xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผย 3 เหตุการณ์ทำ “ไทย” เสี่ยง “โควิด” เวฟสอง ย้ำพื้นที่กักตัว “แรงงานต่างด้าว” ต้องได้มาตรฐาน เป็นเอกเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผย องค์การอนามัยโลก-ผู้เชี่ยวชาญ ประเมินไทย คุมโควิดได้ดี เพราะมีโครงสร้างพื้นฐาน ทีม อสม.- ทีมสอบสวนโรค ต้องพัฒนาต่อ แนะพัฒนาระบบข้อมูลเรียลไทม์ ระบุ 3 เหตุการณ์ทำไทยเสี่ยงระลอก 2 ย้ำ พื้นที่กักตัวแรงงานต่างด้าว ต้องได้มาตรฐาน แยกเป็นเอกเทศ แนะพื้นที่ด่านพรมแดนต้องเตีรยมรับมือ ย้ำถอยกลับไปสู่ชีวิตวิถีเก่า ชี้ ทุกคนรู้ระบาดรอบสองมาแน่ แต่ยังทำ วอนช่วยกันลดความเสี่ยง

วันนี้ (29 ก.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) และผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานต่างๆ มาประเมินการจัดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า สธ.มีการประชุมกับองค์การอนามัยโลกทุกสัปดาห์ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น องค์การอนามัยโลกก็เสนอตัวเพื่อมาประเมิน ซึ่งตอนไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็เคยมีการมาประเมินแบบนี้ พอสถานการณ์ดีขึ้นจบเวฟหนึ่งก็มาประเมินเรา เพื่อสรุปบทเรียน และเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสที่เราจะมีเวฟสอง ส่วนทีมประเมินไม่ได้เป็นคนมาจากต่างประเทศ แต่เป็นคนขององค์การอนามัยโลก ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข องค์กรระหว่างประเทศ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ซึ่งบางคนเป็นคนไทย แต่ไม่ได้ทำงานใน สธ. เพราะเราไม่ต้องการให้มาชมกันเอง

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมประเมินอยู่ในกระบวนการเขียนรายงาน ซึ่งประเด็นสำคัญจากการประเมิน คือ เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เกิดจากการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่ดีดนิ่้วแล้วเกิดขึ้นได้ อย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ใช้เวลา 40 ปี ทีมสอบสวนโรคพัฒนามา 30-40 ปี ระบบปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินใช้เวลาพัฒนามากกว่า 10 ปี เพราะฉะนั้น ระยะยาวเราคงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไป เมื่อเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เราตอบโต้ได้ดี เพราะเราตัดสินใจเร็วและตัดสินใจบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ มีทีมวิชาการที่ค่อนข้างดี เช่น มีทีมที่ปรึกษาประชุมกันทุกวันพฤหัสบดี เป็นแหล่งข้อมูลในการให้การตัดสินใจ ส่วนประเด็นที่ต้องปรับปรุง คือ เรื่องข้อมูล อยากเห็นข้อมูลเราเร็วกว่านี้ เพราะเห็นเรามีศักยภาพที่ทำได้ ทำไมไม่ Available Online เหมือนใสต่างประเทศที่เขาทำได้ เช่น ผลการสอบสวนทำไมถึงไม่ขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งประเด็นพวกนี้ทำได้ไม่ยากและควรทำ

เมื่อถามว่า ทีมวิชาการมีการประเมินหรือไม่ว่าระลอกสองของไทยจะเกิดจากช่องโหว่ตรงไหนได้บ้าง นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มี 3 เหตุการณ์ คือ 1. เราอาจมีผู้ป่วยเหลือในประเทศ ซึ่งคิดว่าเป็นไปได้ เมื่อสถานการร์เริ่มดีขึ้น การค้นหาเราก็ถอยลงไปหน่อย คนไข้ปอดบวมก็ไม่ได้ตรวจ 100% ทั้งที่ความจริงควรตรวจมากกว่านี้ การเน้นการค้นหาก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนเดิม 2. คนเดินทางมาจากต่างประเทศ โดยคนที่เดินทางมาตรงๆ จะเข้ากักตัว 14 วัน โอกาสหลุดไม่มาก แต่ก็มีโอกาส และ 3. เข้าเมืองผิดกฎหมายที่น่ากลัวมาก ซึ่งตามข่าวก็มีตลอดเวลา ไม่ว่าภาครัฐพยายามอย่างไรก็จดการได้ไม่ 100% ตอนนี้ก็พยายามให้การเข้าเมืองผิดกฎหมายมาเป็นถูกกฎหมาย ใครอยากเอาเข้ามาก็ไปเซตระบบควอรันทีน ตามประกาศผ่อนคลายระยะที่ 6 ก็จำต้องทำไปเท่าที่ทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่เราไม่รู้ เป็นความเสี่ยงที่เราพอคาดการณ์ได้

“การเข้าเมืองจากต่างประเทศ หากสามารถจัดการเรื่องเฝ้าสังเกตอาการได้เป็นอย่างดี โอกาสหลุดจะไม่มาก หากการบริหารจัดการกักกันไว้สังเกตอาการทำได้ไม่ดี มีการหละหลวมในบางจุด จะก่อให้เกิดการแพร่จากคนไปคนได้” นพ.ธนรักษ์ กล่าว


