xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.เผยเหยื่อโควิดอายุน้อยสุด 15 ปี ระยะครองเตียงมากขึ้น กทม.- ปริมณฑล ป่วยมากกว่า ตจว. 3 เท่า แคมป์คนงานหลักสี่อัตราติดเชื้อสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค. เผยไทยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2,256 ราย กำลังรักษาอยู่ 33,186 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย โดยผู้เสียชีวิตวันนี้ใน กทม. 11 ราย และมีอายุน้อยสุด 15 ปี พิการทางสมอง ติดเตียง ระบุระยะครองเตียงนานขึ้น พบมากถึง 1 เดือนกว่า ส่วนผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑล มากกว่าต่างจังหวัด 3 เท่า เขตหลักสี่ พบแคมป์คนงานอัตราติดเชื้อมากสุด

วันนี้ (13 พ.ค.) เวลา 12.32 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,256 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อใหม่ 2,068 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 183 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 96,050 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 1,701 ราย สะสม 62,316 ราย กำลังรักษาอยู่ 33,186 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 20,669 ราย และโรงพยาบาลสนาม 12,517 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มเป็น 1,203 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 408 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย รวมเสียชีวิต 518 คน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,256 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,523 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 545 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 183 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 5 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 30 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 14 ราย อายุน้อยสุด 15 ปี (พิการทางสมอง ป่วยติดเตียง) อายุมากสุด 85 ปี อยู่ใน กทม. 11 ราย ราชบุรี 4 ราย ปทุมธานี สระแก้ว จังหวัดละ 2 ราย สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สุโขทัย มหาสารคาม เชียงราย สุพรรณบุรี นนทบุรี ร้อยเอ็ด พัทลุง สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย ส่วนมากมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 คือ จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว ระยะการครองเตียงยาวนานมากขึ้น ในผู้ป่วยหนัก, ใช้เครื่องช่วยหายใจ บางรายนานถึง 2 สัปดาห์ ถึงเสียชีวิต และพบสูงสุดเดือนกว่าๆ ในการครองเตียง

แนวโน้มการพบผู้ป่วยทั้งประเทศยังคงพบในอัตราที่สูงขึ้น ทั้งจากการค้าหาเชิงรุก ส่วนยอดพบผู้ป่วยในเรือนจำ ลดลงเหลือเพียงร้อยกว่าราย ใน กทม. ปริมณฑล ยังคงพบผู้ป่วยสูง

10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 14 พ.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 1,087 ราย 2. ปทุมธานี 157 ราย 3. นนทบุรี 131 ราย 4. สมุทรปราการ 121 ราย 5. ชลุบรี 64 ราย 6. ประจวบคีรีขันธ์ 52 ราย 7. สมุทรสาคร 46 ราย 8. ระยอง 33 ราย 9. พระนครศรีอยุธยา 29 ราย 10. นครราชสีมา 25 ราย

ในส่วนของทั้งประเทศพื้นที่สีขาว 16 จังหวัด ตัวเลขเป็น 0 ไม่พบผู้ติดเชื้อ ได้แก่ ลำพูน, ลพบุรี, สุรินทร์, ตราด, ตาก, น่าน, กาฬสินธุ์, พะเยา, เลย, ชัยนาท, หนองคาย, แม่ฮ่องสอน, หนองบัวลำภู, บึงกาฬ, อุทัยธานี และ สตูล

สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยอดรวม 1,563 ราย ต่างจังหวัด 505 ราย ซึ่ง กทม. และปริมณฑล มากถึง 3 เท่า มีจุดตรวจที่ชุมชนสีลม เชื่อมโยงกับกลุ่มคลัสเตอร์ใน จ.จันทบุรี พบเชื้อสูง 10.53% เขตวัฒนา พบในแคมป์คนงาน 2 แห่ง พบ 274 ราย 14.25% เขตคลองเตย ในชุมชนแออัดคลองเตย 3.83% เขตหลักสี่ พบในแคมป์คนงาน พบสะสม 141 ราย 21.99% เขตราชเทวี พบในกลุ่มคนทำงานบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง 17.30% พบกลุ่มใหม่ที่ประตูน้ำ ในที่ทำงานเช่นกัน 3.96% เขตพระนคร พบบริเวณปากคลองตลาด 5.58% เขตดุสิต บริเวณสี่แยกมหานาค ตลาดผลไม้ สะพานขาว และเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายคลองถม เสือป่า วงเวียน 22 ทั้ง 2 เขต พบ 3.52% เขตสวนหลวง พบในชุมชนโมราวรรณ 8.85% ส่วนเขตจตุจักร เป็นในเรือนจำ ซึ่งทางกรมควบคุมโรคเป็นผู้ดูแล

ส่วนพื้นที่เขตที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ คือ เขตปทุมวัน ชุมชนบ่อนไก่ ติดในชุมชน พบติดเชื้อ 131 ราย เขตสาทร บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ ติดเชื้อในที่ทำงาน ติดเชื้อสะสม 144 ราย เขตป้อมปราบฯ ชุมชนวัดโสมนัส ติดเชื้อจากชุมชน ทานอาหารร่วมกัน ติดเชื้อสะสม 68 ราย เขตสัมพันธวงศ์ ผู้ป่วยมาทำงานที่สำเพ็ง ติดเชื้อสะสม 81 ราย และเขตจตุจักร บริษัทรถทัวร์ มีการสัมผัสในที่ทำงาน ติดเชื้อสะสม 28 ราย


ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 67,187 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 53,120 ราย ตรวจพบจากการค้นหาคัดกรองเชิงรุก 10,709 ราย เรือนจำ/ที่ต้องขัง 3,018 เดินทางมาจากต่างประเทศ 340 ราย เสียชีวิตสะสม 454 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 161,824,477 ราย อาการรุนแรง 104,224 ราย รักษาหายแล้ว 139,622,052 ราย เสียชีวิต 3,358,513 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,626,097 ราย
2. อินเดีย จำนวน 24,046,120 ราย
3. บราซิล จำนวน 15,436,827 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,841,129 ราย
5. ตุรกี จำนวน 5,083,996 ราย

ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 94 จำนวน 96,050 ราย












กำลังโหลดความคิดเห็น