เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาครอบครัวของเราเดินทางไปจังหวัดปัตตานีเพื่อร่วมงานเปิดตัวหนังสือเจ้าชายน้อยฉบับภาษามลายู อักษรยาวี โดยมีคุณพ่อและลูกชายคนโต “สรวง สิทธิสมาน” ร่วมเวทีเสวนาด้วย นับเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่เขาได้เก็บรับประสบการณ์ครั้งสำคัญของชีวิต และพบว่าแท้จริงแล้วพวกเราล้วนมีเจ้าชายน้อยอยู่ในตัวเรา และนำมาถ่ายทอดถึงความประทับใจจากสิ่งที่พ่อของเขาสื่อถึงสถานการณ์ ชีวิต และเจ้าชายน้อย
………………
อยากจะขอเล่าถึงโอกาสสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผมได้ขึ้นเวทีเป็นส่วนหนึ่งของงานเปิดตัวหนังสือ “เจ้าชายน้อย ฉบับภาษามลายู อักษรยาวี - فوتراكجيل” จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับคุณสุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ และ “มูลนิธิฌอง-มาร์ค พร๊อพสต์ เพื่อเจ้าชายน้อย” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผมเป็นหนึ่งในคณะวิทยากรร่วมเสวนาในหัวข้อ "โครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่น การเดินทางจากฝรั่งเศสสู่คาบสมุทรมลายู" ร่วมกับผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ในวงการวรรณกรรมหลายท่าน ที่มีความสัมพันธ์กับวรรณกรรม “เจ้าชายน้อย” (Le Petit Prince)
หนึ่งในนั้น คือคุณพ่อของผมเอง !
ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนบทความรีวิวสภาพจิตใจหลังจากที่ได้อ่านเจ้าชายน้อย เคยเขียนตีความตัวละครที่ชอบ และมุมมองที่สะท้อนสู่โลกของความเป็นจริง ทำให้ผมทราบดีว่าในแต่ละครั้งที่เปิดหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านทุกคนจะพบกับข้อคิดเห็นที่แตกต่างจากในรอบก่อน ๆ ขึ้นอยู่กับช่วงวัย ประกอบกับเหตุการณ์ในชีวิตด้านต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่ขณะนั้น
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้นอนค้างแรมที่ปัตตานีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ก่อนหน้านี้คิดในใจมาตลอดว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่อันตราย เพราะเต็มไปด้วยเหตุการณ์ไม่สงบ ยิ่งในช่วงก่อนเดินทาง เมื่อบอกเพื่อน ๆ ว่าจะลงไปปัตตานี พวกเขาตอบกลับมาแบบทีเล่นทีจริงว่า "ระวังโดนระเบิดนะมึง" หรือไม่ก็อวยพรในเชิง "ขอให้โชคดีว่ะ" ซะอย่างนั้น
แต่เมื่อเดินทางมาถึง ก็ไม่ได้สัมผัสถึงภัยคุกคามใด ๆ ทุกคนที่นั่นใช้ชีวิตปกติ ค้าขาย ทำประมง ยิ้มแย้มมากกว่าคนเมืองกรุงเสียด้วยซ้ำ
ผมรู้ว่าความขัดแย้งที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่จริง เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงและเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจริง แต่ก็มีความสวยงามที่ไม่ได้รับการเอ่ยถึงอยู่มากมาย การตกเป็นข่าวแต่เฉพาะปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงเป็นเหตุให้ผู้คนรู้สึกหวาดกลัวเกินความจริง และไม่กล้าเดินทางลงมาท่องเที่ยว
บรรยากาศในงานเปิดตัวเจ้าชายน้อยภาษายาวีเต็มไปด้วยสีสันและความหลากหลาย ผู้เข้าร่วมงานก็มีทุกเพศทุกวัย ทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม วงดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีภาคใต้ แต่เป็นศิลปินนักร้องชื่อดังชาวล้านนา-คุณสุนทรี เวชานนท์ เป็นส่วนผสมที่ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นสัญลักษณ์ที่ว่าวัฒนธรรมนั้นเป็นสากล
ผู้คนที่เข้าร่วมงานเต็มไปด้วยความแตกต่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือทุกคนรักเจ้าชายน้อย
