มรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย นับเป็นมรดกที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่า ที่จำเป็นต้องมีการส่งเสริมและผลักดันจากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติในบริบทของการท่องเที่ยวเพื่อเป็นฐานรากในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการวิจัยการกำหนดกรอบวิจัยในการพัฒนาศักยภาพของมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยมี ดร.จเร สุวรรณชาต และคณะ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยผ่านการประชุมวิชาการ การกำหนดกรอบวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของมรดกทางวัฒนธรรมให้รองรับการท่องเที่ยวบนแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระยะ 5 ปี ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้องประชุมแคนนา 1 (CANNA) โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงผลักดันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย
การประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการประชุม พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม เช่น รศ.ร.อ.ชูวิทย์ สุจฉายา รน. และ รศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิ ของแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พร้อมทั้งนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) การเคหะแห่งชาติ ชมรมอนุรักษ์ท้องถิ่นเมืองแพร่ กรมศิลปากร TCDC สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คณาจารย์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมมรดกทางวัฒนธรรมจากทั่วประเทศ เข้าร่วมเสนอแนวทางการพัฒนางานวิจัยให้เกิดคุณภาพสูงสุดในการขับเคลื่อนผลักดันสู่การใช้ประโยชน์สูงสุดในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
การประชุมครั้งนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยเชิงมรดกวัฒนธรรม โดยได้กล่าวขอบคุณคณะนักวิจัยที่เห็นคุณค่าทุนวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในด้านนี้อย่างมากเช่นเดียวกัน ที่มีการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ขอบคุณ สกสว.ที่เป็นหน่วยงานหลัก ขอบคุณ บพข.ผู้ให้ทุน ที่สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงที่สามารถผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งนี้พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และส่งเสริมในมิติอื่นๆ ภายใต้อำนาจของกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ นายนิพนธ์ยังกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยเองได้ พยายามปรับกฎหมายท้องถิ่นพยายามออกกฎหมายใหม่ๆ ให้คนในชุมชนมีโอกาสได้เสนอกฎหมายได้มากขึ้น เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ประชาชนท้องถิ่นได้เสนอข้อบัญญัติของท้องถิ่นตัวเอง เนื่องจากการส่งเสริมให้คนในชุมชนได้เรียนรู้เรื่องการออกกฎหมาย คนในชุมชนจะได้ ช่วยกันรักษาสิ่งเหล่านี้ โดยในอนาคตอันใกล้ประชาชนจะเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายได้เอง จะช่วยให้คนในชุมชนมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ท้องถิ่น วัฒนธรรมท้องถิ่นเอาไว้ได้
“เราบอกว่ามีเงิน 50,000,000 สร้างตึกได้ แต่คุณค่าทางประวัติศาสตร์มันสร้างไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ต้นทุนอย่างนี้อยากให้พวกเราช่วยกันรักษา ร้อยเรียงกันมาเพื่อนำเสนอ ให้มีความน่าสนใจ ทำให้มองเห็นคุณค่าได้” นายนิพนธ์กล่าว
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการจัดทำแผนงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เล่าถึงการทำงานร่วมกันของหน่วยทุนตั้งแต่ใน ปี 2563 ที่มีการตั้งคลัสเตอร์ท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมอบหมายให้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่กับการสร้างรายได้ โดยการเพิ่มมูลค่า และคุณค่าในเมืองเก่า หรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ เพื่อหนุนเสริม ทั้งวัฒนธรรมเชิงอาหารและประเพณีวัฒนธรรมให้พัฒนาต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ รศ.ดร.ธงชัย รองผู้อำนวยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวถึง บพข.ที่เพิ่งจัดตั้งมาประมาณ 1 ปีที่แล้วว่า ตั้งขึ้นเพื่อช่วยในการบริหารจัดการทุนเพื่อให้ประเทศมีศักยภาพมากขึ้นในเรื่องของการแข่งขัน ที่ผ่านมามีการให้ทุนมีหลายคลัสเตอร์ ทั้งในด้านเกษตร อาหาร กลุ่มธุรกิจด้านเศรษฐกิจท่องเที่ยวสร้างสรรค์ พลังงานชีวภาพต่างๆ การแพทย์สุขภาพ ดิจิทัล และเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งมีโปรแกรมใหม่ต่างๆ ที่มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน ในการทำงานร่วมกัน เช่น Public private partnership ซึ่งพยายามให้อุตสาหกรรม SMEs ต่างๆ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การร่วมมือกับต่างประเทศในการทำงานร่วมกันขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยที่เรียกว่า Global partnership เป็นต้น
นอกจากนี้ อีกมิติหนึ่งที่ บพข.กำลังให้ความสำคัญ คือ เรื่องเมืองเก่า พร้อมโจทย์ที่ท้าทายคือจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเมืองเก่าเป็นมรดกวัฒนธรรมของพวกเขา โดยโจทย์ของงานวิจัย คือ Create Activity ในประเด็นหลักที่จะไปเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย ความเป็นอยู่ ความมั่นคงทางด้านอาหาร และต้องสร้างสรรค์อย่างเฉพาะตัวให้มีความโดดเด่น ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบว่าสิ่งที่เราจะส่งคุณค่าให้เขาคืออะไร และความสร้างสรรค์ต้องคงอยู่และเป็นอยู่อย่างอย่างยืนในทั้งภาคธุรกิจทั้งหมด วิถีชีวิตของผู้คน พร้อมทั้งสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ งานวิจัยพยายามศึกษาแนวทางบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรม และธรรมชาติในบริบทของการท่องเที่ยวเพื่อเป็นฐานรากในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากการใช้ประโยชน์ของเมืองเก่าหรือย่านมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และมรดกทางวัฒนธรรมตลอดจนเป็นแหล่งที่มีเสน่ห์จนเกิดเป็นย่านท่องเที่ยวที่มีคุณภาพตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในอนาคต และเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย