xs
xsm
sm
md
lg

สวก.วิจัยผลิตภัณฑ์แปรรูปจากดอกเก๊กฮวยสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลูกเก๊กฮวย รวยกว่าที่คิด เปลี่ยนชีวิตเกษตรกร สวก.นำทางเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตรได้สำเร็จ พัฒนากระบวนการแปรรูปจากงานวิจัยฯ

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. หน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยด้านการเกษตร และบริหารจัดการทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในระบบ ววน. ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขับเคลื่อนงานตามนโยบายในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร ผ่านแผนแม่บทประเด็นการเกษตรภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีการส่งเสริมการผลิตเน้นตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ของภาคการเกษตร สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ งานวิจัยการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ และดอกเบญจมาศ (เก๊กฮวย) อบแห้ง ของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ (Drying Process Development of Chamomile and Chrysanthemum for Sa-Ngo Royal Project Development Center) ที่พร้อมนำทางให้เกษตรกร สร้างอาชีพ มีรายได้ และให้ความมั่นคงแบบยั่งยืน

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า เราให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบและครบวงจร ก่อให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผลการวิจัยที่ได้ต้องมีเป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และสามารถนำไปขยายผลและใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรในแต่ละภูมิภาคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาและยกระดับ มาตรฐานความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

งานวิจัยการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ และ ดอกเบญจมาศ (เก๊กฮวย) อบแห้ง ซึ่งรับผิดชอบงานวิจัยโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นโครงการที่มีการทำงานร่วมกันระหว่าง สวก. ผู้สนับสนุนทุนวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ผู้รับทุนและดำเนินการวิจัย และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ เจ้าของพื้นที่และดูแลเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีโจทย์หลักของงานการวิจัยครั้งนี้ คือ การพัฒนากระบวนการแปรรูปชาดอกไม้อบแห้งที่มีประสิทธิภาพ บนพื้นที่ของโครงการประมาณ 200 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่ 4 ประการ ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ เพื่อปรับปรุงงาน พัฒนาอาชีพ และสังคมหมู่บ้านดอยสะโงะ ลดปัญหาทางด้านยาเสพติด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับหมู่บ้านชายแดนไทย-ลาว และไทย-พม่า เป็นแหล่งถ่ายทอดวิทยาการการเกษตรแผนใหม่ เพื่อสนับสนุนด้านเกษตรกรรมแก่หน่วยงาน และสถาบันเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย และเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับฝึกอบรมนักศึกษาเกษตรให้มีความชำนาญ ในการปฏิบัติงาน สามารถดูแลพืชและสัตว์บนพื้นที่สูงเพื่อเป็นแนวทางประกอบอาชีพต่อไป


เกษตรกรในพื้นที่จะเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าอีก้อและไทยใหญ่ ที่อพยพมาจากประเทศลาวและพม่า ซึ่งเป็นหมู่บ้านในเขตความรับผิดชอบจำนวน 5 หมู่บ้าน รวม 139 ครอบครัว ประชากร 630 คน จุดเริ่มต้น ในการแปรรูป ดอกคาโมมายล์ และดอกเก๊กฮวย (เหลืองสะโงะ) อบแห้งเพื่อจำหน่ายให้ฝ่ายการตลาดและโรงงานแปรรูปของโครงการหลวงเพื่อนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จึงเริ่มจากโครงการหลวงสะโงะ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชผักเมืองหนาว แต่เนื่องจากศูนย์ฯ อยู่ในพื้นที่ต่ำ หรือสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 500 เมตร จึงไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชเมืองหนาว อีกทั้งดินยังมีความเป็นกรด จึงทำให้เกษตรกรมีพืชทางเลือก สำหรับการเพาะปลูกได้น้อย จนมีการทดลองที่ส่งเสริมให้ปลูกชาดอกไม้ (ดอกคาโมมายล์) จนพบว่าผลผลิตมีคุณภาพดี มีการแปรรูปส่งให้ฝ่ายการตลาดของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นผู้จำหน่าย ทั้งยังเป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูป ให้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ (ตามที่กล่าวมาข้างต้น) โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะรับซื้อดอกคาโมมายล์สดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 50 - 55 บาท (ใช้คาโมมายล์สดประมาณ 10 กิโลกรัม สามารถอบคาโมมายล์แห้งได้ 1 กิโลกรัม) โดยดอกคาโมมายล์หลังจากทำการอบแห้งแล้ว จะสามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 600-650 บาท จากส่วนต่างของราคาการจำหน่ายในรูปแบบดอกสดและดอกอบแห้งนี้ ทำให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกรของศูนย์ฯ นิยมนำดอกคาโมมายล์มาอบแห้งเพื่อจำหน่าย เนื่องจากได้ราคาดี มีมูลค่าที่สูงกว่า

