รมว.สธ. วอนสภาพัฒน์เห็นใจ สนับสนุนการทำงานของ อสม. โควิด-19 จ่ายค่าตอบแทน 19 เดือน ตามเดิม เผยยอมให้ลดงบประมาณเงินกู้ในโครงการอื่น เพื่อสนับสนุน-ให้กำลังใจ บุคลากรด่านหน้า
วันนี้ (27 ก.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเสนอให้รัฐบาล จ่ายค่าตอบแทนแก่ อสม. เดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 19 เดือน ตั้งแต่ มี.ค. 63 - ก.ย. 64 เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานแก่อสม. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวัง ส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ว่า เรื่องนี้ รัฐบาลควรจะให้การสนับสนุน และให้กำลังใจแก่ อสม. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ได้ผลดีเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับจากประชาชนทั่วไป และได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ และองค์การอนามัยโลก
“บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทุกคนคือด่านหน้าที่ทุ่มเท ต่อสู้ ป้องกันโรคโควิด-19 ผมจะสนับสนุนในทุกส่วนที่ทำได้ หากต้องตัด หรือปรับลดงบประมาณของ สธ. ในด้านอื่นที่อยู่ในลำดับท้ายๆ ก็จะทำ ผมยืนยันว่า ข้อเสนอการเพิ่มค่าตอบแทนพี่น้อง อสม. จนถึง ก.ย. 64 คือ ความสำคัญอันดับต้นๆ เป็นสิ่งที่ต้องทำ ชาวสาธารณสุข และ อสม. ยังต้องทำงานเชิงรุก เพื่อไม่ให้โควิด-19 กลับมาได้อีก ซึ่งค่าตอบแทนคือขวัญกำลังใจ ที่เทียบไม่ได้กับความเสียสละของพวกเขา และเป็นโครงการที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย อีกทั้งเป็นข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนใหญ่ในการพิจารณารับรอง พ.ร.ก.เงินกู้ ด้วย”
ส่วนกรณีที่ เลขาธิการสภาพัฒน์ ชี้แจงเหตุที่ต้องตัดงบประมาณตอบแทน อสม. จาก 19 เดือน เหลือ 7 เดือน เพราะกระทรวงสาธารณสุขเสนอโครงการต่างๆ ที่จะใช้เงินกู้ รวมแล้วเป็นเงิน 51,000 ล้านบาท เกินวงเงิน 45,000 ล้านบาท นั้น นายอนุทิน ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุข เสนอโครงการขอใช้เงินกู้ จำนวน 43,900 ล้านบาท ส่วนที่เกินมานั้น เป็นโครงการที่หน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงอุดมศึกษาฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ มหาวิทยาลัยต่างๆ เสนอ อีกประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งสภาพัฒน์ ให้นำมารวมกับกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอเป็นก้อนเดียวกัน จึงทำให้งบที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข เกิน 45,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีวงเงิน ไม่เกิน 45,000 ล้านบาท
รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ในชั้นกรรมการกลั่นกรอง ของสภาพัฒน์ ได้แจ้งให้ กระทรวงสาธารณสุขยืนยันและเรียงลำดับความสำคัญของโครงการที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอขอใช้เงินกู้ ให้สภาพัฒน์ พิจารณา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไปว่า โครงการจัดสรรค่าตอบแทนแก่ อสม. มีความสำคัญ เป็นลำดับที่ 1 และให้จัดสรรงบเต็มจำนวนตามที่เสนอขอใช้เงินกู้ คือ 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการทำงานของ อสม. 1,050,000 คน ให้ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น หากสภาพัฒน์พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องตัด หรือ ลดงบประมาณ การใช้เงินกู้ในโครงการอื่นๆ ก็สามารถทำได้ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมพิจารณาปรับปรุงโครงการ อื่นๆ และนำเสนอให้สภาพัฒน์พิจารณาอีกครั้ง แต่ขอให้คงงบค่าตอบแทน อสม. ไว้ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ
“ทุกโครงการที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้สภาพัฒน์ พิจารณา อยู่ในกรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท แต่หากสภาพัฒน์ ต้องการให้ปรับลด ปรับปรุง ก็ให้แจ้งมาแต่ควรจะให้คนทำงานได้มีโอกาสชี้แจงการทำงานจริง ให้คณะกรรมการ ทราบด้วยและกระทรวงสาธารณสุข ขอยืนยันว่าการเสนอขอใช้เงิน 43,000 ล้านบาท ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. เป็นการเสนอของคณะแพทย์ ที่มีการพิจารณากลั่นกรองมาแล้วอย่างมีเหตุผล เป็นไปตามหลักวิชาการสาธารณสุข การแพทย์ การควบคุมโรค ทุกประการ ไม่ใช่โครงการที่นำเสนอเกินจำเป็น”
ส่วนที่มีการให้เหตุผลว่า ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ทั้ง อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บุคลากรทางการแพทย์ และ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งได้รับค่าตอบแทนพิเศษ ถึงเดือนกันยายน 2563 เช่นเดียวกันนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า อสม. มีสถานะจากบุคลากร และเจ้าหน้าที่ทุกกลุ่มที่นำมาอ้างถึงและเทียบเคียงกัน อีกทั้งการทำงานของ อสม. ก็แตกต่างจากบุคลากรทางการแพทย์ อสม.ไม่มีเงินเดือน ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีสวัสดิการ ได้รับเพียงค่าป่วยการในการทำงาน เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 อสม.ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงภัยมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น จากการเฝ้าระวังทุกบ้าน ทุกครัวเรือน
กระทรวงสาธารณสุข จึงเสนอขอให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำงานแก่ อสม. คนละ 500 บาทต่อเดือน เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่มาก และเหมาะสมกับการทำงานที่เพิ่มขึ้น หากรัฐบาลเข้าใจการทำงานของ อสม. เชื่อว่าจะไม่ปฏิเสธ และต้องสนับสนุน เพราะ อสม.ทุกคนกำลังทำงานให้รัฐบาล และสร้างความเชื่อถือ ศรัทธา ให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีระบบควบคุมโรคโควิด-19 ดีที่สุด ในสายตาคนทั้งโลก
“อสม.มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ เพิ่มขึ้น ตามที่รัฐบาลมอบหมาย จึงควรแยกพิจารณา อสม.เป็นกรณีพิเศษ”
สำหรับความเสี่ยงที่จะมีการระบาดรอบที่ 2 จะมากหรือน้อย ซึ่งสภาพัฒน์นำมาเป็นเหตุผลพิจารณาค่าตอบแทนแก่ อสม. นั้น รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า อสม.ทำงานในส่วนของการเฝ้าระวัง ส่งเสริม ป้องกัน ควบคุมการระบาด เป็นผู้ที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะต้องได้รับการสนับสนุนเป็นลำดับแรก และหาก อสม.ทำงานได้เต็มที่ ก็มีโอกาสที่จะลดความเสี่ยงที่จะมีการระบาดรอบที่ 2 ได้มาก