xs
xsm
sm
md
lg

สธ.หนุน อสม.รับค่าตอบแทน 500 บาท 19 เดือน ชี้ทุ่มเท เสียสละ ทั้งที่รับผลกระทบจากโควิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.หนุน อสม.ทั่วประเทศ รับค่าตอบแทน 500 บาท นาน 19 เดือน จากเงินกู้ เพื่อเป็นกำลังใจ หลังทำงานด่านหน้าช่วยสู้โรคโควิด-19 ทั้งที่เป็นผู้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและสังคมเช่นกัน

จากกรณีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เตรียมบุกทำเนียบรัฐบาล วันที่ 29 ก.ค.นี้ หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ตัดเงินช่วยเหลือ อสม. ที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอขอใช้งบ พ.ร.ก.เงินกู้ จ่ายค่าตอบแทน อสม.คนละ 500 บาท เป็นเวลา 19 เดือน เหลือเพียง 7 เดือน


วันนี้ (27 ก.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดี นอกจากประชาชนร่วมมือแล้ว อสม.ทั่วประเทศ เป็นอีกพลังที่ขับเคลื่อนระบบเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มแข็ง ทั้งลงพื้นที่ให้คำแนะนำ เยี่ยมเยียนชุมชน ติดตามผู้มีความเสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค หรือกักตัว เป็นการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง อสม.หลายคนต้องเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติงาน การสร้างเสริมขวัญกำลังใจ อสม. จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐพึงให้ความสำคัญ


นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า อสม.มีส่วนสำคัญในการป้องกัน ควบคุมโรคโควิด-19 มีการเคาะประตูบ้านให้ความรู้ประชาชน แนะนำ และเป็นตัวอย่างในการป้องกัน ควบคุมโรค ภายใต้วิถีชีวิตใหม่ สร้างความตระหนักไม่ให้ชุมชนการ์ดตก เป็นด่านหน้าในการค้นหา คัดกรองประชากรกลุ่มเสี่ยงกว่า 14 ล้านครัวเรือน และติดตามกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่า 1 ล้านคน เป็นการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง ทุ่มเท เสียสละทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย และยังเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและสังคมจากโรคโควิด-19 เช่นประชาชนทั่วไป ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบแทนและให้กำลังใจ สธ.เห็นควรให้ อสม. ได้รับค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยในการป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 500 บาท เป็นระยะเวลา 19 เดือน ระหว่าง มี.ค. 2563 - ก.ย. 2564 ตามระยะเวลา พ.ร.ก.เงินกู้

“แม้ว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 จะดีขึ้น แต่ อสม. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนต่อไปอย่างเข้มข้น ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ของประชาชนอันเกิดจากผลกระทบของโรคโควิด 19 โดยเฉพาะการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจแก่คนในชุมชน” นพ.ธเรศ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น