xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมศิลปากรลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลพบุรี - อธิบดีกรมศิลปากรลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ และโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมศิลปากร ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาปรับปรุงคลังเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ และโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการพัฒนา ปรับปรุงคลังเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จำนวน 2 หลัง คือ อาคารหลังที่ 3 และหลังที่ 4 ของหมู่ตึกพระประเทียบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานงวดสุดท้าย นอกจากนี้ ยังได้ตรวจติดตามการดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2231

ส่วนด้านหลังของพระที่นั่งเป็นที่ประทับของข้าราชบริพารฝ่ายใน ซึ่งบริเวณด้านหลังพระที่นั่งมีสภาพป่ารกร้างมานาน จนได้รับการพัฒนาพื้นที่และพบหลักฐานแนวอาคารเก่าที่สร้างซ้อนทับกันถึง 2 สมัย คือ แนวอาคารเดิมสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นแนวเดียวกันกับอาคารด้านหน้าของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ จำนวนกว่า 20 หลัง ที่มีลักษณะเด่น คือ กลุ่มอาคาร 4 หลัง ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน และแนวอาคารที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนจำประจำจังหวัดขึ้น ก่อนย้ายออกไปยังพื้นที่ปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.2506 จากการขุดแต่งพบหลักฐานต่างๆ เช่น กระเบื้องเชิงชายลายเทพพนม กระเบื้องเชิงชายลายพันธุ์พฤกษา การวางแนวท่อน้ำดินเผาภายในอาคารที่สลับซับซ้อน แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านระบบประปาในสมัยอยุธยา

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อไปว่า พื้นที่ดังกล่าวนี้หากได้รับการอนุรักษ์และพัฒนา ในอนาคตจะเป็นพื้นที่แหล่งการเรียนรู้และท่องเที่ยวใหม่ของประชาชนชาวลพบุรีและประชาชนทั่วไป เพราะนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์แล้วยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้โดยเฉพาะพืชสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่มากกว่า 20 ชนิด และหลายชนิดอยู่ในตำรายาพระโอสถพระนารายณ์ รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้แก่จังหวัดได้เป็นอย่างดี










กำลังโหลดความคิดเห็น