วันนี้ (23 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นางสุคนธ์ พรพิรุณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) เสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 เวลา 12.23 น. ณ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก สิริรวมอายุ 85 ปี โดยทางครอบครัวกำหนดรดน้ำศพ ในวันที่ 24 กันยายน 2563 เวลา 15.30 น. และเวลา 17.00 น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเวลา 18.00 น. สวดพระอภิธรรมศพ ณ ศาลา 9 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 24-28 กันยายน 2563
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ได้มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะดำเนินการขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพในลำดับต่อไป
สำหรับประวัติของ นางสุคนธ์ พรพิรุณ ปัจจุบันอายุ 85 ปี เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2478 ที่จังหวัดราชบุรี ในปี พ.ศ. 2495 เข้าศึกษาที่วิทยาลัยพยาบาลโรงพยาบาลหญิง กรมการแพทย์ (ราชวิถีปัจจุบัน) พ.ศ. 2496 ศึกษาการดนตรีได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าวงดนตรีคนแรกของโรงพยาบาลหญิง
ในปี พ.ศ. 2505 อบรมวิชาการทหารจากกรมการักษาดินแดน เพื่อเข้าทํางานในกองดุริยางค์ทหารบก รวมถึงได้เรียนรู้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ในขณะนั้นเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ทางดนตรีโปรแกรมรุ่นแรก คือ Encore และโปรแกรม Sibelius และในปี พ.ศ. 2543 ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ครุศาสตรบัณฑิต โปรแกรมวิชาดนตรีศึกษา จากสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
นางสุคนธ์ พรพิรุณ หรือ “พรพิรุณ” คือชื่อที่ครูสมาน กาญจนะผลิน ได้ตั้งให้เพื่อใช้ในการประพันธ์เพลงพรพิรุณ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการแต่งเพลงได้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยในปี พ.ศ. 2492 (อายุ 14 ปี)
เริ่มเขียนเพลงไทยสากลเพลงแรก “มนต์จันทร์” ให้กับคณะละครวิทยุ “พันตรีศิลปะ” ปี พ.ศ.2503 เป็นนักเขียนแต่งเพลงอิสระ เขียนเพลงส่งครูสมาน กาญจนะผลิน ในปี พ.ศ. 2504 ได้เข้าทํางานในวงสุนทราภรณ์ เป็นนักแต่งเพลง ส่งเพลงให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่ง พรพิรุณ มีพรสวรรค์ที่สําคัญที่ครูเพลงทั้งหลายในยุค นั้นรู้กันดีคือ สามารถอ่านโน้ตปากเปล่าได้ทุกบันไดเสียง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องดนตรีใดๆ ทําเสียงให้ถือเป็น เป็นปรมาจารย์ทางดนตรีสากล ทั้งในด้านการเป็นนักประพันธ์เพลง โดยเฉพาะการประพันธ์คําร้องและทํานอง จะปรากฏผลงานในทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเพลงปลุกใจ เพลงศาสนา เพลงเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพลง ประจําหน่วยงาน
เพลงประจําจังหวัด ซึ่งผลงานเพลงที่สร้างชื่อเสียง อาทิ ขอให้เหมือนเดิม ใครก็ได้ถ้ารักฉันจริง น้ำตาเพื่อนใจ รวมแล้วมากกว่า 3,000 เพลง ด้านการเป็นนักร้อง พรพิรุณสามารถร้องได้หลายภาษา ทั้ง เพลงไทยสากล เพลงสากล และเพลงจีน ด้วยน้ำเสียงหวานก้องกังวาน ความชัดเจนในการเปล่งเสียง อักขระ ตัวควบกล้ำ และอารมณ์ที่แทรกอยู่ในบทเพลง ล้วนนํามาเป็นแบบอย่างเพื่อถ่ายทอดแก่ชนรุ่นหลังได้เป็นอย่าง ดีด้านการเป็นนักดนตรีได้ฝึกฝนและเรียนรู้ทฤษฎีโน้ตสากล รวมทั้งฝึกปฏิบัติเป่าแซกโซโฟน เปียโน เครื่อง คีย์บอร์ดอื่น และการดีดกีตาร์ฮาวาย นอกจากนั้น ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าวงดนตรีของนักเรียน พยาบาล ซึ่งถือเป็นหัวหน้าวงดนตรีหญิงคนแรก และคนเดียวของเมืองไทยในขณะนั้น ด้านการเป็นครูดนตรี ได้เป็นวิทยากรถ่ายทอดให้การอบรมครูดนตรีตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในจังหวัดภาคใด และมหาวิทยาลัยต่างๆ ปัจจุบันยังคงอุทิศบ้านพักจัดตั้งเป็นสํานักงานเพื่อก่อตั้ง สหกรณ์เพลงแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งรวมเป็นศูนย์กลางในการสืบค้นได้ต่อไป
นางสุคนธ์ พรพิรุณ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) พุทธศักราช 2561