คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกโตจนวิ่งเล่นได้แล้วคงจำช่วงเวลาที่เด็กๆต้องการก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นด้วยการรบเร้าอยากได้จักรยานมาขี่เล่น เวลาหัดใหม่ๆก็มักจะร้องขอให้ช่วยพาช่วยจับไม่ให้ล้ม พอขี่ได้คล่องแคล่วสักหน่อยก็อยากจะพาจักรยานคู่ใจออกไปหาประสบการณ์แปลกใหม่เองคนเดียวไม่เหลียวมามองคนข้างหลังอีกเลย แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่น่ายินดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่เลยทีเดียว
ในหลายครอบครัวจะเห็นความเปลี่ยนแปลงข้างต้นจนเป็นเรื่องปกติ เพราะโดยทั่วไปแล้วเด็กแต่ละคนจะมีพื้นฐานพัฒนาการที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เริ่มต้นตั้งแต่การพึ่งพาคุณพ่อคุณแม่เพื่อเรียนรู้และเริ่มต้นที่จะทำสิ่งใหม่ๆก่อน ไม่ว่าจะเป็นหัดเดิน หัดวิ่งหรือหัดขี่จักรยาน เมื่อคุ้นเคยหรือทำได้ดีขึ้นแล้วก็จะพยายามช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองมากขึ้นจนรู้สึกว่าทำได้เองและพัฒนาความมั่นใจไปจนเชื่อว่าสามารถที่จะเอาชนะคนอื่นๆได้
ลักษณะความพยายามในการเรียนรู้ดังกล่าวของเด็กส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสิ่งที่ Julian Rotter นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเรียกว่า “Locus of control” (LOC) หรือ “ความเชื่ออำนาจควบคุมตนเอง” เป็นทัศนคติและการรับรู้เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อความเป็นไปของแต่ละตัวบุคคล ซึ่งกระตุ้นให้เกิดเป็นพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพที่สอดคล้องกับการรับรู้ของตัวเอง โดย Rotter ระบุว่ามีเพียง 2 ปัจจัยหลักเท่านั้น กล่าวคือ
1.ความเชื่ออำนาจควบคุมภายในตนเอง (Internal LOC) เป็นการรับรู้ว่าสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือผิดหวังที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้นเป็นผลมาจากการกระทำของตัวเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือแต่ละคนสามารถจัดการและควบคุมผลของการกระทำได้เอง ด้วยทัศนคติดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมคุณค่าและความมั่นใจในตัวเองว่าจะสามารถปรับปรุงและพัฒนาตนเองเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้เสมอ
2.ความเชื่ออำนาจควบคุมภายนอกตนเอง (External LOC) เป็นการรับรู้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงและแก้ไขสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากทุกสิ่งล้วนเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสามารถ อำนาจวาสนาและฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคลอื่นที่มีมากกว่า หรือแม้แต่ความเชื่อเรื่องโชคชะตาและบาปบุญคุณโทษที่เข้ามากำหนดความเป็นไปของตัวเอง
ตัวอย่างเรื่องการหัดเดินหรือหัดขี่จักรยานนับเป็นข้อบ่งชี้ที่ดีว่าโดยพื้นฐานแล้วเด็กมีความโน้มเอียงไปทางความเชื่ออำนาจควบคุมภายในตนเองหรือเรียกได้ว่ามี LOC สูง แม้ในตอนเริ่มแรกจะต้องพึ่งพาผู้ปกครองเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการรับรู้เกี่ยวกับตัวเองในทางบวกว่าหากหมั่นฝึกฝนก็จะสามารถพัฒนาตัวเองจนสามารถขี่จักรยานได้ในที่สุด เพราะหากเด็กไม่มีพื้นฐานความคิดความเชื่อมั่นในตัวเองมาก่อนแล้ว รถล้มเพียงครั้งสองครั้งก็อาจล้มเลิกความตั้งใจที่จะฝึกฝนต่อไปและคงกล่าวโทษรถจักรยานหรือผู้ปกครองที่ทำให้ไม่สำเร็จแทน
นอกจากเรื่องขี่จักรยานแล้วเรายังสามารถเทียบเคียงกับเรื่องอื่นๆในชีวิตได้ เช่นในเรื่องการเรียนซึ่งไม่จำเป็นเสมอไปที่เด็กสติปัญญาดีจะมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่าเด็กที่ขวนขวายเรียนรู้อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ การรับรู้และมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองย่อมส่งผลดีต่อการกำหนดพฤติกรรมในการผลักดันตัวเองให้บรรลุเป้าหมายได้มากกว่าการรอคอยโอกาสโดยไม่ทำอะไรเพียงเพราะไม่คิดว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
แน่นอนว่าเมื่อพิจารณาในทั้ง 2 กลุ่มปัจจัย ความคาดหวังให้ลูกมีความโน้มเอียงไปทางความเชื่ออำนาจควบคุมตนเองสูงย่อมเป็นทางเลือกที่จะส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองจนสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้น แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปัจจัยควบคุมภายในตนเองนั้นไม่ได้คงที่และคงอยู่กับเด็กไปตลอด หากแต่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพและวิธีการเลี้ยงดู ปัจจัยสภาพแวดล้อมทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนประสบการณ์ในชีวิตที่เด็กแต่ละคนมีโอกาสได้สัมผัสและเรียนรู้
จึงนับเป็นหน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องเก็บรักษา ปลูกฝังและถ่ายทอดมุมมองความคิดที่จะทำให้เด็กยอมรับคุณค่าและมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองเพื่อให้มี LOC ที่สูงและติดตัวไปอย่างมั่นคง โดยให้ความสำคัญกับวิธีการเลี้ยงดูและการดูแลสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมได้ ดังนี้
1.ฝึกช่วยเหลือพึ่งพาตัวเอง – การฝึกให้ทำกิจวัตรประจำวันทั้งการอาบน้ำ แปรงฟัน ทานอาหารและเข้านอนด้วยตัวเองถือเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่จะทำให้เด็กเรียนรู้และสร้างความมั่นใจในการเริ่มต้นทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง และอาจมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบต่อตนเองในด้านอื่นๆเพิ่มเติมโดยพิจารณาให้เหมาะสมกับช่วงวัยเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับการดูแลจัดการชีวิตของตัวเองและลดความจำเป็นในการพึ่งพาคนอื่นลง
2.สร้างแรงจูงใจอยู่เสมอ – สิ่งสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นใจและตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองคือการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือได้โดยการสังเกตความสนใจและสนับสนุนการทำกิจกรรมที่ลูกชอบและส่งเสริมการท้าทายความสามารถของเด็กอยู่เสมอ ร่วมกันตั้งเป้าหมายในแต่ละระดับให้เหมาะสมกับความสามารถและกระตุ้นให้เด็กพยายามลงมือทำอย่างเต็มที่เพื่อได้รับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
3.สร้างเสริมประสบการณ์ – วิธีการสร้างการรับรู้ต่อตัวเองที่ได้ผลดีคือการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆโดยการสะท้อนมุมมองของผู้อื่นกลับมาที่ตัวเอง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มีส่วนสนับสนุนได้โดยการพาเด็กร่วมทำกิจกรรมเสริมพิเศษนอกชั้นเรียน กิจกรรมช่วยเหลือสังคม รวมถึงมีโอกาสเดินทางไปยังที่ต่างๆเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต มุมมองความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยเปิดมุมมองต่อทั้งตัวเองและสิ่งต่างๆที่กว้างมากขึ้นด้วย
4.จัดการสภาพแวดล้อม – สภาพแวดล้อมทั้งภายในบ้าน ชุมชนและสังคมโดยรวมนับว่าเป็น 1 ในหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อมุมมองและความคิดของเด็ก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือ การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อตนเองและผู้อื่นด้วยการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี หลีกเลี่ยงสภาพสังคมที่ไม่ส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ต้องพึ่งพาผู้อื่นหรือผูกติดอยู่กับความเชื่อเรื่องบาปบุญหรือโชคชะตามากจนเกินไป
5.ให้กำลังใจในทุกโอกาส – ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของคนที่มี LOC สูงคือ ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคในชีวิต คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้กำลังใจและสนับสนุนลูกๆในทุกโอกาส แสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเสมอทั้งในวันที่สำเร็จหรือผิดหวัง พร้อมทั้งแนะนำว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือการไม่โทษตัวเองและคนอื่น แต่ให้เรียนรู้ที่จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
การที่คุณพ่อคุณแม่เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนและชื่นชมเด็กๆในความพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จได้ด้วยตัวเองนั้น นอกจากจากสร้างมุมมองทางบวกที่มีต่อตัวเองแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เด็กมีความมั่นใจที่จะผลักดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จในชีวิตและเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าในสังคมต่อไป