ถามต่อถึงการจัดสถานที่กักกันแรงงานต่างด้าวที่จะนำเข้ามา นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตามประกาศคือให้เจ้าของกิจการที่จะเอาแรงงานเข้ามา จัดตั้งสถานที่กักกันเอง และต้องมีมาตรฐานตามที่รัฐกำหนด โดยจะกักกันในพื้นที่เข้าเมือง ไม่ใช่พื้นที่ปลายทางที่สถานประกอบการตั้งอยู่ เช่น โรงงานอยู่ที่สมุทรสาคร แรงงานเข้าทางแม่สอด ก็ต้องกักตั้งแต่แม่สอดเลย ครบ 14 วันค่อยเดินทางมาโรงงาน เช่น อาจไปหาสถานที่พักราคาถูก เป็นสถานที่กักกัน โดยจะมีระบบตรวจสอบว่าดำเนินการได้ตามมาตรฐานหรือไม่ คนที่จะเอาเข้ามาก็คงต้องเข้าใจสถานการณ์ คงไม่มีบริษัทไหนอยากได้ชื่อเป็นคนเอาเชื้อเข้าประเทศ และพื้นที่รับต่างด้าวก็คงไม่อยากเป็นพื้นที่มีการแพร่ระบาด สองเรื่องนี้จะช่วยลดความเสี่ยง ดังนั้น ด่านบกใหญ่ๆ ก็ต้องเตรียมเรื่องนี้ให้ดี และต้องเตรียมทีมควบคุมโรคสอบสวนโรค เพราะอย่ามองแค่กิจกรรมหนึ่ง แต่ต้องมองเชิงระบบว่า หากเกิดเหตุจะทำอะไรต่อด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสถานกักกันสำหรับแรงงานต่างด้าวเสนอเข้ามา แต่คิดว่าเร็วๆ นี้ เพราะเป็นความต้องการของเราเหมือนกัน

“พื้นที่กักตัว ควรเป็นพื้นที่แยกตัวจากที่อื่นเป็นเอกเทศ ไม่ใช่หอพักมีคนอยู่แล้ว จะเอาห้องหนึ่งมาเป้นสถานที่กักกัน แบบนี้ก็จะวุ่นวาย เป็นหลักการเดียวกับคอนโดอยู่ได้หรือไม่ ทางภาครัฐจะกำหนดมาตรฐานและตรวจสอบกัน ถ้าเป็นไปตามที่คิดเอาไว้ มีการกำหนดมาตรฐาน มีการยื่นว่าจะใช้ที่ไหน มีการไปตรวจสอบล่วงหน้าว่า สามารถใช้เป็นที่กักกันได้ และไปตรวจสอบเป็นระยะ ถ้าทำได้ความเสี่ยงก็จะต่ำมาก ส่วนการดูแลแรงงานต่างด้าว ผู้ประกอบการต้องจัดการเองทั้งหมด ส่วนการตรวจเชื้อก็จะตรวจสองครั้งเช่นกัน บริษัทเอกชนต้องไปคิดว่าวิธีไหนประหยัดต้นทุนมากที่สุดและไม่มีความเสี่ยง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ถามต่อว่า เรื่องการประหยัดต้นทุนโดยให้พักหลายคนต่อห้อง ตรงนี้มีเกณฑ์หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ถ้าเมื่อไรที่เดินทางเข้ามาและเกิดป่วย การกลับไปเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ถ้า 1 ห้องพักกัน 4 คน เมื่อมีผู้ป่วยแทนที่จะรักษา 1 คน ก็ต้อง 4 คน ก็จะเป็นภาระของฝั่งเรา หลักการเรื่องกี่คนต่อห้องจะเป็นหลักการว่า เราไม่ต้องการให้มีการแพร่ระบาดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างด้าว มาตรฐานกี่คนต่อห้องต้องระบุไว้อยู่แล้วว่าไม่เกินเท่าไร วิธีใช้ชีวิตร่วมกันในห้องเป็นอย่างไร ถ้าเข้าใจไม่ผิด เราไม่เคยอนุญาตให้มากกว่า 2 คน ตรงนี้ต้องไปดูประกาศว่าให้ไม่เกินกี่คนต่อห้อง มิเช่นนั้นเอกชนคงไปทำไม่ถูก

“เรามีมาตรฐานป้องกันโรคให้องค์กร หน่วยงาน สถานที่ต่างๆ ธุรกิจต่างๆ เราอยากให้ทุกคนทำได้ตามมาตรการ เราคงไม่หย่อนมาตรการ และทุกคนคิดคล้ายกัน ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นอีกเราคงไม่โครามครามเข้าไปปิดนู่นนี่ก่อน แต่คงใช้มาตรการสาธารณสุขก่อน และไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะไม่มีการแพร่โรคในประเทศเลย มีบ้างไม่เป้นไร แต่อยามากจนรับมือไม่ได้ จะไปสู่เป้าหมายนี้ได้ ทุกคนต้องรักษามาตรฐานตัวเอง ใครทำอะไรได้ก็ทำ ตอนนี้รู้สึกว่าไม่ว่าเป็นใครพอรู้สึกสบายตัวก็ถอยกลับไปสู่โอลด์นอร์มัลตลอด อะไรที่เดินทางแล้วดีก็ต้องทำ ตอนนี้เด็กยังเรียนออนไลน์เลย ผู้ใหญ่จะไม่พยายามเลยหรือ การทำงานที่บ้านเป็นอะไรที่ไม่ใช่กลับมามีโรคก็ต้องกลับมาบังคับทำงานที่บ้านอีก ทุกคนพูดว่ากลับมาแน่ๆ เราจะไม่เตรียมการไปข้างหน้าหรือ ควรทำอะไรที่ไม่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงให้ตนเอง สังคม ชุมชน ตอนนี้ผับยังทำไม่ได้ ก็ให้คำแนะนำปฏิบัติให้ได้ หากจำเป็นจริงๆ ผับไหนไม่ไหวก็ต้องเตือนและดำเนินการให้ปรับปรุงให้ได้ก่อนมาดำเนินการใหม่” นพ.ธนรักษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น