xs
xsm
sm
md
lg

Local สู่เลอค่า ปลูกชุมชนให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"คุณขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ" ฟู้ดสไตลิสต์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่นำความชื่นชอบด้านการออกแบบกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ด้วยแนวคิดศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน ณ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ กับ 10 แนวคิดของการสร้างหมู่บ้านเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Village)

1. ถนนเส้นใหม่เพียง 80 กิโลเมตร จากสนามบินอุดรธานี ถึงพิพิธภัณฑ์ ขอบอกก่อนเลยว่าการเดินทางมาจังหวัดบึงกาฬที่สะดวกที่สุดคือ นั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ มาลงที่สนามบินอุดรธานี แล้วขับรถตรงดิ่งไปยังจังหวัดบึงกาฬ ระยะทางกว่า 180 กิโลเมตร ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงกว่าๆ แต่ตอนนี้จังหวัดบึงกาฬ ได้รับการอนุมัติงบที่จะทำการตัดถนนเส้นใหม่ โดยเริ่มโครงการปี 2563 ทำให้ระยะทางถูกย่นลงเหลือ 135 กิโลเมตร ถึงตัวเมืองบึงกาฬ แต่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต อยู่ระหว่างกลางทางจากสนามบินอุดรธานี ใช้เวลาเดินทางมาถึงเพียง 80 กิโลเมตร ขับรถ 1 ชั่วโมงเท่านั้นเอง

2. พิพิธภัณฑ์ชุมชน สถาบันเพื่อสาธารณะ
บ้านครอบครัวของคุณขาบ ได้นำมาปรับเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน พิพิธภัณฑ์เพื่อสาธารณะ เป็นรูปแบบของการทำประโยชน์เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจฐานราก ในปีนี้พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ได้รับรางวัลเกียรติยศชนะเลิศจากเวทีออสการ์อาหารโลก Gourmand World Awards ในประเภทสาขาสถาบัน
เพื่อสาธารณะ (Institutions) ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวมาถูกทางแล้ว ทางองค์กรเวทีระดับโลกจึงมอบรางวัลนี้เพื่อเป็นเกียรติให้กับพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากมีการขับเคลื่อนแบบบูรณาการที่เน้นความยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากรากฐานของประเทศ นั่นก็คือชุมชน

3. ดีไซน์เนอร์ระดับประเทศ คือ ผู้นำการพัฒนาที่เกิดในชุมชน เนื่องจากคุณขาบเกิดที่หมู่บ้านนี้ จึงทำให้ตกผลึกเข้าใจในบริบทของพื้นที่ เวลาจะทำอะไรก็จะมองเห็นภาพเป้าหมายปลายทางที่จะไป เมื่อเป็นดีไซน์เนอร์ระดับประเทศที่เกิดในชุมชน ก็จะเข้าถึงแก่นแท้ของชุมชนได้เป็นอย่างดี มองเห็นภาพชัดเจนในทุกมิติการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีแบบแผนของการออกแบบที่จะไปเชื่อมโยงกันทั้งหมด

4. อาหารพื้นถิ่นจากพิพิธภัณฑ์ได้รับรางวัลออสการ์อาหารโลก ความชื่นชอบในอาหารและงานศิลปะของคุณขาบ กับอาชีพฟู้ดสไตล์ลิสต์มายาวนานกว่า 25 ปี ได้นำทักษะมาช่วยจัดระบบมาตรฐานสากลในเรื่องของอาหารพื้นถิ่น เพราะอาหารพื้นถิ่นสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชน จากการที่ได้นำวัตถุดิบจากท้องถิ่นมาใช้ในการประกอบอาหาร ทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์ มีนักท่องเที่ยวมารับประทานอาหาร และเมนูท้องถิ่นที่ทำนั้นก็ได้มีโอกาสส่งไปประกวดเวทีออสการ์อาหารโลก ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของการสถาปนาองค์กร Gourmand World Awards ซึ่งประกาศรางวัลจากสำนักงานใหญ่ยูเนสโก เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยได้รับรางวัลในประเภทสาขาอาหารเพื่อปวงชน (People Cuisine)

