ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 3,095 ราย ตัวเลขจากคลัสเตอร์เรือนจำ ทำให้ยอดสูงขึ้น แนวโน้มในเรือนจำพบผู้ป่วยเพิ่ม กทม.และปริมณฑล แนวโน้มไม่ลดลง ผู้ป่วยหนักและใช้ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นส่วนต่างจังหวัดการระบาดมีโอกาสลดลง เหยื่อโควิดปัจจัยเสี่ยงยังเป็นโรคประจำตัว ระยะครองเตียงนานถึง 29 วัน
วันนี้ (15 พ.ค.) เวลา 12.32 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,095 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อใหม่ 2,218 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 877 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 99,145 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 1,351 ราย สะสม 63,667 ราย กำลังรักษาอยู่ 34,913 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 21,579 ราย และโรงพยาบาลสนาม 13,334 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มเป็น 1,234 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 415 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 17 ราย รวมเสียชีวิต 535 คน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 3,095 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,403 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 812 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 877 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 3 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 17 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 8 ราย อายุน้อยสุด 41 ปี อายุมากสุด 83 ปี อยู่ใน กทม. 8 ราย สมุทรปราการ 3 ราย สมุทรสาคร 2 ราย ระยอง ชัยภูมิ ปทุมธานี ราชบุรี จังหวัดละ 1 ราย ส่วนมากมีโรคประจำตัว ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 คือ จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว บางรายนานถึง 2 สัปดาห์ ถึงเสียชีวิต และนานที่สุด 29 วัน
แนวโน้มการพบผู้ป่วยในเรือนจำยังคงมีพบผู้ป่วยเพิ่มเติม เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ภายนอกยังคงพบผู้ป่วยแนวโน้มทรงตัว แต่ยังสูง สำหรับการดูแลผู้ป่วยในเรือนจำยังคงเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ความสำคัญจึงอยู่ที่ในการรักษา ควรมีการดูแลเบ็ดเสร็จภายในเรือนจำ
10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 15 พ.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 1,163 ราย 2. ปทุมธานี 222 ราย 3. สมุทรปรการ 201 ราย 4. นนทบุรี 126 ราย 5. สมุทรสาคร 37 ราย 6. สุราษฎร์ธานี 34 ราย 7. ชลบุรี 33 ราย 8. นครปฐม 30 ราย 9. พระนครศรีอยุธยา 29 ราย 10. นครราชสีมา 24 ราย
ในส่วนของทั้งประเทศพื้นที่สีขาว 16 จังหวัด ตัวเลขเป็น 0 ไม่พบผู้ติดเชื้อ ได้แก่ ลำพูน, มหาสารคาม, สุรินทร์, ตราด, ตาก, กำแพงเพชร, ชุมพร, พะเยา, เลย, ชัยนาท, แม่ฮ่องสอน, หนองบัวลำภู, บึงกาฬ, อุทัยธานี และ สตูล
ผู้ติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑล รวมกัน 1,779 ราย แนวโน้มการระบาดของโรคไม่ลดลง ในจังหวัดอื่น มีแนวโน้มการระบาด ที่ลดลง ตอนนี้พบ 436 ราย ยังพบผู้ป่วยหนักและใช้ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น รวมถึงการครองเตียงผู้ป่วยอาการน้อย (Mild symptoms)โดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล สถานที่เสี่ยงมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ กทม. ชุมชนแออัด แคมป์ก่อสร้าง สถานประกอบการ (Call center) พื้นที่ปริมณฑล ตลาด โรงงาน และชุมชน ในต่างจังหวัด โรงงาน ชุมชน ครอบครัว ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อ สถานที่แออัด การทำกิจกรรมรวมกลุ่ม สถานประกอบการ/ที่ทำงาน และในครอบครัว
ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 70,282 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 54,523 ราย ตรวจพบจากการค้นหาคัดกรองเชิงรุก 11,521 ราย เรือนจำ/ที่ต้องขัง 3,895 เดินทางมาจากต่างประเทศ 343 ราย เสียชีวิตสะสม 471 ราย
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 162,525,588 ราย อาการรุนแรง 103,604 ราย รักษาหายแล้ว 140,387,173 ราย เสียชีวิต 3,371,049 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,664,013 ราย
2. อินเดีย จำนวน 24,372,243 ราย
3. บราซิล จำนวน 15,521,313 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,848,154 ราย
5. ตุรกี จำนวน 5,083,996 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 93 จำนวน 99,145 ราย