ทหารไทยกลับจากฮาวายติดโควิดเพิ่มอีก 1 ราย หลังก่อนหน้านี้ ป่วยไปแล้ว 8 คน พบมีอาการตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. ยอดป่วยสะสมล่าสุด 3,298 ราย สธ.แจงไม่เจอผู้ป่วยในประเทศ แต่ไม่ใช่ความเสี่ยงเป็น 0 มีโอกาสเจอได้ แต่ต้องจำกัดวงผลกระทบ ย้ำ ป้องกันตนเอง เร่งเดินหน้าคัดกรองค้นหาเพิ่ม 3 กลุ่ม
วันนี้ (29 ก.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 1 ราย เป็นทหารไทยที่กลับมาจากฝึกที่รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยถึงไทยวันที่ 22 ก.ค. โดยวันที่ 25 ก.ค. เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอเล็กน้อย วันที่ 27 ตรวจพบเชื้อ ซึ่งทหารคณะเดียวกันก่อนหน้านี้ตรวจพบเชื้อไปแล้ว 8 ราย ทั้งนี้ ไม่มีผู้รักษาหายป่วยและเสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้มีผู้ป่วยสะสมรวม 3,298 ราย หายป่วยรวม 3,111 ราย เสียชีวิตรวม 58 ราย และอยู่ระหว่างการรักษา 129 ราย
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวอายุ 20-39 ปี หรือวัยทำงาน ทำให้อัตราการป่วยตายของไทยต่ำ อัตราป่วยผู้ชายกับผู้หญิงอัตราใกล้กัน แต่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็น กทม.และปริมณฑล ภาคใต้ คือ ภูเก็ตและ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก ส่วนอื่นเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นเป็นลำดับ จากที่มีผู้ป่วยช่วง ม.ค. ผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนเดือน มี.ค. จนใช้มาตรการต่างๆ ทำให้ดีขึ้นใน เม.ย. และ พ.ค. จนเจอผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศรายสุดท้าย 25 พ.ค. ก็ไม่พบมาสักระยะที่แพร่ระบาดในประเทศ ที่เจอระยะหลังมาจากต่างประเทศ และเข้าพำนักสังเกตอาการที่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ แม้สถานการณ์ของไทยค่อนข้างดี จำนวนผู้ป่วยส่วนใหญ่มาต่างประเทศ แต่ไม่ได้แปลว่าความเสี่ยงในประเทศไม่มี หรือจะเป็น 0
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ต่างประเทศผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศอินเดียมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มมากที่สุดเกือบ 5 หมื่นคน ปากีสถาน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วยรายใหม่หลักพัน สำหรับการป่วยรายใหม่ทั่วโลก เพิ่มวันละ 2-2.5 แสนราย ทำให้ทุก 4-5 วัน มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน ถือว่ารวดเร็วมาก ทำให้เข้าใจว่า อัตราป่วยตายลดลง แต่ไม่ใช่เพราะผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มไปเร็วกว่ารายงานที่เสียชีวิต เพราะส่วนใหญ่จะป่วยประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน จะมีการเสียชีวิต
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เวียดนาม เมืองดานัง ที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 100 วัน ก็กลับมาพบอีกครั้ง มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว แต่อยู่ในหลักสิบ จึงมีการออกมาตรการต่างๆ เช่น ขอให้คนเดินทางมาท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนากักตัวเองสังเกตอาการ 14 วัน ซึ่งเวียดนามพยายามสอบสวนสาเหตุ เมื่อยืนยันชัดเจน จะทำให้ไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้วางแผนรับมือกับโอกาสที่จะมีผู้ป่วยใหม่ในประเทศได้ ฮ่องกงที่มีผู้ป่วยใหม่อีก ก็กลับมาใช้มาตรการเข้มข้นอีกครั้ง เพื่อเสริมสร้างการเว้นระยะห่างทางสังคมเพิ่มขึ้น
“จากตัวอย่างที่เห็น โอกาสที่ไทยจะกลับมาพบผู้ป่วยใหม่ พบการระบาดในประเทศมีโอกาสอยู่ จึงไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่า ไม่เจอระยะหนึ่งแล้วจะไม่เจอตลอดไป ช่วงที่ไม่เจอผู้ป่วย ภาครัฐกำลังเตรียมพร้อมรับมือหากเจอผู้ป่วยรายใหม่ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม จำกัดวงแพร่ระบาดให้ดีที่สุด หากแพร่โรคในประเทศจะจำกัดในวงจำกัด ไม่ให้กระทบสังคม เศรษฐกิจมากเกินไป เป็นเป้าหมายการดำเนินการ ไม่ใช่เป้าหมายไม่เจอผู้ป่วยเลย แต่หากเจอจำกัดวงไม่ให้แพร่ระบาดเป็นวงกว้างแบบในต่างประเทศ” นพ.ธนรักษ์กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มาตรการที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อทั้งระดับบุคคลและองค์กร โดยระดับบุคคลให้เลี่ยงออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เลี่ยงสถานที่แออัด เลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้อื่น เลี่ยงสถานที่คนรวมตัวกันจำนวนมาก หากจำเป็นต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพราะการรวมเป็นกลุ่มก้อน ใช้เวลาค่อนข้างนาน เป็นความเสี่ยงที่สำคัญ โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ คนอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยรัศมี 2 เมตร นานเกิน 5 นาที ไม่สวมหน้ากาก นอกจากนี้ ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หากหาไม่ได้ ล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์ กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ช่วยป้องกันโรคได้ดี ส่วนหลายเรื่องที่ระดับบุคคลทำไม่ได้ ต้องใช้ระดับองค์กร เช่น ให้เจ้าหน้าที่พนักงานทำงานที่บ้านมากสุด เหลื่อมเวลามาทำงาน ส่งเสริมทำธุรกรรมออนไลน์ ลดแออัดสถานที่ทำงาน
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการทางสาธารณสุขยังเป็นเรื่องสำคัญ คือ ป้องกัน ค้นหา รักษา และควบคุมโรค ตอนนี้เน้นมาตรการป้องกัน ค้นหาผู้ป่วย โดยเฉพาะ 2-3 กลุ่มสำคัญ คือ ผู้มีอาการปอดอักเสบทุกคน บุคลากรที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ และประชากรเสี่ยงมีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้รับการคัดกรอง