นักวิชาการอิสระ เผยเดินหน้าเตรียมทวงคืนโบราณวัตถุอีก 37 รายการ จากสหรัฐฯ คาดว่าน่าจะได้คืนกลับมาภายในปีนี้
หลังจากความสำเร็จของไทยในการทวงคืนโบราณวัตถุ 2 ขิ้น คือ ทับหลัง ปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว จาก Asian Art Museum, Chong Moon Lee ณ เมือง ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอรเนียร์ สหรัฐฯ โดยหน่วยงาน Homeland security investigation ฟ้องศาลชนะคดีและได้เข้ายึดทรัพย์ คือทับหลัง 2 ชิ้น จาก Asian Art Museum โดยสหรัฐฯ เตรียมส่งมอบคืนให้ไทยเร็วๆ นี้
ล่าสุดวันนี้ (7 เม.ย.) ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระและเป็นคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศและคณะอนุกรรมการด้านวิชาการเพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทย ในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการทวงคืนโบราณวัตถุดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการออนไลน์ กล่าวถึงการเดินหน้าเตรียมทวงคืนโบราณวัตถุอีก 37 รายการที่คาดว่าน่าจะได้คืนกลับมาภายในปีนี้
ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวว่า หลังการเข้าประชุมของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ตนได้มีโอกาสเสนอโบราณวัตถุทั้งหมดที่ได้รวบรวมและมีหลักฐานค่อนข้างจะชัดเพื่อการทวงคืน ประมาณ 25 รายการ
เมื่อถามว่า กรมศิลป์เสนอทวงคืน 130 รายการ คัดเหลือ 37 รายการ ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่า “แต่ในจำนวนนี้ยังมีโบราณวัตถุที่กรมศิลปกรทำขึ้นอีกชุดหนึ่ง 130 รายการ เขาทำขึ้นจากการสืบค้นเว็บไซต์ต่างๆ ที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ บางชิ้นที่มีหลักฐาน บางชิ้นไม่มีหลักฐาน และมีซ้ำซ้อนกับที่ผมทำเรื่องไปเสนอ จากนั้นคณะกรรมการชุดใหญ่ ก็เลยให้ตั้ง คณะอนุกรรมการด้านวิชาการเพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทย ในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ขึ้นมา ซึ่งผมอยู่ในอนุกรรมการชุดนี้ด้วย” ดร.ทนงศักดิ์ ระบุ
ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวว่า อนุกรรมการชุดดังกล่าวมีอธิบดีกรมศิลปากร เป็น ประธานและนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และจากกรมศิลปากร กลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เป็นอนุกรรมการฯ ผู้ร่วมพิจารณา โบราณวัตถุทั้ง 130 รายการ ให้ชัดเจนว่า ควรจะทวงคืนชิ้นไหนบ้าง ชิ้นไหน สำคัญ ไม่สำคัญอย่างไร แบ่งเป็น ประติมากรรมและโบราณวัตถุหลายๆ ด้าน
“กรมศิลปากรเสนอมา เราก็พิจารณาเป็นรายการๆ ไป อยู่ที่ว่า รายการไหน จะมีหลักฐานและความสำคัญตามประเภท แล้วเราก็มาแยกโบราณวัตถุที่ควรจะมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย โดยไม่มีใครคัดค้านว่ามันเป็นศิลปะที่มีกำเนิดจากต่างประเทศ อันไหนที่อนุกรรมการวิชาการฯมั่นใจ ก็รวบรวมหลักฐานให้คณะกรรมการชุดใหญ่ทวงคืน ซึ่งท้ายสุดที่ประชุมกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน ก็สรุปว่ามีรายการโบราณวัตถุที่จะทวงคืนไป 37 รายการ เป็นครั้งแรกก่อน” ดร.ทนงศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า 37 รายการที่ควรจะทวงคืนมีอะไรบ้าง ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวว่ามีเยอะมาก เช่น กลุ่มประติมากรรมสำริดประโคนชัย มีกลุ่มโบราณวัตถุที่ประกอบสถาปัตยกรรม ของปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย แล้วก็มีของศรีเทพ เป็นประติมากรรมหินทรายและแผ่นบุเงินของศรีเทพ แล้วก็มีพวกกลุ่มพระพุทธรูป ในศิลปะทวารวดี จำนวนหนึ่ง ทวงคืนกรุพระประโคนชัย ประติมากรรมศรีเทพ