ต่อมา เมื่อปี 2551 ได้มีการส่งเสริมให้ปลูกและแปรรูปดอกเก๊กฮวย (เหลืองสะโงะ) อบแห้ง ทำให้เกิดโครงการการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ และดอกเบญจมาศ (เก๊กฮวย) อบแห้ง กลายเป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูป ที่มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มีคุณภาพที่มากขึ้น และถือเป็นกุญแจสำคัญในการคงคุณค่าทางโภชนาการ คงไว้ซึ่งกลิ่น รส และยืดอายุการเก็บรักษา จนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัยด้านอาหาร ควบคู่ไปกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม เป็นการเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เผยว่า ในการแปรรูปชาดอกไม้อบแห้ง ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ แม้จะเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของศูนย์ฯ และสร้างอาชีพให้กลุ่มสมาชิกเกษตรกร แต่ก็พบว่าไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากประสิทธิภาพ ของเตาอบแห้งของศูนย์ฯ จำนวน 3 เตา มีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้การกระจายความร้อนในห้องอบแห้งไม่สม่ำเสมอ มีสภาพการใช้งานที่ไม่ค่อยดีนัก และมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในการสร้างลมร้อนมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการอบแห้งของศูนย์ฯ ส่งผลให้ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ประเด็นในการแก้ไขปัญหาจึงแบ่งการพัฒนาเครื่องอบแห้งที่มีประสิทธิภาพ การกระจายความร้อนสูง และสามารถอบแห้งได้มากขึ้น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ได้ส่งนักวิเคราะห์โครงการเข้าลงพื้นที่ และร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้พัฒนาโครงการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการอบแห้งชาดอกไม้ของศูนย์ฯ โดยพัฒนาเครื่องอบแห้งระบบถาดหมุนควบคุมแบบ multi-stage drying system controller (เลขที่อนุสิทธิบัตร 2003001545) ขึ้นมาใช้พัฒนาการผลิตชาดอกไม้อบแห้งของศูนย์ฯ


โครงการวิจัยได้พัฒนาตั้งแต่เป็นเครื่องอบแห้ง และปรับปรุงโรงอบให้สอดคล้องตามมาตรฐาน ความปลอดภัยวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันได้รับใบสำคัญเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่ใช่โรงงาน (เลขที่ 57-2-03263) และมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน โดยอัตราส่วนของการอบแห้งดอกเก๊กฮวยอยู่ที่ 7 กิโลกรัมสดต่อดอกเก๊กฮวยอบแห้ง 1 กิโลกรัม เช่นเดียวกับดอกคาโมมายล์โดยอัตราส่วนดอกคาโมมายล์สดอยู่ที่ 6 กิโลกรัมสดต่อดอกคาโมมายล์อบแห้ง 1 กิโลกรัม และลดอัตราการใช้พลังงานได้มากกว่า 120 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เกษตรกรเกิดความสนใจที่จะเข้ามาประกอบอาชีพเพาะปลูกชาดอกไม้ทั้ง 2 ชนิด ทำให้มีอัตราการขยายการเติบโต มากขึ้นเรื่อยๆ ในการเข้ามาร่วมปลูกชาดอกไม้ต่างๆ จากก่อนเริ่มต้นโครงการมีเพียง 10 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 250 ครัวเรือน ซึ่งในปีที่แล้วศูนย์ฯ สามารถอบแห้งชาดอกไม้ได้รวม 85 ตันสด และมีรายได้กลับสู่เกษตรกรมากกว่า 5.85 ล้านบาท


นายพันนุมาศ ทองกระจ่าง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ เพิ่มเติมอีกว่า จากการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ทดลองเพาะปลูก ปัจจุบันคาโมมายล์และเก็กฮวยกลายเป็นพืชสมุนไพร ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ครอบครัวละ 40,000-50,000 ใน 1 ฤดูกาลผลิต (หรือตลอดระยะเวลาการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว 6 เดือน) ซึ่งถือว่าเป็นรายได้เสริมที่ดีมากจากอาชีพหลักของเกษตรกร และนับว่าเป็นประโยชน์สูงสุดในการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เกิดจากโครงการวิจัยฯ ไปใช้ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ส่งผลให้มียอดการสั่งซื้อดอกเก๊กฮวยและดอกคาโมมายล์อบแห้งเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนเพิ่มผลกำไรได้ จากเดิมก่อนการทำวิจัยราคารับซื้อเมื่อปี 2555 รับซื้อที่ 20 บาทต่อกิโลกรัมสด และ 50-55 บาทต่อกิโลกรัมสด และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ทางศูนย์เพิ่มราคารับซื้ออย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจเกษตรกร จนถึงปี 2561 ราคารับซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 42.5 บาท และ 65 บาท แต่เกิดภาวะขาดทุนอีกครั้ง เนื่องจากโครงการหลวงสะโงะอบแห้งไม่ทันส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย จนได้รับทุนวิจัยจาก สวก. ในปี 2562 จึงสามารถแก้ปัญหาและก่อให้เกิดผลกำไร โดยผลกำไรที่เพิ่มขึ้นได้นำมาเพิ่มราคารับซื้อถึงปัจจุบันที่ 47 บาท และ 70 บาท ซึ่งสามารถสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี


ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูป ดอกคาโมมายล์ และดอกเก๊กฮวย ผลงานจาก โครงการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ และดอกเบญจมาศ (เก๊กฮวย) อบแห้ง โดยการสนับสนุนทุนวิจัย ของ สวก. จึงถือเป็นการศึกษาปัญหา และการนำงานวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ความสำเร็จที่สร้างประโยชน์บนพื้นที่สูง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ทำให้เกษตรกรรวมไปถึงชุมชน เกิดความเปลี่ยนแปลง คือ มีรายได้ มีชีวิตความอยู่เป็นที่ดี ที่สำคัญ มีความมั่นคงในอาชีพที่ยั่งยืน โดยในภาวะที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส covid เกิดภาวะตกงานจากแรงงานหนุ่มสาวที่ทำงานในเขตตัวเมืองอุตสาหกรรมหันกลับมาช่วยครอบครัวทำการเกษตร จนเกิดรายได้ สามารถเลี้ยงชีพได้ และไม่คิดที่จะละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด นับเป็นความสำเร็จของการดำเนินโครงการวิจัยฯ นี้อย่างแท้จริง

ประชาชน หรือ เกษตรกรที่สนใจอยากเข้าชมผลงานการวิจัยช่วยเกษตรกรในเรื่องต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในงานเกษตร สามารถเข้าไปรับชมข้อมูลได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. https://www.arda.or.th/






กำลังโหลดความคิดเห็น