xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 73 ล้านสร้าง “ศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง” คาดเปิดให้บริการปี 2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - กรมศิลป์ทุ่มงบกว่า 73 ล้านบาท สร้าง “ศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง” แห่งแรก อัปงานอนุรักษ์ สู่ระดับสากล ล่าสุดผลดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 คาดเปิดให้บริการได้ในปี 2566


นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จ.อุดรธานี ว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ได้จัดเก็บรวบรวม และอนุรักษ์ โบราณวัตถุที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีต่างๆ ใน จ.อุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงโบราณวัตถุที่สถาบันวิจัยของต่างประเทศส่งกลับคืนมา ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วกว่า 10,000 รายการ

ทางกรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง มุ่งเน้นการขุดค้นศึกษาและเก็บรวบรวมโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับงานโบราณคดีในประเทศ ขณะเดียวกันจะมีการเชื่อมโยงกับต่างประเทศอีกด้วย

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมศิลปากรได้จัดสร้างศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียงเป็นแห่งแรก ซึ่งบ้านเชียงถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของโลก โดยตั้งเป้าการดำเนินงานให้ศูนย์วิจัยนี้เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล การจัดเก็บโบราณวัตถุในวัฒนธรรมบ้านเชียงและโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยวัฒนธรรมบ้านเชียงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และโบราณวัตถุที่อยู่ในการดูแล




เพื่อให้สามารถบริหารจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ปลอดภัย ได้มาตรฐานระดับสากล และให้บริการทางการศึกษาสำหรับนักวิจัยหรือนักวิชาการ ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะและพัฒนานักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ และนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ด้านการอนุรักษ์และพัฒนา ตลอดจนให้เกิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ การอนุรักษ์ กับนักวิจัย นักวิชาการและนักโบราณคดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในอนาคตจะมีการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติด้วย

สำหรับรูปแบบอาคาร ศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น พื้นที่ 1,440 ตารางเมตร โดยอาคารชั้น 1 ประกอบด้วยพื้นที่คลัง ห้องบริการข้อมูลสารสนเทศ ห้องนิทรรศการถาวร ส่วนปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ และห้องสุขา ส่วนอาคารชั้น 2 ประกอบด้วย พื้นที่คลังจัดเก็บโบราณวัตถุ ห้องปฏิบัติงานสำหรับนักวิจัย และห้องอเนกประสงค์




นายประทีปกล่าวต่อว่า ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารระยะแรกไปแล้วใช้งบประมาณจำนวน 30 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 43 ล้านบาท รวม 73 ล้านบาท คาดว่าจะให้บริการได้ในปี 2566 นี้

“หากอาคารศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียงสร้างแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการ คือจะเป็นคลังข้อมูลซึ่งจะใช้เก็บข้อมูล หลักฐานต่างๆ ในเชิงลึก บางชิ้นอาจจะไม่ได้นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ดังนั้น นักวิจัยทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ สามารถเข้ามาศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลแล้วนำไปต่อยอดได้ด้วย” นายประทีปกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น