รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โควิด-19 พบทหารไทยกลับจากฮาวายป่วยเพิ่มอีก 1 ราย ชี้เมืองดานัง เวียดนามกลับมาระบาด สถานการณ์ในไทย แม้ตัวเลขจะนิ่งแต่วางใจไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดน
วันนี้ (29 ก.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวในนามศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ระบุว่า ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 1 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,298 ราย ป่วยหายแล้วสะสม 3,111 ราย รักษาอยู่ 129 ราย เสียชีวิตสะสมรวม 58 ราย
ผู้ป่วยรายใหม่ประเทศไทย เป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ เป็นทหารที่กลับจากการฝึกที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 27 ก.ค. มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอเล็กน้อย ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.
ในภาพรวม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว อายุตั้งแต่ 20-49 ปี แต่อัตราการป่วยค่อนข้างต่ำ ผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย พื้นที่แพร่ระบาดคือกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ ภาคใต้ มีภูเก็ต และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี
สถานการณ์ในไทยดีขึ้นเป็นลำดับจากวันที่มีผู้ป่วยเดือนมกราคม มีผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในเดือนมีนาคม จากนั้นใช้มาตรการทางสาธารณสุข มาตรการทางสังคม ทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พบผู้ป่วยในประเทศรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ผู้ป่วยที่เจอระยะหลังพบผู้ป่วยจากต่างประเทศ และพำนักสังเกตอาการที่ State Quarantine แต่ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงในประเทศจะไม่มี
สถานการณ์ในต่างประเทศ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในภูมิภาคเอเชียมีหลายประเทศแพร่ระบาดค่อนข้างมาก ประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย คือ ประเทศอินเดีย มีผู้ป่วยใกล้ 50,000 คน ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน บังกลาเทศ และในอาเซียนมี 2 ประเทศ พบผู้ป่วยหลักพันคน คือ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ สถานการณ์ในต่างประเทศมีผู้ป่วยต่อวัน 200,000-250,000 คน ทุกๆ 4-5 วัน ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยอัตรา 1 ล้านคน มีอัตราค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจะมีระยะประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน
ส่วนสถานการณ์ต่างประเทศที่น่าสนใจ ที่ประเทศเวียดนาม พบผู้ป่วยอีกครั้งที่เมืองดานังหลักสิบคน หลังไม่พบผู้ป่วยมานานเกือบ 100 วัน จึงเริ่มใช้มาตรการทางสังคมและให้ผู้เดินทางจากเมืองดานังกักตัว เพื่อสังเกตอาการ 14 วัน ส่วนประเทศจีนกลับมามีผู้ป่วยมากขึ้น แต่ยังไม่รุนแรงเท่ากับก่อนหน้านี้ ฮ่องกงกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น โดยใช้มาตรการทางสังคมภาคบังคับ
โดยย้ำว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะกลับมามีผู้ป่วยในประเทศยังมีอยู่ ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจ ภาครัฐกำลังดำเนินการเตรียมความพร้อมในการรับมือ หากพบผู้ป่วยรายใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สามารถตอบโต้ ตอบสนองสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม จำกัดวงการแพร่ระบาด และพยายามจำกัดให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมหรือเศรษฐกิจมากเกินไป
มาตรการที่จำเป็นจะต้องดำเนินการ คือ มาตรการระดับบุคคล เน้นย้ำออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น อย่าลืมสวมใส่หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทานร้อน ใช้ช้อนส่วนบุคคล ส่วนมาตรการระดับองค์กร สนับสนุนให้ทำงานที่บ้าน การเหลื่อมเวลาทำงานให้เป็นมาตรฐานการทำงาน ส่งเสริมทำธุรกรรมออนไลน์ การทำแผงกั้นในที่ทำงาน การทำให้ธุรกรรมมีการสัมผัสใกล้ชิดน้อยที่สุด และส่งเสริมในการป้องกันและควบคุมโรคที่ดี
มาตรการที่สำคัญที่สุด คือ มาตรการทางสาธารณสุข ได้แก่ การป้องกัน การค้นหา การรักษา และการควบคุมโรค ตอนนี้เน้นไปที่การป้องกันและค้นหาผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ บุคลาการทางการแพทย์ที่มีอาการทางเดินหายใจ และประชากรที่มีความเสี่ยง สถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศเตรียมความพร้อมรักษาโควิดต่อเนื่อง และดูแลเต็มที่ ส่วนการสอบสวนโรคกำลังเสริมสร้างความเข้มแข็งมากขึ้น เพิ่มหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อเพิ่มขึ้น
ในช่วงคำถาม เมื่อถามว่า สถานการณ์คอนเสิร์ตจะมีข้อปฏิบัติอย่างไร ชี้แจงว่า การป้องกันในกรณีคนหมู่มาก ต้องมีระบบการคัดกรอง เหมือนสถานที่อื่นๆ โดยต้องสังเกตตัวเอง ผู้จัดต้องมีระบบคัดกรองที่ดี และต้องสวมใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย การจัดพื้นที่ไม่ควรแออัดจนเกินไป สถานที่จัดต้องมีอากาศระบายได้ค่อนข้างดี อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ไม่ควรจะไว้วางใจคือ พรมแดนค่อนข้างเปิด ผ่านช่องทางธรรมชาติ มีคนลักลอบเข้าเมืองได้ จึงใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงมากเกินไป