อนุ กมธ.ศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เชิญที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ หารือแก้ไขปัญหาประมงพาณิชย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รัลบผลกระทบจากมาตรการแก้ปัญหา IUU ตามข้อกำหนดของ EU ข้องใจทำไมเรือประมงมาเลเซียไม่ต้องเข้มงวดเหมือนไทย
สืบเนื่องจากคณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้เดินทางไปรับฟังปัญหาของพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และได้รับทราบความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ จากการที่รัฐบาลออกมาตรการที่เข้มงวดในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(Illegal, Unreported and Unregulated Fishing - IUU) เพื่อให้หลุดพ้นจาก“ใบเหลือง”ของสหภาพยุโรป(EU) ประเด็นนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่คณะอนุ กมธ.ให้ความสนใจเป็นพิเศษ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ในวันอังคารที่ 15 กันยายน 2563 คณะอนุกรรมาธิการฯ นำโดย นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ และคณะ ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและปัญหาการทำประมงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชิญ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทินกร อ่อนประทุม นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรี นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง และ ดร.คณิศร์ นาคสังข์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบเรือประมง สินค้า สัตว์น้ำ โดยมีประเด็นที่พิจารณาดังต่อไปนี้คือ
1) วิกฤติโลก ที่เกิดการ "ขาดแคลนอาหาร" ในขณะนี้น่าจะถือเป็นโอกาสของไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารของโลก และอาหารทะเลเป็นหนึ่งใอุตสาหกรรมที่สมควรได้รับการสนับสนุน
2) ศักยภาพการส่งอาหารทะเลของไทยที่ผ่านมาในอดีตเป็นเพราะเราเคยมีของกองเรือประมงและทรัพยากรบุคคลคือผู้ประกอบการที่มีทักษะและประสบการณ์การทำประมงในระดับโลก เนื่องจากเป็นการสั่งสมกระบวนการเรียนรู้จากคนหลายรุ่น (generation) ติดต่อกันมา
3) ปัญหาและอุปสรรคใหญ่ของประมงพาณิชย์ไทยในขณะนี้ได้แก่
3.1 แนวโน้มการลดปริมาณสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย
3.2 กฎหมายและระเบียบการทำประมงเพื่อแก้ไขปัญหา IUU เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการประกอบการประมงพาณิชย์เพราะมีการกำหนดมาตรฐานที่สูงมากจนเกินกว่าที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถปรับตัวให้สอดคล้องและทันการณ์กับกฎกติกาอันใหม่ได้
“ผมมีคำถามว่ากฎกติกาแบบนี้ EU ใช้กับประเทศอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ เพราะเหตุใดไทยจึงถูกปฏิบัติด้วยหลักเกณฑ์นี้ ผมสงสัยว่าทำไมเรือประมงพาณิชย์ไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องไปขึ้นทะเบียนกับประเทศมาเลเซีย หมายความว่าถ้าเป็นเรือของมาเลเซียสามารถประกอบการได้ แต่ถ้าเป็นเรือประมงไทยกลับไม่สามารถทำธุรกิจได้ ผมกำลังค้นหาคำตอบครับ เพราะผมคิดว่าโดยหลักการแล้วการทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ ทุกประเทศสมควรได้รับการปฏิบัติบนหลักเกณฑ์เดียวกัน และเสมอภาคกัน สิ่งที่ผมยังไม่ใคร่เข้าใจก็คือทำไมชาติอาเซียนอื่นๆยังคงสามารถทำธุรกิจประมงพาณิชย์ได้ ประเทศอื่นๆ ได้รับสิทธิ์พิเศษอะไรหรือไม่ หรือเป็นเพราะความสามารถของทีมเจรจาของประเทศนั้นๆ”นายสังศิตกล่าว
4) ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนบางประการคือ
4.1 สมควรจะมีการเจรจาและทบทวนการทำข้อตกลงกับ EU เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา IUU
4.2 แก้ไข พ.ร.ก.ประมง (ฐานะเป็น พ.ร.บ.) และ กฎหมายลำดับรอง ให้เป็นมาตรฐานที่เป็นธรรม และไม่ขัดต่อการแก้ไขปัญหา IUU
4.3 รัฐบาลสมควรมีมาตรการช่วยเหลือแหล่งเงินกู้ soft loan ให้แก่ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์
4.4 ควรมีการเจรจาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน คือมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในการทำประมงและการซ่อมเรือประมง
4.5 สมควรให้การสนับสนุนการบริหารจัดการของคณะกรรมการนโยบายประมงของไทยให้มีความคล่องตัวแบบมืออาชีพ
4.6 สมควรให้มีการแก้ไขปัญหาสัญชาติของเรือประมง เพราะเรือประมงไทยที่ต้องไปขึ้นทะเบียนที่มาเลเซียราว 5 ปีมาแล้วต้องการนำเรือประมงกลับมาซ่อมที่เมืองไทย
4.7 ต้องส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเลฮาลาลเพื่อตอบสนองตลาดฮาลาลโลก ซึ่งมีประชากรผู้บริโภคราว 3 พันล้านคน
4.8 สมควรทบทวนระเบียบ หลักเกณฑ์ของกองทุนพัฒนาการประมง ซึ่งยังมีอุปสรรคเกี่ยวกับการติดเครดิตบูโร ทำให้ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
“เพื่อหาคำตอบให้แก่พี่น้องประมงพาณิชย์ทั้งประเทศในวันอังคารหน้าที่ 22 กันยายน อนุ กมธ.จะได้เชิญประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย นอกจากนี้ผมได้พูดคุยกับคุณนริศ ขำนุรักษ์ ประธานอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาประมงไทย ของสภาผู้แทนราษฎร และตกลงกันว่าจะร่วมมือกันทำงานความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไปครับ”นายสังศิตกล่าว