาณ 24.98 ล้านตัน ลดลงจากรอบปีก่อนหน้า ร้อยละ 1 โดยขยะมูลฝอยมีการคัดแยก ณ ต้นทาง และนำกลับไปใช้ประโยชน์ จำนวน 8.61 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 กำจัดอย่างถูกต้อง 9.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และกำจัดไม่ถูกต้องประมาณ 6.69 ล้านตัน ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 15
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยลดลงเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีการควบคุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันมีมาตรการกำหนดให้ปฏิบัติงาน Work From Home การสั่งอาหารผ่านระบบบริการส่งอาหาร (Food Delivery) ส่งผลให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single use plastic) เพิ่มขึ้น เช่น กล่องโฟม กล่องพลาสติกใส่อาหาร ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อน-เย็น ถุงเครื่องปรุง ช้อน ส้อม มีดพลาสติก แก้วพลาสติก จากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และ Platform ของผู้ให้บริการส่งอาหาร เช่น Grab Food, Line Man, Wongnai, Gojek, Food Panda, Lalamove เป็นต้น
ด้านการจัดการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและขยะพลาสติก มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) เช่น โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) ที่กำหนดให้นำพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์อย่างน้อย ร้อยละ 50 กำหนดอัตราค่าบริการกำจัดขยะมูลฝอย ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จัดทำแนวทางการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเลิกใช้พลาสติกเพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำร่างประกาศ 5 ฉบับ
ขยะติดเชื้อ ขยะอันตรายกลับเพิ่มขึ้น
นายอรรถพล กล่าวว่า ขยะมูลฝอยติดเชื้อ ในรอบปี 2564 มีปริมาณ 90,009.23 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 87 โดยเกิดจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงอื่น โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน สถานพยาบาลสัตว์ ห้องปฏิบัติการเชื้ออันตรายรวมไปถึงมูลฝอยติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากโรงพยาบาลสนาม สถานกักกันที่ราชการกำหนด ศูนย์แยกกักในชุมชน (CI) การแยกกักตัวที่บ้าน (HI) และสถานที่อื่นๆ โดยได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 81,774.67 ตัน (ร้อยละ 90.85) การจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ได้แก่ พัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการมูลฝอยติดเชื้อตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน พัฒนาและขับเคลื่อนมาตรฐานการจัดการมูลฝอยติดเชื้อและระบบควบคุมกำกับการขนมูลฝอยติดเชื้อ (Manifest system) พัฒนางานวิชาการ มาตรฐาน และงานวิจัยด้านการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ (กรมอนามัย, 2564) ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำข้อแนะนำในการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว และชุดทดสอบแอนติเจน (ATK) ที่ใช้แล้ว โดยให้มีการคัดแยกออกจากขยะทั่วไป และให้มีถังขยะแยกสำหรับทิ้งขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ
ส่วนของเสียอันตรายจากชุมชน ปี 2564 เกิดขึ้นประมาณ 669,518 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 1.6 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 435,187 ตัน (ร้อยละ 65) และของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ประมาณ 234,331 ตัน (ร้อยละ 35) แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากปัจจุบันประชาชนมีความต้องการและนิยมใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ส่งผลให้มีการเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ่อยขึ้นเพื่อให้ทันสมัย โดยแนวทางการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน เพิ่มจุดรับ (Drop Point) ของเสียอันตรายชุมชนในระดับชุมชนและระดับจังหวัด สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการบริหารจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน และผลักดันการออกร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... จัดทำรูปแบบ หลักเกณฑ์มาตรฐานการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนที่ชัดเจนให้สอดคล้องกับรูปแบบ อปท. และลักษณะการจัดการขยะอื่นๆ