xs
xsm
sm
md
lg

วินัยที่เด็กไทยต้องมี/ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำปรารภที่ว่าหากทุกคนมีวินัยก็จะทำให้สังคมน่าอยู่มากยิ่งขึ้น แต่ปัญหาคือวินัยที่ว่านี้จะต้องอาศัยเวลาในการปลูกฝังและบ่มเพาะในจิตใจอย่างต่อเนื่อง ความคาดหวังดังกล่าวจึงมักไปตกอยู่กับเด็กๆ ซึ่งจะต้องเติบโตขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคมที่ดีได้

ก่อนที่จะทำการปลูกฝังความมีวินัยให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้น สิ่งสำคัญลำดับแรกคือความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกันของคนในสังคมว่า แท้จริงแล้ววินัยที่กำลังพูดถึงกันอยู่นี้คืออะไรและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเด็กและความเป็นไปของสังคมโดยรวมได้อย่างไร โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดจะต้องให้คำแนะนำสั่งสอนและผลักดันให้เด็กมีพฤติกรรมไปในทิศทางที่เหมาะสมอยู่เสมอ

“ความมีวินัย” สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ

1.การมีวินัยในตนเอง แสดงถึงความสามารถในการบังคับควบคุมจิตใจตนเองให้มั่นคงต่อการประพฤติปฏิบัติตนไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น

2.การมีวินัยต่อข้อปฏิบัติที่กำหนด แสดงถึงความสามารถในการประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นไปตามข้อปฏิบัติหรือระเบียบแบบแผนที่ถูกกำหนดไว้ จึงมักใช้สัมพันธ์กับคำว่า ความมีระเบียบวินัย

โดยทั่วไปแล้วความมีวินัยของตัวบุคคลควบคุมได้ด้วยจิตใจที่ถูกปลูกฝังและฝึกฝนผ่านกระบวนการเรียนรู้ทั้งในชีวิตประจำวันและโดยการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งเป็นรากฐานในการส่งเสริมให้การประพฤติปฏิบัติตนภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำหนดเป็นไปอย่างราบรื่นและมั่นคง

นอกจากจะช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและทำให้สังคมโดยรวมเกิดความเรียบร้อยและน่าอยู่มากยิ่งขึ้นแล้ว ความมีวินัยยังเป็นคุณลักษณะสำคัญที่จะทำให้เด็กสามารถพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับคุณลักษณะที่คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้เด็กเกิดความมีวินัยนั้น ประกอบด้วย

1.รู้จักหน้าที่ การสอนให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตัวเองควรเริ่มจากเรื่องพื้นฐานที่จะทำให้เด็กสามารถฝึกฝนการช่วยเหลือตัวเอง ตั้งแต่การอาบน้ำ แต่งตัว ทานอาหารและเข้านอนตามเวลาได้โดยไม่จำเป็นต้องให้มีคนคอยบอก ไปจนถึงการทำหน้าที่ด้านการเรียนที่จะต้องตั้งใจเรียน ทำการบ้านและทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ

2.มีความรับผิดชอบ เป็นการปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจถึงผลของการกระทำที่จะเกิดกับตัวเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างลักษณะนิสัยในการรู้จักป้องกันปัญหา ยอมรับและพร้อมที่จะแก้ไขในสิ่งที่ทำผิดพลาด อาทิ ทำความสะอาดเมื่อทำห้องเรียนสกปรก หรือเก็บสิ่งของเข้าที่ให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

3.เคารพกติกาสังคม ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเห็นแก่ตัวและไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น การเล่นส่งเสียงดังในที่สาธารณะรบกวนเพื่อนบ้าน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้เด็กมีความเกรงใจและเห็นใจผู้อื่น รู้จักยอมรับและปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆอย่างเคร่งครัด โดยเริ่มต้นจากระเบียบง่ายๆและหน้าที่ความรับผิดชอบเล็กน้อยภายในบ้าน

4.รู้จักอดทนรอคอย การควบคุมอารมณ์และจิตใจของตนเองแล้วแสดงออกได้อย่างเหมาะสมนั้นนับเป็นหัวใจสำคัญของความมีวินัย แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กแต่คุณพ่อคุณแม่สามารถให้การฝึกฝนเรียนรู้ได้ด้วยการสื่อสารที่ชัดเจนผ่านการอธิบายด้วยคำพูดและการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ

5.รู้จักกาลเทศะ วินัยในตนเองไม่ได้หมายความถึงเฉพาะการทำตามระเบียบกฎเกณฑ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแสดงออกถึงความเคารพทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สามารถแยกแยะได้ว่าเวลาไหนควรทำ/ไม่ควรทำสิ่งใด กล่าวคำขอบคุณเมื่อได้รับประโยชน์หรือขอโทษเมื่อทำผิด รวมถึงการใช้คำพูดและแสดงออกอย่างสุภาพอ่อนน้อม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปลูกฝังความมีวินัยให้กับเด็กเป็นกระบวนการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทุ่มเทเวลาและให้ความดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง จึงต้องสามารถอดทนรอคอยและมีความเข้าอกเข้าใจในตัวเด็กที่มีพื้นฐานลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันออกไป วิธีการที่ใช้จึงควรมุ่งเน้นการเสริมแรงทางบวก การพูดคุยอธิบายด้วยเหตุผล ตลอดจนการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีเป็นสำคัญ จึงจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

สุดท้ายนี้ แม้ว่าความคาดหวังในการสร้างสังคมที่น่าอยู่จะถูกฝากไว้ในมือของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการคุณลักษณะของความมีวินัย แต่ตัวผู้ใหญ่เองซึ่งเป็นผู้ที่จะชักจูงเด็กๆให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบและความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปพร้อมกับเด็กๆ ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น