xs
xsm
sm
md
lg

วัคซีนเข็มกระตุ้น ฉีดเลยดีไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อโควิด-19 ยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน วัคซีนจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนให้ความสนใจ และยิ่งไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนพุ่งเป้าความสนใจไปที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากขึ้น วันนี้ เรามาทำความรู้จักกันว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นคืออะไร และจำเป็นแค่ไหน

วัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ Booster Dose คือ การฉีดวัคซีนกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนชุดแรกแล้ว เนื่องจากเมื่อระยะเวลาผ่านไป ระดับภูมิคุ้มจากวัคซีนชุดแรกจะค่อยๆ ลดลง ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล ซึ่งรุนแรงและติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้วัคซีนที่ได้รับมาก่อนหน้านี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า เข็ม 3 จึงมีความสำคัญ

ภก.ดร.นรภัทร ปีสิริกานต์ รักษาการผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม อธิบายว่า แม้องค์การอนามัยโลกได้ขอให้ชะลอการฉีดเข็มกระตุ้นออกไป เพื่อกระจายวัคซีนเข็มแรกให้ทั่วถึงครอบคลุมประชากรทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่ยากจนให้มากที่สุดก่อน แต่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งประเทศไทยเอง ได้เริ่มฉีดเข็ม 3 แล้ว เนื่องจากมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน 2 เข็ม “เอาไม่อยู่” แล้ว

ใครบ้างที่ควรฉีดเข็ม 3 ก่อน

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโมเดอร์น่าเป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่อายุ 18-64 ปีที่มีความเสี่ยงสูงในการติดโควิดจากการทำงาน ส่วนวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สามารถให้เข็มที่สองเพื่อฉีดเป็นเข็มกระตุ้นได้ในผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปี หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก 2 เดือน เพิ่มเติมจากการใช้วัคซีนไฟเซอร์ที่อนุมัติเป็นเข็มกระตุ้นโดยองค์การอาหารและยาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยวัคซีนเข็มกระตุ้นทั้งสาม (หมายถึง วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, ไฟเซอร์ และโมเดอร์น่า) ยังสามารถใช้ต่างชนิดกับการได้รับวัคซีนชุดแรก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเป็นเข็มแรกสามารถเลือกรับ mRNA ตัวใดตัวหนึ่งเป็นเข็มกระตุ้นก็ได้
สำหรับในประเทศไทย นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าแล้ว กลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว 8 โรค กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาการสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง กลุ่มนี้ควรเป็นกลุ่มแรกที่พิจารณารับวัคซีนเข็มกระตุ้น
ภก. ดร.นรภัทร แนะนำว่า ในขณะที่การแพร่ระบาดยังคงรุนแรงอยู่ในประเทศไทย และหากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มนานกว่า 3-6 เดือนแล้ว โดยเฉพาะวัคซีนประเภทเชื้อตาย ควรรับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลทันที ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิด Viral Vector เช่น แอสตร้าเซเนก้า หรือชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดอยู่ และการได้รับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันยังเป็นวิธีที่จะช่วยให้การควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
สำหรับคำแนะนำในผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าครบ 2 เข็มแล้ว แม้ภูมิคุ้มกันจะยังคงสูงต่อเนื่องไปอีกประมาณ 6 เดือน แต่หลังจากนั้นจึงควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเช่นกัน ดังนั้น คนที่จองโมเดอร์น่าไว้แล้ว ก็สามารถเก็บสิทธิไว้ได้ และฉีดเป็นเข็มกระตุ้นเมื่อครบกำหนดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นไป ถึงแม้วัคซีนที่จองไว้จะยังเป็นเจนเนอเรชั่นแรก แต่จากการศึกษาการใช้วัคซีนในประชากรจำนวนมากในต่างประเทศพบว่า วัคซีนชนิด mRNA ยังมีประสิทธิภาพดีในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า โดยควบคุมการติดเชื้อที่สูงในระดับหนึ่ง แม้ว่าประสิทธิภาพจะลดลงบ้างก็ตาม

คำถามคาใจ ควรรอ Variant-Specific Vaccines หรือไม่

สำหรับกลุ่มที่เพิ่งได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ครบ 2 เข็มไปหยก ๆ ซึ่งยังไม่ได้มีความจำเป็นต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้นในตอนนี้ แต่ได้จองวัคซีนโมเดอร์น่าไว้ จึงอาจกำลังชั่งใจว่าจะทำอย่างไรดี ควรรอ Variant-Specific Vaccines และโอนสิทธิให้คนอื่นไหม
 
วัคซีนเจเนอเรชั่นแรกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น พัฒนาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากมณฑลหวู่ฮั่น และอาจมีผลป้องกันลดลงได้ในอนาคต ส่วน Variant-Specific Vaccines นั้น ถูกพัฒนาให้ครอบคลุมไวรัสสายพันธุ์ใหม่แต่ละสายพันธุ์ได้อย่างเจาะจง ซึ่งผู้ผลิตวัคซีนส่วนมากกำลังเร่งพัฒนาวัคซีน Variant-Specific Vaccines อยู่ แต่กว่าจะได้เห็น คงต้องกลางปี 2565 ไปแล้ว

จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยกรมควบคุมโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา ในอาสาสมัครที่เป็นผู้ที่เข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ จำนวน 32,867 คน จาก 9 รัฐ ระหว่างเดือน มิถุนายน – สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่สายพันธุ์เดลต้าระบาดอย่างหนัก พบว่า ประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลของโมเดอร์น่าอยู่ที่ 95% ไฟเซอร์ 80% และในด้านการป้องกันอาการหนัก-ฉุกเฉิน โมเดอร์น่าป้องกันได้ 92% ขณะที่ไฟเซอร์ป้องกันได้ 77% ซึ่งโดยรวมแล้วชี้ให้เห็นว่า วัคซีนชนิด mRNA ทั้งคู่ต่างมีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม หากระยะเวลาการฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถได้รับวัคซีนเจเนอเรชั่นที่สองได้ ก็อาจจะพิจารณาเป็นกรณีๆไป


กำลังโหลดความคิดเห็น