xs
xsm
sm
md
lg

แนะวิธีจัดการ “ด้วงกระเบื้อง” บุกบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์ แนะวิธีจัดการ “ด้วงกระเบื้อง” บุกบ้าน เผยใช้น้ำละลายผงซักฟอก รองใต้ดวงไฟนอกบ้านเพื่อดักแมลง หรือฉีดพ่นสารเคมีแหล่งเกาะพัก แหล่งเพาะพันธุ์นอกบ้าน เผยแมลงนี้ไม่มีพาหะนำโรคสู่คน แต่มีสารอาจก่อให้เกิดผื่นแดง แพ้ ปวดศีรษะได้

วันนี้ (3 ก.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนมักจะพบเห็นข่าวแมลงนับแสนตัว บุกเข้าไปอยู่ในบ้านเรือนของประชาชน และสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของบ้านอยู่เสมอ แมลงเหล่านั้น คือ “ด้วงกระเบื้อง” จัดอยู่ในกลุ่มแมลงปีกแข็ง มีขนาดลำตัวยาว 6-8 มม. เป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลก แต่จะพบมากในเขตร้อน รวมทั้งในประเทศไทย ด้วงชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลฟิโทเบียส ดิอะเพอรินัส (Alphitobius diaperinus) บินได้ไกลพอสมควร ชอบบินมาเล่นไฟในเวลากลางคืน กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งเมล็ดพืช ผลิตภัณฑ์จากพืชที่ชื้นหรือขึ้นรา รวมทั้งวัตถุที่เน่าเปื่อย สามารถพบแมลงชนิดนี้เข้ามาอยู่ในที่อยู่อาศัยของคนได้โดยเฉพาะบริเวณบ้านหรือรอบๆ บ้านที่มีกองปุ๋ย มูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก เศษไม้ผุพัง เป็นป่า หรือมีเล้าเป็ดเล้าไก่

นพ.โอภาส กล่าวว่า แมลงชนิดนี้ไม่มีรายงานว่า เป็นพาหะนำโรคมาสู่คน อย่างไรก็ตาม แมลงชนิดนี้สามารถปล่อยสารจำพวก เบนโซควิโนน (Benzoquinones) ออกมาเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรู และเมื่อมีเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะทำให้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้ โดยทำให้เกิดผื่นแดง รวมทั้งทำให้เกิดอาการแพ้ ปวดศีรษะ จมูกอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ ถ้าแมลงมาสัมผัสตัวมนุษย์ นอกจากทำให้เกิดความรำคาญ ตามลำตัวและขาของแมลง ซึ่งมีหนามแหลมอาจขีดข่วนตามผิวหนัง ผู้ที่แพ้ ก็จะมีอาการคัน บวมแดงหรือเป็นผื่นแพ้ได้ หากถูกแมลงขีดข่วนให้รีบล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ ถ้ามีอาการคัน พยายามอย่าเกา ให้ทาด้วยยาคาลาไมน์ หรือถ้ามีการอักเสบให้ทาด้วยยาปฏิชีวนะประเภทครีม

“การกำจัดด้วงกระเบื้องทำได้โดยเตรียมน้ำละลายผงซักฟอกใส่ภาชนะนำไปวางไว้ใต้ดวงไฟนอกบ้าน เพื่อดักแมลงที่มาเล่นไฟให้จมน้ำตาย รวมทั้งสามารถฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงตามบริเวณแหล่งเกาะพัก แหล่งเพาะพันธุ์นอกบ้าน เช่น บริเวณโพรงไม้ผุใต้กองไม้ชื้น หรือกองซากพืชทับถม รวมทั้งบริเวณกองมูลสัตว์หรือปุ๋ย โดยสารเคมีที่ใช้เป็นสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ เช่น ไซฟลูทริน, เดลตามิทริน, ไซเพอร์เมทริน เป็นต้น เมื่อสารถูกตัวด้วงกระเบื้อง จะทำให้แมลงตายได้ รวมทั้งจะมีฤทธิ์ตกค้างบริเวณที่ฉีดพ่น ประมาณ 3-6 เดือน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจะทำให้ด้วงจะไม่มาเกาะอีก” นพ.โอภาส กล่าวและว่า การใช้สารเคมีควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เมื่อพ่นสารใหม่ๆ ไม่ควรให้คนหรือสัตว์เข้าในพื้นที่จนกว่าสารจะแห้งดี และสามารถพ่นซ้ำได้อีก ทั้งนี้ หากต้องการพ่นตามผนังอาคารบ้านเรือน เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมาเกาะ ควรเลือกใช้สารไซฟลูทริน แบบสูตรผงละลายน้ำหรือสูตรดับเบิลยูพี (WP) สารเคมีจะเกาะที่ฝาผนังได้ดี มีผลป้องกันได้ 6 เดือน




กำลังโหลดความคิดเห็น