เมื่อถามว่า 37 รายการ มีอะไรที่เป็นความเป็นไปได้สูงสุดที่จะได้กลับคืนมา ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวว่า ชุดแรกที่น่าจะได้คืนก็คือกรุพระประโคนชัย เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ชิคาโก เขาประสงค์ที่จะคืนโบราณวัตถุโดยผ่านการเจรจา และมีประติมากรรมของศรีเทพ ประติมากรรม อันนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะได้กลับมามากว่าอันอื่นที่ไทยจะต้องฟ้องร้องต่อไป
“ผมว่า ถ้าหากไทยให้ความร่วมมือทางด้านเอกสาร กับทางโฮมแลนด์ ซีคิวริตี้ ก็ใช้เวลาไม่นานเอาเข้าจริงๆ ผมว่า หลักฐานเอกสารของทางราชการสำคัญที่สุด เรามีหลักฐานการสูญหาย เรามีเอกสารการทวงคืน ตั้งแต่ อธิบดีกรมศิลปากรธนิต อยู่โพธิ์ ปี พ.ศ.2510 โบราณวัตถุที่ถูกซื้อขาย กรมศิลปากรก็ส่งหนังสือแย้งเขาไปว่านี่คือของประเทศไทย เราต้องส่งหลักฐานการทวงคืน แสดงให้เขาเห็นว่า ในอดีต เราทวงคืนอยู่แล้ว ต้องชี้ประเด็นนี้ให้ศาลเขาเห็น” ดร.ทนงศักดิ์ ระบุ
เมื่อถามว่า กรุพระประโคนชัยมีถึง 300 องค์หรือไม่ ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่า บันทึกของ มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ท่านได้สืบค้นข้อมูลมา ท่านบอกว่า มี 300 องค์ที่สูญหายจากประเทศไทย ประติมากรรมสำริด กลุ่มประโคนชัย ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวว่า ประติมากรรมกลุ่มนี้เป็นรูปแบบที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่าวัฒนธรรมเขมร มาผสมกับทวารวดี แล้วมาเจริญสูงสุดด้วยเทคโนโลยีการหล่อโลหะ โดยพบประติมากรรมสำริดที่มีรูปแบบเดียวกันที่บ้านโตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เฉพาะส่วนพระบาท ประติมากรคำนวณว่า หากเต็มองค์จะสูงประมาณ 3 เมตรกว่า นับเป็นประติมากรรมสำริดที่ใหญ่ที่สุดเลยที่มีการค้นพบที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เราไปหลงกับประติมากรรมสำริดใน วัฒนธรรมเขมรที่ห่างจากบ้านโตนดมากกว่า 300 ปี
นอกจากนี้ยังมีศิลปะจากบ้านโตนด และบ้านใต้จากบุรีรัมย์ด้วย “ทำให้เรามั่นใจว่า ศิลปะกลุ่มนี้แหละที่เป็นอิทธิพลคืนให้กับศิลปะเขมรที่โตนเลสาบ ที่เราเชื่อกันว่า ให้อิทธิพลกับประเทศไทยอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะแท้ที่จริงแล้ว ต่างให้อิทธิพลแก่กัน กลับไปกลับมา” นักวิชาการรายนี้ระบุ
ดร.ทนงศักดิ์ เพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนประติมากรรมศรีเทพ นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ของศิลปะกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดี ค่อนข้างชัดเจน ผนวกกับวัฒนธรรมเขมรเข้าไปปนอยู่ชัด จึงเป็นรูปแบบศิลปกรรมเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร รวมถึงสมัยเมืองพระนคร ก็คือในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ที่มีตัวปราสาทศรีเทพด้วย เพราะฉะนั้น จึงสะท้อนวัฒนธรรมเขมรที่กระจายไปลุ่มน้ำโตนเลสาบ ที่ราบสูงโคราช และทางตอนบนของประเทศไทย นับเป็นตัวแทนการผสมกันของวัฒนธรรมทวารวดี กับของเขมร ได้เป็นอย่างดี ทั้งความเชื่อทางศาสนา ทำให้เรามองเห็นภาพกว้างของประเทศไทยในอดีตมากขึ้น
ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า ระหว่างประติมากรรมศรีเทพกับกรุพระประโคนชัย น่าจะได้มาพร้อมกัน จากพิพิธภัณฑ์ชิคาโก “คงเป็นเรื่องของการเจรจาก่อนที่จะฟ้องร้อง โดยหลักการแล้ว อธิบดีกรมศิลปากรจะตัดสินใจ ว่าจะพูดคุยเจรจากับเขาหรือไม่ หรือจะดำเนินการทางกฎหมายเลย เพราะเรามีหลักฐานชัดแล้วว่าเป็นของประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมา คาดว่า ภายในปีนี้ น่าจะได้ กรุพระกับประติมากรรมศรีเทพ ที่เหลือ อยู่ที่ว่าพิพิธภัณฑ์ไหนยากง่าย ถ้าเขาเจรจากับเราก็ง่าย ถ้าเขาจะสู้คดีก็ยาก ทั้ง 37 รายการล้วนอยู่ใน สหรัฐอเมริกา”
เมื่อถามทิ้งท้ายถึงบทเรียนที่ผ่านมาจากการได้รับทับหลังหนองหงส์ เขาโล้นคืนกลับมา ก่อนจะนำไปสู่การทวงคืนอีก 37 รายการ นักโบราณคดีรายนี้ย้ำว่า “มันยิ่งใหญ่มาก ถ้าจะรักษาสมบัติของชาติไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราว เป็นเรื่องเล่า ที่ถูกเก็บไว้ในแต่ละท้องถิ่น” ดร.ทนงศักดิ์ระบุ