5. ภาพวาดกราฟฟิตี้พญานาค 150 ตน หนึ่งเดียวในโลก
ความชื่นชอบศิลปะของคุณขาบ ได้นำศิลปะร่วมสมัยมาขับเคลื่อนด้วยการนำอัตลักษณ์วัฒนธรรม ความเชื่อของคนลุ่มแม่น้ำโขงก็คือพญานาค จึงเป็นที่มาของการสร้างเรื่องราวพญานาคเป็นภาพวาดตามฝาผนังบ้าน กำแพงรั้ว แม้ในหมู่บ้านมีทั้งหมด 45 หลังคาเรือน แต่มีภาพวาดพญานาคถึง 100 ตน และกระจายไปยัง 4 จุด ในอำเภอโซ่พิสัย รวมทั้งสิ้นมีภาพวาดกราฟฟิตี้พญานาคมากถึง 150 ตน ซึ่งภาพวาดพญานาคจะสะท้อนให้เห็นถึงอาชีพและอัตลักษณ์ของคนภายในชุมชน สามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ จนเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เป็นการสร้างศิลปะในพื้นที่ห่างไกลด้วยภาพวาดพญานาค พลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชน

6. พิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
ทางสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ได้ทำโครงการวิจัยทุนทางวัฒนธรรมชุมชน โดยลงพื้นที่ศึกษาทุนทางวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นประเภทอาหารคาวของหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ เพื่อที่จะสืบค้นร่วมกันอนุรักษ์อาหารพื้นถิ่นไม่ให้สูญหายไป โดยทางสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาที่เน้นความยั่งยืน และเปิดโอกาสให้นักเรียนในจังหวัดบึงกาฬได้เข้ารับการศึกษา เพื่อที่จะได้กลับมาพัฒนาพื้นที่ชุมชนบ้านเกิด โดยทางพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ให้โอกาสเด็กๆ เยาวชนมาร่วมพัฒนา ทำงานจิตอาสาด้วยกัน เพื่อสร้างความยั่งยืนในท้องถิ่นของตัวเองให้ได้มากที่สุด

7. สโมสรกีฬา BBG ร่วมเป็นอาสาสมัครในการวาดภาพกราฟฟิตี้พญานาค เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬอยู่ติดแม่น้ำโขง จึงปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องปัญหายาเสพติด การจัดทำโครงการวาดภาพกราฟฟิตี้ โดยร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย และเยาวชนในท้องถิ่นมาร่วมวาดภาพ นอกจากนี้ยังมีเยาวชนจากสโมสรกีฬา BBG โครงการในพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี โดยเยาวชนจากโครงการนี้ได้เดินทางมาร่วมกับเยาวชนในพื้นที่ช่วยกันทำกิจกรรมวาดภาพกราฟฟิตี้พญานาค เพื่อให้เยาวชนในท้องถิ่นได้เข้าใจในเรื่องของจิตสำนึก และนำเวลาว่างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเริ่มจากการใช้กับศิลปะเพื่อสร้างโอกาสให้กับชุมชน และได้ใช้เวลากับตรงนี้ทำให้ห่างไกลจากยาเสพติดด้วย

8. นักพัฒนาชุมชนได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ สาขานวัตกรรมการท่องเที่ยว คนแรกของไทย ความมุ่งมั่นของคุณขาบในการพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านให้กลายเป็นจุดแสดงผลงานศิลปะกลางแจ้ง และพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านซึ่งเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ได้รับการยอมรับในเรื่องการพัฒนาชุมชน โดยทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อนุมัติปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานวัตกรรมการท่องเที่ยว ให้กับคุณขาบที่ได้ลงมือทำงานเน้นภาคปฏิบัติในพื้นที่เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเองต่อไป

9. พิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์เครือข่ายสร้างชุมชนกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ความสำเร็จของการพัฒนามาจากการเป็นศูนย์เครือข่ายให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ลงมาทำงานร่วมกับชุมชนในท้องที่ เพื่อทำให้พื้นที่ตรงนี้ขยายผลและเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ของประเทศชาติ ซึ่งได้มีมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ลงมาทำงานในพื้นที่ร่วมกัน เพื่อเป็นต้นแบบของการเรียนรู้และบูรณาการชุมชนท่องเที่ยวที่เน้นศิลปะร่วมสมัย

10. หมู่บ้านมีนักสื่อสารนวัตกรรมชุมชน การสร้างชุมชนท่องเที่ยวเน้นการสื่อสารกับทุกช่องทาง ที่หมู่บ้านนี้มีนักสื่อสารนวัตกรรมชุมชน เป็นทีมประชาสัมพันธ์ที่เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกัน คือทีมจากบริษัท โน้ตเอเบิ้ลแบงค์คอก จำกัด ของ คุณไอยย์รัศ สิทธิพูล เข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์สื่อสารพื้นที่ของหมู่บ้านออกไปสู่สาธารณะเพื่อให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทำให้คนเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการสร้างต้นแบบให้เป็นที่รู้จัก เพื่อเป้าหมายของการพัฒนาชาติ แนวทางชุมชนมั่งคั่ง ยั่งยืน สนใจร่วมเครือข่ายติดต่อ FB : พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ










กำลังโหลดความคิดเห็น