หลังจากที่ได้เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ใหญ่ในวงการวรรณกรรมที่มีใจรักเจ้าชายน้อยเหมือนกับผม ได้แลกเปลี่ยนมุมมองความประทับใจที่มีต่อเจ้าชายน้อย และได้เห็นกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงาน เช่น การอ่านคำคมเจ้าชายน้อยเป็นภาษาต่าง ๆ ผมเริ่มที่จะรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วเรื่องราวของเจ้าชายน้อยมีความลึกซึ้งในระดับปรัชญา ลึกซึ้งพอที่จะเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของใครหลายคน
ในตอนนั้น ไม่รู้ว่าผมคิดไปเองหรือเปล่า ว่าเจ้าชายน้อยนั้นมีความเป็นลัทธิศาสนาอยู่เบา ๆ
ลืมบอกไปว่าผมขึ้นเวทีเสวนาครั้งนี้ร่วมกับคุณพ่อ ผู้ที่หยิบยื่นวรรณกรรมเจ้าชายน้อยมาให้ผมอ่าน ซึ่งปัจจุบันกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อบ้านเมืองและครอบครัว ในเวลานั้น คุณพ่อกำลังอยู่ในช่วงของการตัดสินใจครั้งใหญ่เพื่อทำในสิ่งที่ท่านเชื่อว่าถูกต้อง โดยการตัดสินใจนั้นจะเป็นสิ่งที่อาจจะมีผลต่อหน้าที่การงานและมีผลต่อความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับเพื่อนร่วมงานร่วมความคิดหลายต่อหลายคน
สิ่งที่คุณพ่อพูดบนเวทีเสวนาในช่วงสุดท้ายหลังจากผู้ดำเนินรายการโยนคำถามมาให้สด ๆ โดยไม่ได้บอกล่วงหน้า คือสิ่งที่ท่านกลั่นออกมาจากส่วนลึกของหัวใจรู้ ณ นาทีนั้นจริง ๆ
"ทุก ๆ คนมีเจ้าชายน้อยของตัวเองอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ มันคือภาพจำของความสุข และความประทับใจในวัยเด็ก เป็นความเรียบง่าย ใสซื่อ ในวัยก่อนที่เราจะเริ่มมีสัมภาระแบกอยู่บนหลัง
“ยกตัวอย่างเช่นในช่วงเวลาวิกฤติ COVID-19 นี้ หรือในช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ผมรู้สึกดีใจทุกครั้งในช่วงเวลาแบบนี้ เพราะเป็นช่วงที่ได้อยู่แต่บ้าน ออกไปไหนก็ไม่ได้ แต่ก็มีความสุขเพราะได้อยู่ร่วมกับครอบครัวทั้งวัน ทุกวัน เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้วความสุขในชีวิตมนุษย์นั้นมีความเรียบง่ายในตัวเองอยู่ ยิ่งในยามวิกฤติ เราจะยิ่งเห็นผู้คนรักใคร่ปรองดอง สามัคคีร่วมใจกันแก้ปัญหา
“แต่ทำไมเมื่อวิกฤติคลายตัว เรากลับต้องมาขัดแย้งกันต่อ
“สิ่งนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าสัมภาระในชีวิตที่เราแบกอยู่มันมีมากเกินไป และเราก็ไม่กล้าที่จะปล่อยวางมันลง แต่เมื่อมีวิกฤติเนี่ย วิกฤติมันจะมันก็บังคับให้เราต้องวางมันลง
“และผมต้องบอกว่า สัมภาระที่ผมแบกอยู่มันค่อนข้างมากเกินไปในปัจจุบัน เราถูกกดดันจากทุกด้าน ทำให้ต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องแบกรับความคาดหวัง ซึ่งบางทีผมก็คิดว่า มันถึงเวลาที่เราต้องกลับไปหาเจ้าชายน้อยในตัวเราเอง แล้วเราก็จะพบว่าทุกอย่าง มันช่างง่ายแสนง่าย เพียงแค่เราปลดสัมภาระที่แบกอยู่ วางมันลง แล้วตัวเราก็จะเบาลงเอง"
นี่คือสิ่งที่คุณพ่อพูดบนเวทีวันนั้น แม้ไม่ตรงเป๊ะทุกตัวอักษร แต่หลักใหญ่ใจความประมาณนี้
คืนนั้น เราสี่คนร่วมรับประทานอาหารเย็นแสนอร่อยมื้อพิเศษที่โรงแรมซีเอสปัตตานี เพราะบังเอิญตรงกับวันเกิดน้องชายผมพอดี คุณพ่อดูผ่อนคลายเป็นพิเศษ
“พ่อมาปัตตานีเที่ยวนี้ได้คุยกับเจ้าชายน้อยในใจตัวเองแล้ว เขาบอกพ่อแล้วว่าควรทำอย่างไร วางลง แล้วก้าวเดินต่อไป...”
สุดท้ายนี้ก็ขอให้ทุกคนพบเจอกับเจ้าชายน้อยในตัวเอง แล้ววันไหนที่รู้สึกเหนื่อย ก็มองย้อนกลับไปหาสิ่งที่เคยทำให้เราเคยมีความสุข ความคิดแบบใสซื่อที่เราเคยมี หยิบเจ้าชายน้อยขึ้นมาอ่านอีกสักรอบ แล้วปลดสัมภาระวางลงเสียบ้าง
มันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลยมิใช่หรือ ?